Design Kitchen & Home

ม้านั่งกลางแจ้งที่กำหนดรูปทรงด้วยการใช้สอย แต่เคารพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


โครงการออกแบบเครื่องมือเพื่อช่วยสังเกตจุดที่เกิดเหตุไฟป่า เป็นผลงานการออกแบบและงานวิจัยของ Richard Alexandre, Karina Gunadi, Blake Goodwyn และ Tanghao Yu นักเรียนสาขา Innovation Design Engineering จาก Royal College of Art และ Imperial College London ภายใต้โจทย์ว่า การตรวจจับไฟป่าโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า การวางระบบและการดูแลรักษาที่มีมูลค่าสูง สามารถทำได้โดยวิธีใดบ้าง และสิ่งที่พวกเขาค้นพบคือ อัตลักษณ์ทางชีวภาพของต้นสน

“มนุษย์ไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก แต่ต้องมีชีวิตอยู่ในเงื่อนไขร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น” เป็นคติในการทำงานออกแบบของ Studio Part ที่ก่อตั้งโดย Julie Van Mulders มัณฑนากรมากประสบการณ์ และ Lennart Van Uffelen ศิลปินและนักออกแบบผู้ประสบความสำเร็จมาจาก Functionality Kills The Fun ผลงานศิลปะร่วมสมัยที่ตีความเครื่องเรือนใหม่ด้วยแนวคิดที่แตกต่างออกไป เช่น ความไม่สมบูรณ์ของรูปทรง หรือประโยชน์ใช้สอยที่เป็นกรอบของรูปทรง

Studio Part นำเสนอ Tenir ม้านั่งสำหรับใช้กลางแจ้งที่กำหนดรูปทรงด้วยการใช้สอย แต่ผลิตโดยความเคารพกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยต้องใช้เวลาในการรอคอยมากกว่า 3 ปี กว่าที่ Tenir จะสามารถใช้งานได้จริง

กระบวนการในการผลิต Tenir เริ่มจากการเพาะหวายตัดเส้น (Willow Wiggle เป็นหวายที่มีความใกล้เคียงกับหวายสายน้ำผึ้งและหวายข้อดำ ซึ่งเป็นที่รู้จักและใช้ในการจักสานเครื่องเรือนในประเทศไทย) จนมีอายุต้นได้ปีเศษมาปลูกลงบนพื้นที่ที่ต้องการ โดย Tenir ทำหน้าที่เป็นแม่พิมพ์อะลูมิเนียมที่ประกอบขึ้นด้วย 2 ชิ้นส่วน ได้แก่ ส่วนโครงสร้าง เป็นท่ออะลูมิเนียมเจาะรูดัดเชื่อมขึ้นรูป เมื่อพิจารณาจากรูปด้านข้าง Tenir ไม่แตกต่างจากม้านั่งยาวโดยทั่วไปมากนัก แต่รูปด้านหน้าที่เส้นนอนของโครงสร้างจะมีความถี่ในช่วงด้านหน้าโดยส่วนโค้งแรกเพื่อดัดให้ต้นหวายทำหน้าที่เป็นขาคู่หน้าที่จะเป็นการดัดเอียงเกือบ 90 องศา การดัดลำต้นในมุมขนาดนี้ต้องให้เวลาและการเจริญเติบโตจึงจะได้ชิ้นส่วนที่แข็งแรง ซึ่งจะแตกต่างจากส่วนของพนักพิงด้านหลังที่มีเส้นนอนบังคับห่างกว่า

อีกชิ้นส่วนที่สำคัญคือแผ่นอะลูมิเนียมดัดซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนหน้ากากป้องกันให้ลำต้นไม่บอบช้ำก่อนที่ต้นจะโตได้ขนาด และควบคุมการรับแสง เป็นผลให้กิ่งและยอดจากตาข้างของลำต้นเกิดและโตได้ยาก ในขณะเดียวกันก็บังคับให้ยอดบนของลำต้นเติบโตออกไปด้านหลัง เพื่อใช้เป็นพนักพิง

ความแข็งแรงของ Tenir ถูกกำหนดด้วยความถี่ของการปลูกต้นพันธุ์หวายตัดเส้นหลุมละ 2 ต้น โดยดัดให้อีกต้นสานและสอดเข้าท่อโครงสร้าง เมื่อต้นหวายมีอายุมากขึ้น ขนาดของลำต้นและการสานสอดเข้าโครงสร้างจะเพิ่มความแข็งแรง

ซึ่งในขณะที่ต้นกำลังเจริญเติบโตนี้ ส่วนของหน้ากากป้องกันก็จะถูกใช้เพื่อให้ Tenir สามารถใช้งานได้ นี่คือม้านั่งในพื้นที่สีเขียวที่ไม่เน้นการแปรรูป แต่เน้นการผลิตวัตถุดิบ แม้จะต้องใช้เวลา แต่การปรากฏขึ้นและการใช้งานได้จริงของ Tenir จะส่งผ่านความเข้าใจด้านความยั่งยืนไปสู่ผู้คนที่พบเห็นได้

ภาพ : Amber Van Bossel


You Might Also Like...