Design Kitchen & Home

Space 37 House ฟังก์ชันพอดีกับของสะสมเยียวยาใจ


Space 37 House ฟังก์ชันพอดีกับของสะสมเยียวยาใจ

บ้านหลังนี้โดดเด่นด้วยโครงสร้างภายนอก ลักษณะเหมือนกล่องสองใบวางเรียงต่อกัน จึงไม่แปลกหากเพื่อนบ้านจะมองว่าที่นี่มีบ้านสองหลัง แต่แท้จริงแล้วมันคือลูกเล่นที่สถาปนิกใส่เข้าไป เนื่องจากที่ดินมีหน้ากว้าง จึงออกแบบตัวบ้านเต็มพื้นที่ ภายใต้โจทย์ที่เจ้าของบ้านต้องการเน้นความสงบ เป็นส่วนตัว และมีฟังก์ชันใช้งานที่จำเป็นเท่านั้น

บ้านขนาด 120 ตารางวา มีพื้นที่ใช้สอย 300 ตารางเมตร มีสวนรายล้อมอยู่รอบบ้าน แต่เชื่อมโยงความเป็นธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายในด้วยกระจก ส่วนพื้นที่ใช้งานถูกแบ่งให้แต่ละโซนมีความต่อเนื่องกัน ชั้นล่างประกอบไปด้วยครัวแพนทรี โต๊ะรับประทานอาหาร ห้องดูทีวี ห้องนอนแขก ห้องน้ำ

พื้นที่ใช้สอยถูกออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้าน

คุณไอติมคุยกับสถาปนิกว่าอยากได้รูปแบบฟังก์ชันคล้ายๆ กับคอนโดมิเนียม “ก่อนหน้านี้เราอยู่คอนโดมาเกือบสิบปี ตรงนี้เป็นที่ดินของฝ้าย ซึ่งขนาดพื้นที่ค่อนข้างเยอะเราเลยคุยเรื่องการออกแบบกันว่าอยากให้พื้นที่ใช้สอยในแต่ละส่วนมองเห็นได้ทั่ว เพราะหลักๆ เราอยู่กันแค่สองคน ฉะนั้นไม่อยากได้ห้องเยอะ มีห้องนอน 2 ห้อง ชั้นล่างเป็นห้องนอนแขก ส่วนชั้นบนเป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับเรา ซึ่งรูปแบบแปลนของชั้นบนจะเหมือนกับชั้นล่างแตกต่างตามรูปแบบการใช้งาน โดยเราออกแบบให้มีห้องนอน ห้องน้ำ มีห้อง Laundry ที่สามารถซักและตากผ้าข้างบนจบในตัว ไม่ต้องยกผ้าลงมาซักข้างล่าง ซึ่งโซนนี้ออกแบบให้เป็นหลังคาใสเฉพาะ ตากผ้าก็โดนแดด เจอฝนก็ไม่ต้องรีบเก็บ”

เน้นฟังก์ชันใช้งานให้ดีไซน์เป็นเรื่องรอง

โจทย์ในการสร้างบ้านพวกเขาโอเพ่นให้สถาปนิกออกแบบได้เต็มที่ แล้วจึงมาปรับและลดทอนกันทีหลัง “ช่วงนั้นสไตล์ลอฟต์ได้รับความนิยมก็ถูกนำมาออกแบบกับบ้านหลังนี้ แต่ไม่ได้เป็นลอฟต์แบบดิบมากๆ เป็นสไตล์โมเดิร์นลอฟต์มากกว่า ตอนแรกเขาออกแบบมาค่อนข้างหรูหรา มีคอร์ตกลางบ้าน แต่เราดูแล้วว่าไม่ได้ใช้งานแน่ๆ ก็มีการปรับแก้แบบตามที่ต้องการ มีเปิดช่องแสงด้วยกระจกบานใหญ่เพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าสู่ภายในบ้าน แต่เราปรับเป็นปิดทึบเพราะหลังบ้านไม่ได้มีวิวอะไร เลยเหลือแค่ช่องแสงตรงผนังด้านล่างในส่วนโต๊ะรับประทานอาหารเพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน

ไอเดียแต่งบ้านมาจากความชอบล้วนๆ

เราเป็นคนชอบเที่ยว ชอบนอนโรงแรม ไปคาเฟ่ ก็จะได้ไอเดียมาจากสถานที่เหล่านั้น ชอบผนังอิฐ เรานำรูปแบบต่างๆ มาบอกรายละเอียดกับสถาปนิก ตั้งแต่ เบสสีเทาที่นำมาคุมโทน ไฟต้องวอร์ม แล้วเราชอบสีเหลืองและสีน้ำเงินก็นำมาใส่ในห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ รวมถึงชั้นบนเพื่อให้ความรู้สึกมันเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน ภายใต้เบสสีเทา”

