Maryam Pousti เป็นสถาปนิกและนักออกแบบสาวชาวอิหร่าน สำนักงานออกแบบของเธอคือ Studio Pousti ก่อตั้งที่ Tehran ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา Pousti แสดงออกถึงอัตลักษณ์ของผลงานผ่านการนำเสนอรูปด้านที่แฝงความสวยงาม เรียบง่ายและเข้าใจได้ว่ารูปร่างนั้นทำงานอย่างไรเมื่อมันถูกพัฒนาต่อไปอยู่ในงานออกแบบของเธอทั้งตัวสถาปัตยกรรมและเครื่องเรือน เช่นที่ปรากฏอยู่ใน Cheft Bookself

โดยเธอได้แรงบันดาลใจมาจากการมองเห็นโครงสร้างของโดมจากภายในของสถาปัตยกรรมแบบเปอร์เซีย ที่เน้นให้เห็นเส้นซึ่งบอกถึงหน้าที่ทางโครงสร้างทั้งในส่วนของวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม กับเส้นที่ทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบศิลป์ Pousti จดจำและพัฒนาภาพที่พบเห็นนั้นเป็นภาพสามมิติ และมองหาความสัมพันธ์ระหว่างอัตลักษณ์ของเส้นที่พบและการสร้างประโยชน์ใช้สอยให้เกิดขึ้น จนได้รูปทรงที่เปลี่ยนนิยามการไขว้สานกันของกลุ่มเส้นทแยงจำนวนหนึ่งโหลนี้เป็นชั้นวางหนังสือที่ได้รับรางวัล Kyoto Global Design Awards 2024


Cheft มีส่วนประกอบที่เป็นลักษณะเฉพาะจำนวน 6 แบบ ด้วยมาตรฐานการผลิตอย่างอิตาเลียนโดย Universal E C. S.r.l. ทำให้ร่องบากเข้าไม้ที่ตัดขาดมีความแม่นยำ เมื่อต่อประกอบทุกชิ้นส่วนขึ้นมาจากชิ้นที่ทำองศากับพื้นน้อยที่สุดก่อนไล่ระดับองศาขึ้นมาจนเกิดเป็นชั้นวางหนังสือนี้ มั่นคงและไม่โยกคลอน ทั้งยังคงสามารถประกอบได้ด้วยแรงงานเพียง 1 คน โดยชื่อ Cheft นั้นเป็นคำสแลง (Slang) ท้องถิ่นของคนอังกฤษที่เป็นคำเลียนเสียงให้ความรู้สึกว่า “ทำได้รวดเร็ว”

จุดเด่นของชั้นวางหนังสือขนาดกว้าง 1.97 เมตร สูง 1.95 เมตร หนา 0.28 เมตรนี้คือการถอดประกอบได้ จึงเป็นเครื่องเรือนขนาดใหญ่แต่อยู่ในวิสัยที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดย Pousti เลือกใช้วัสดุไม้ประสาน MDF ทำสีพ่นอุตสาหกรรมและไม้เนื้อแข็ง เช่น วอลนัต เป็นตัวเลือกให้แก่ผู้ใช้ ภาพรวมจึงอยู่ในจริตของความงามอย่างเครื่องเรือนที่ผลิตจากไม้ในรูปแบบโมเดิร์น
ภาพ : Atronoush Bahashang, Mahsa Noori