Garden Kitchen & Home

สวน T.LekNarroad Cactus ปลูกแคคตัสให้เหมือนดูแลเด็ก


สวน T.LekNarroad Cactus ปลูกแคคตัสให้เหมือนดูแลเด็ก

“แคคตัส” หรือกระบองเพชร พืชที่มีเสน่ห์ในแบบตัวเองจนทำให้หลายคนตกหลุมรักและกลายเป็นนักสะสมไปในที่สุด เช่นเดียวกับครูเล็ก-ศิรยา บุญแสง ครูสอนศิลปะที่ยามว่างจากการจรดแปรงวาดภาพก็แบ่งเวลามาเลี้ยงแคคตัส จากงานอดิเรกกลายเป็นเจ้าของสวนแคคตัสและเพจ T.LekNarroad Cactus ที่ทำร่วมกับสามี น้าโรจน์-ไพโรจน์ กาวิใจ

จุดเริ่มต้นของคนเลี้ยงแคคตัส

เป็นครูสอนศิลปะที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น มือร้อนปลูกอะไรก็ตาย จริงๆ อาจเป็นเพราะเราไม่ใส่ใจมากกว่า พอมาเจอน้องสาวของแฟนเขาซื้อแคคตัสมาปลูกจึงลองปลูกและใส่ใจมัน ปรากฏว่าโตและรอดจนขยายพันธุ์ได้ จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสายพันธุ์ต่างๆ เริ่มแรกเราเลี้ยงพันธุ์ที่ปลูกง่ายๆ ก่อน จะได้มีกำลังใจ จากนั้นก็ไปเสาะหาพันธุ์ที่แปลกๆ หลากหลายขึ้น โดยช่วงแรกเราไปเดินที่ตลาดสวนจตุจักรเพราะเป็นแหล่งใหญ่ที่สุด ประกอบกับแฟนมีเพื่อนปลูกแคคตัสอยู่แล้ว รวมทั้งเพื่อนเราซึ่งอยู่ในวงการนี้ได้มาช่วยแบ่งปันให้ความรู้กันเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้ว

เปลี่ยนพื้นที่ข้างบ้านเป็นโรงเรือนแคคตัส

แคคตัสเป็นพืชที่ต้องการโรงเรือน เพราะถ้าโดนฝนเยอะก็จะตาย โดนแดดมากไปก็จะไม่สวย จึงเกิดไอเดียทำโรงเรือนโดยเริ่มจากทำเป็นโรงเรือนไม้ไผ่ แล้วค่อยๆ ปรับมาเรื่อยๆ ปัจจุบันเรามีทั้งหมด 2 โรงเรือน คือ โรงเรือนไม้กราฟต์ (Grafting) และโรงเรือนสำหรับเพาะเมล็ดและไม้ชำหน่อ ประโยชน์ของการสร้างโรงเรือนคือเพื่อปกป้องแคคตัสจากสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น แสงแดด และฝนที่มากเกินความต้องการ

โดยก่อนทำโรงเรือนเราต้องศึกษาหาข้อมูลว่าต้องใช้วัสดุอะไร พลาสติกแบบไหน แต่กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้เราทำตามงบประมาณเราก่อน ความยากของการเลี้ยงแคคตัสคือการคุมน้ำ คุมแสง และดูเรื่องโรคของพืช เพลี้ย รา เราก็เจอปัญหามาตลอด แต่สุดท้ายทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนคนเจ็บป่วยก็ต้องดูแลรักษา ต้นไม้ป่วยก็ต้องดูแล

การมีโรงเรือนทำให้ดูแลง่ายขึ้น รดน้ำอาทิตย์ละครั้ง ให้ปุ๋ยเดือนละ 2 ครั้ง มียารักษาโรคเพลี้ย กันรา อย่างหน้าฝนอากาศชื้นจะมีเพลี้ย มีราซึ่งจะทำให้ต้นไม้เสียเยอะมาก เราก็ต้องดูแล ต้องศึกษาเรียนรู้จากหนังสือ ยูทูบ จากคนที่มีความรู้เรื่องแคคตัสที่เขาทำมาก่อนเราควบคู่กันไป