ของสะสมนำพาความทรงจำกลับมา

คุณไอติมอธิบายถึงพื้นที่ใช้สอยบริเวณชั้นล่างรวมถึงของสะสมซึ่งมีทั้งของชิ้นใหญ่อย่างเฟอร์นิเจอร์ ของชิ้นเล็กๆ ถูกนำมาจัดวางในแต่ละมุมซึ่งนอกจากจะโชว์เพื่อความสวยงามแล้ว ของสะสมเหล่านั้นยังนำพาความทรงจำและกลายเป็นเรื่องเล่า บทสนทนาที่ทำให้พวกเขามีความสุข “เราออกแบบมุมหนึ่งที่ต่อเนื่องจากประตูบ้านให้เป็นที่เก็บรองเท้า เพราะมีชั้นวางรองเท้าที่เป็นล็อคเกอร์ คือคุยกันแล้วว่าอยากทำบ้านให้เป็นโชว์รูมหน่อย ไว้โชว์ของที่เรามีอยู่ได้ด้วย ใช้งานได้ด้วย มีที่แขวนจักรยาน ซ้ายมือเป็นบันไดเดินขึ้นไปสู่พื้นที่ชั้นสอง พอเดินเข้ามาในตัวบ้านอีกหน่อยจะเจอกับส่วนที่โล่งตาที่สุด เราออกแบบเพดานให้เป็นดับเบิ้ลวอลลุ่ม เป็นครัวแพนทรี โต๊ะรับประทานอาหาร ซึ่งมุมนี้เป็นมุมที่ใช้อยู่เป็นประจำ เวลามีเพื่อน ญาติก็มักจะอยู่กันในโซนนี้

เพิ่มฟังก์ชันให้กลายเป็นพื้นที่ทำงาน

พื้นที่ใกล้ๆ กันเป็นห้องดูทีวี ติดกระจกใสทำเป็นประตูกระจกบานเลื่อนให้มองทะลุและไม่ทึบ ถ้าห้องนี้ไม่ได้ใช้ก็เปิดให้เป็นพื้นที่เดียวกัน สามารถใช้งานต่อเนื่องกันได้ แล้วเราก็เพิ่มโต๊ะทำงานที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ไว้ในห้องนี้เป็นพื้นที่สำหรับนั่งทำงานไปในตัว โดยด้านนอกยังคงมองเห็นต้นไม้ที่ช่วยผ่อนคลายสายตา

ของสะสมเป็นอีกจุดสำคัญที่เราบอกสถาปนิกเพราะมีของสะสมค่อนข้างเยอะ เช่น กล่องไฟ เราจะกำหนดเลยว่าอยู่ตรงไหน เขาจะเผื่อเรื่องปลั๊กไฟไว้ให้ทั้งหมด ตู้เหล็กสีๆ สไตล์เรโทรก็นำมาแมทช์กับชั้นไม้ตรงผนังบริเวณโต๊ะรับประทานอาหาร เราพยายามหาลูกเล่นให้กับมุมนั้นๆ และหาที่อยู่ให้กับของสะสม ทุกอย่างสามารถโชว์ได้ โดยของเหล่านี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโดยไม่รู้สึกขัดเขิน”

ออกแบบครัวแพนทรีคุมโทน

ในส่วนของครัวแพนทรีกำหนดโทนสีให้สอดคล้องกับดีไซน์บ้าน ออกแบบให้มีทั้งครัวเบาและครัวหนัก เนื่องจากทั้งคู่ทำอาหารจริงจังอย่างต้ม ผัด แกง ทอด ทั้งสองคุยกันว่าถ้ามีบ้านแล้วต้องการแยกครัวหนักออกไป เพื่อไม่ให้มีกลิ่นรบกวน “ครัวแพนทรีถูกออกแบบไว้ภายในบ้านรองรับการอุ่น ทำอาหาร และขนม ส่วนดีไซน์ของรูปแบบครัวเราหาจากพินเทอเรสท์ ดูว่าถ้าบ้านเปิดโล่งควรออกแบบครัวแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกวัสดุ สี เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากโทนสีหลักของบ้านเป็นสีเทา เราเลือกสีดำ เทาไว้ก่อน เพื่อให้คุมธีม อย่างไอส์แลนด์เป็นโทนเทาดำ แต่เอาลูกเล่นกระเบื้องสีขาวดำมาแซมเพื่อให้ไม่เข้มเกินไป หรืออย่างตู้แขวนก็ใช้งานสเตนเลสเข้ามาเป็นเพิ่มความมันวาวและเบรคไม่ให้ครัวดูมืดไป ตกแต่งไลท์ติ้งด้วยไฟวอร์มไวท์เพื่อสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น

เฟอร์นิเจอร์หลักๆ ที่นำมาตกแต่งมีทั้งงานไม้ งานเหล็ก เพื่อให้ล้อไปกับสไตล์บ้าน ผสมผสานกับเก้าอี้รับประทานอาหารคละแบบสไตล์เรโทร ไม่เป็นแพทเทิร์นเดียวกัน รวมถึงเรื่องราวที่แฝงอยู่ในทุกมุมซึ่งถูกประดับประดาผ่านของสะสมต่างที่มา ต่างยุคสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องยืนยันความสุขของทั้งคู่ได้เป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงอยู่ท่ามกลางสิ่งที่ชอบแต่ยังเชื่อมโยงกับฟังก์ชันใช้สอยในแบบที่พวกเขาต้องการ ช่วยส่งเสริมกันและกันให้เกิดบรรยากาศและสีสันที่ลงตัวในบ้าน Space 37 หลังนี้

เจ้าของบ้าน:
คุณไอติม-ณัฎฐ์ภกช ใจธรรม และคุณฝ้าย-นิจวรรณ คัมภีราวัฒน์


You Might Also Like...