จากจุดเริ่มต้นที่ได้เห็นปัญหาในการทำเกษตรของพ่อแม่ ทำให้คุณอรรถพล ไชยจักร เกิดคำถามว่าเราสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้ไหมนะ ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่นั้นจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง จึงเริ่มศึกษาหาข้อมูล ทดลองและลงมือทำ ก่อนจะวางแผนไปทีละสเตป ทีละขั้นตอน จนเกิดเป็น Farm Behind the Barn
เริ่มต้นจากมองเห็นปัญหา
ย้อนกลับไปประมาณ 8-9 ปีที่แล้วผมทำงานประจำเป็นวิศวกรอยู่ที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นพ่อแม่ก็เริ่มอายุมากขึ้น เลยคิดว่าถ้ามีอะไรที่สามารถกลับมาทำที่บ้านหรือพัฒนาต่อได้ก็น่าจะดี ในช่วงแรกผมย้ายมาทำงานเป็น Sales Engineer ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านที่บุรีรัมย์มากนัก พอได้กลับบ้านมากขึ้นทำให้เห็นปัญหาต่างๆ ในการทำเกษตรของพ่อแม่ ที่บ้านเราจะทำเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย ปลูกข้าวครั้งหนึ่งจำนวนเยอะๆ โดยใช้สารเคมี ซึ่งคนต่างจังหวัดนิยมทำแบบนี้ค่อนข้างเยอะ
นอกจากนี้จะมีปัญหาเรื่องราคาที่ควบคุมไม่ได้ ไม่ว่าจะปลูกมัน ปลูกอ้อย หรืออะไรก็แล้วแต่สุดท้ายเวลานำไปขายเราก็ไม่สามารถเป็นคนกำหนดราคาเองได้ บางทีก็คิดว่าทำไมเราทำเกษตรแต่ไม่มีอาหารดีๆ กิน ไม่มีสภาพแวดล้อมดีๆ อยู่ พอเราทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่เน้นความเป็นอุตสาหกรรมทำให้เราต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกค่อนข้างสูง ผมจึงเริ่มศึกษาการทำเกษตรว่าจริงๆ แล้วสามารถทำรูปแบบอื่นได้ไหม บวกกับเรามีที่ดินอยู่แล้วจึงเริ่มทดลองทำ ทดลองปลูกแบบเกษตรอินทรีย์
แก้ไปทีละขั้น ทำไปทีละสเตป
ระหว่างที่เริ่มลงมือทำผมก็ยังทำงานประจำไปด้วย ตอนนั้นที่บ้านสนใจการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง ผมเลยขอแบ่งมาประมาณ 1 ใน 10 ส่วน เพื่อทดลองปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี เมื่อเทียบกันแล้วผลผลิตที่ได้อาจจะน้อยกว่าประมาณ 20% แต่เราแลกกับการได้หน่อไม้ฝรั่งที่สะอาดกว่า ปลอดภัยกว่าก็ถือว่าคุ้มค่า ทั้งยังขายได้ราคาดีกว่า แต่พอเราปลูกไปเรื่อยๆ ก็ยังเป็นการปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพียงอย่างเดียว ยังเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวอยู่ สิ่งที่เจอคือทำให้เกิดโรคสะสมของหน่อไม้ฝรั่ง เพราะระบบนิเวศยังไม่ดีพอ ยังไม่มีความหลากหลาย จากนั้นผมก็ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าต้องทำอย่างไรต่อ เหมือนยังมีอีกหลาย Pain Point ให้เราเรียนรู้และแก้ไขไปเรื่อยๆ
เมื่อเรารู้แล้วว่าทุกอย่างนั้นต้องเริ่มต้นจากการมีระบบนิเวศที่ดี จึงทดลองทำเกษตรแบบเน้นความหลากหลาย ปลูกพืชทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยเราจะปลูกมัลเบอร์รีเป็นหลัก รวมถึงขุดบ่อเลี้ยงปลา มีขยะก็กำจัดได้เอง เลี้ยงไส้เดือนไว้ทำปุ๋ย ทำน้ำหมักไว้ใช้เอง เริ่มพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยลง และพยายามมองว่ามีอะไรอยู่ใกล้ตัวบ้าง อย่างเราอยู่ใกล้กับสหกรณ์โคนม เขาจะมีมูลวัวค่อนข้างเยอะ เราก็ไปซื้อมาไว้ทำปุ๋ยเอง ราคาถูกและไม่ต้องเสียค่าโลจิสติกส์
Farm Behind the Barn