มีความสุขกับการเลี้ยงแคคตัส

เราเริ่มปลูกตั้งแต่สายพันธุ์ที่ดูแลรักษาง่ายไปจนถึงดูแลยาก สำหรับมือใหม่ก็ต้องเริ่มปลูกกลุ่มที่ดูแลง่ายก่อน แต่ถ้าเลี้ยงไปนานๆ จะรู้ว่าแต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์ต้องการการดูแลที่ต่างกัน อย่างแมมมิลลาเรีย(Mammillaria) เป็นไม้ที่ชอบแดดมาก ตอนแรกที่เราเลี้ยงเราไม่รู้ เขาไม่ได้แดดก็เน่าตาย พอเราเริ่มศึกษารู้ว่าแต่ละชนิดเป็นอย่างไร เราก็สามารถเลี้ยงเขาออกมาให้สวยได้

อย่างที่เลี้ยงเยอะๆ ก็จะเป็นแคคตัสยิมโนคาไลเซียม (Gymnocalycium) เป็นไม้ที่เราเพาะเมล็ดขึ้นมาเอง ซึ่งจะมีสีสันต่างๆ เป็นไม้ด่างที่คัดมาจากร้อยๆ หมื่นๆ ต้น เรื่องสีสันเราเลือกต้นที่คิดไว้ว่าถ้าสีนี้ผสมกับสีนี้ก็น่าจะได้เมล็ดพันธุ์ออกมาเป็นแบบนี้ แต่จะได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องธรรมชาติของพืช เรียกว่าเป็นไม้ลุ้น

หรือแมมมิลลาเรียเราก็ขยายพันธุ์โดยการกราฟต์เพื่อที่จะเอาหน่อมัน เมื่อได้หน่อมาเราจึงนำไปชำ ขยายพันธุ์ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม้กราฟต์จะโตเร็วแต่อายุสั้น โดยตอกราฟต์จะมีอายุ 3 ปี และไม้กราฟต์อีกชนิดหนึ่งคือ ยิมโนคาไลเซียม คริสตาต้า (Gymnocalycium Cristata) ที่มีลักษณะต้นแปลกตา มีเอกลักษณ์พิเศษ ซึ่งมือกราฟต์ก็คือน้าโรจน์

สำหรับเสน่ห์ของไม้กราฟต์ทำให้เราได้เห็นหน้าไม้ เห็นฟอร์ม เห็นการเติบโตที่รวดเร็ว แต่ถ้าจริงๆ ครูเล็กจะชอบไม้ชำหน่อ เช่น ศิลามณี เสือเหลือง มาเบิ้ล ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะที่มีความสวยงามในแบบของมัน ส่วนไม้ชำหน่อและเพาะเมล็ด เราก็จะเลี้ยงพวกยิมโนคาไลเซียม เป็นยิมโนด่าง ยิมโนเขียว และโคลนที่สวนเราชอบที่สุดคือยิมโนแบล็ก เพิร์ล มาจากสวนเพชรแต้มสี จังหวัดระยอง

โดยเสน่ห์ของแคคตัสแต่ละต้น แต่ละโคลนจะมีความเป็นเอกลักษณ์และมีความยูนีคของเขา มีการเปลี่ยนแปลงให้เราได้ลุ้น อย่างตอนเล็กๆ ก็จะเขียว โตมาก็ค่อยๆ ด่างขึ้น หรือบางต้นมีพูแทรกขึ้นมา เราได้ลุ้น สนุกกับการได้เลี้ยงได้ดูเขา และเป็นการฝึกสมาธิ เวลาเครียดๆ พอมาปลูกแคคตัสก็จะลืมทุกอย่างหายเครียดไปเลย เรียกว่าต้องปรับตัวเราให้เหมาะกับต้นไม้แต่ละชนิด เหมือนกับเราสอนเด็กๆ ก็ต้องปรับเหมือนกัน ทำให้เรารู้จักการดูแลเอาใจใส่ในสิ่งที่ทำ ในสิ่งที่รัก และจากการที่ได้ลงมือทำจริงๆ ก็หลงเสน่ห์แคคตัสไปแล้ว ยิ่งถ้าได้นำมาวาดรูปได้ด้วยก็ยิ่งมีความสุข

สวน T.LekNarroad Cactus 

ที่มาของชื่อสวนแคคตัสมาจากครูเล็กและน้าโรจน์ จึงเป็นที่มาของชื่อ T.LekNarroad Cactus ซึ่งจุดเด่นของสวนเราคืออยู่ใจกลางเมือง คนจะนึกไม่ถึงว่ามีสวนแคคตัสอยู่ที่นี่ด้วย เพราะเราทำกันแค่ 2 คน เรียนรู้และทำมาด้วยกัน ช่วยให้กำลังใจกัน ซึ่งเราก็มีเป้าหมายว่าปีนี้จะทำให้ได้ 100 ถาด

https://www.facebook.com/T.LekNarroad/


You Might Also Like...