พอเราเริ่มทำจริงจังมากขึ้นก็เริ่มมองว่าควรแบ่งส่วนมาขายเอง เพื่อให้ได้ราคาที่ดีกว่าการนำไปขายรวมกับตลาดทั่วไป จึงคิดว่าต้องมีชื่อและทำแบรนด์เป็นของตัวเอง พอดีกับที่ดินในส่วนที่ผมแบ่งมาทำนั้นอยู่บริเวณหลังฉางจึงกลายมาเป็นไร่หลังฉาง หรือ Farm Behind the Barn ขึ้นมา ซึ่งระหว่างนั้นเรายังทำงานประจำไปด้วยจึงไม่ค่อยมีเวลา ก่อนตัดสินใจลาออกผมก็เริ่มวางแผนการทำระบบต่างๆ ในฟาร์มเพื่อลดการใช้แรงงานให้ได้มากที่สุด โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย บางโซนเราติดตั้งสปริงเกอร์กับไทม์เมอร์ไว้ มีระบบควบคุมในโซนเพาะต้นกล้า ติดตั้งโซลาร์เซลล์สำหรับช่วยปั๊มน้ำไว้ที่บ่อพักก่อนนำมาใช้ แต่เราเองไม่ใช่ว่าขาดการดูแลไปเลยนะครับ ต้องหมั่นคอยดูว่าความชื้นเหมาะกับฤดูกาลนี้หรือเปล่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยให้งานเสถียร ประหยัดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและแรงงาน สะดวกสบาย ทั้งยังทำให้เรามีเวลาไปทำอย่างอื่นได้มากขึ้น
ฟาร์มของเรามีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ เป็นขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับฟาร์มอื่นๆ แต่เราค่อยเป็นค่อยไป ทำทีละเล็กละน้อย พื้นที่ประมาณ 3 ไร่จะถูกแบ่งไว้ปลูกป่า ส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้น ที่เหลืออีก 3 ไร่จะมีบ้านของผม 1 หลัง และบ้านไว้สำหรับรองรับเพื่อนๆ แขก หรือคนที่สนใจมาเรียนรู้การทำเกษตรอีก 1 หลัง มีส่วนในร่มสำหรับเลี้ยงและผลิตมูลไส้เดือน บ่อน้ำ ปลูกมัลเบอร์รี มะม่วง ฝรั่ง และแปลงผักปลูกผลผลิตระยะสั้นๆ ประมาณ 2-3 งาน เน้นปลูกไว้กินเองเป็นหลัก แบ่งขายบ้างเล็กน้อย
ปลายทางที่เรามองคือนอกจากการทำเกษตรแล้ว ตัวเราเอง อากาศ ผลผลิต ของกินของใช้ที่เราทำ ทุกๆ อย่างทั้งหมดนี้คือองค์รวม ผมจึงคิดว่าถ้าอย่างนั้นเรามาสร้างนิเวศน์ที่เราอยากอยู่ สภาพแวดล้อมแบบนี้ ปลูกป่า เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา ไม่ใช้สารเคมี มีปุ๋ยไว้ใช้เอง มีผักผลไม้ปลอดสารไว้กินกันในครอบครัว พอระบบนิเวศดีแล้วทุกอย่างก็จะดีตามไปด้วย
Made in Farm
พอเราปลูกพืชระยะยาวอย่างมะม่วง ฝรั่ง มัลเบอร์รี บางช่วงที่ผลิตค่อนข้างเยอะ ขายไม่ทัน เราก็จะนำมาแปรรูปเป็นโปรดักต์ต่างๆ เช่น แยมมัลเบอร์รี น้ำมัลเบอร์รี นอกจากนี้คือเวลาเราทำเกษตร ทำฟาร์มไปนานๆ แน่นอนต้องมีความเหนื่อยล้า เลยใช้เวลาว่างไปทำงานอดิเรกอื่นๆ ช่วงหนึ่งผมชอบทำงานคราฟต์ ย้อมผ้าจากมะเกลือ ทำสบู่ใช้เองจากน้ำมันมะพร้าว ทำงานไม้เล็กๆ น้อยๆ จนเกิดเป็นโปรดักต์ต่างๆ ขึ้น เลยคิดต่อยอดว่าถ้าอย่างนั้นทำเป็นแบรนด์ Made in Farm ขึ้นมาแล้วกันเพื่อขายงานคราฟต์ งานแฮนด์เมดที่เราทำ และไม่ให้ลูกค้าเกิดความสับสนกับส่วนที่เป็นผลผลิตของ Farm Behind the Barn
ผมคิดว่าในหนึ่งวันควรมีงาน 3 ประเภท อย่างแรกคืองานที่ใช้แรง ทำฟาร์ม ให้ร่างกายได้ออกกำลัง อย่างที่สองคืองานที่ใช้สมอง เช่น คิดว่าเราจะทำแบรนด์อย่างไร ต้องต่อยอดหรือทำให้แบรนด์โตอย่างไร สุดท้ายคืองานที่มีความสุนทรียภาพ ได้ผ่อนคลาย ฟังเพลง แกะไม้ ถ้าในหนึ่งวันเราได้ทำงานทั้ง 3 ประเภทก็น่าจะเป็นวันที่ดีได้ เพราะช่วงหนึ่งเราทำงานเกษตรหนักมากจนล้าไปทั้งตัว รู้สึกว่าไม่น่าจะใช่กับชีวิตเราเท่าไร จึงเริ่มหันมาทำงานคราฟต์ด้วย
ส่วนตอนนี้ในฟาร์มจะมีส่วนที่เป็นคาเฟ่ด้วย เริ่มจากผมชอบทำกาแฟดื่มเองอยู่แล้ว บวกกับคิดว่าถ้ามีส่วนที่ไว้โชว์โปรดักต์ของเราเองด้วยน่าจะดี เพราะปกติจะไปฝากขายตามร้านต่างๆ เพื่อให้เวลามีคนมาที่หน้าฟาร์มเราเขาจะได้เห็นด้วยว่าเรามีโปรดักต์อะไรบ้าง เหมือนเป็นหน้าร้านให้คนได้แวะมาซื้อของ พูดคุยกัน คิดว่าไม่มีอะไรเสียหายเลยลองทำดู อย่างไรก็เป็นสิ่งที่เราทำเรามีอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังเปิดแบบ Soft Opening อยู่ มีเครื่องดื่มกับขนมเล็กน้อย สำหรับใครที่สนใจมาชิมแนะนำให้โทรมาสอบถามล่วงหน้าก่อนครับ
หรือถ้าใครสนใจจะมาเรียนรู้การทำเกษตร ทำฟาร์มกับคุณอรรถพลก็มีคอร์สแบบ 3 วัน 2 คืนด้วยนะ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Farm Behind the Barn