การพึ่งพาตัวเองนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ขอเพียงมุ่งมั่น…ไม่ว่าใครก็ทำได้ จะมากบ้างน้อยบ้างไม่สำคัญเท่ากับความตั้งใจ ไม่ว่าจะใช้ชีวิตด้านไหน กิน ยืน เดิน นั่ง นอน ก็พึ่งพาตัวเองได้ทั้งนั้น เหมือนหนังสือเล่มหนึ่งเคยเขียนถึงเรื่องความรักเอาไว้ว่า “อย่าเอาใจเราไปผูกกับเท้าใคร เพราะถ้าเขาหายไป จะลากใจเราไปด้วย”
เช่นเดียวกับเจ้าของบ้านหลังนี้ คุณต้อยติ่ง-สุชาดา คำหา ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งมุ่งมั่นที่จะพึ่งพาตัวเอง เธอฝันอยากมีบ้านแต่หลายคนคัดค้านและบอกให้เธอรอ เพียงเพื่อให้ใครคนหนึ่งเข้ามาช่วยจัดการหรือแบ่งเบาปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า คุณต้อยติ่งคิดและบอกกับตัวเองว่า ทำไมต้องรอ? คนโสดแบบเธอไม่ถูกอนุญาตให้มีความสุขเหรอ? คนโสดแบบเธอไม่ถูกอนุญาตให้มีบ้านเหรอ?
วันนี้…คุณต้อยติ่งมีบ้านเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องรีรอให้ใครก้าวเท้านำ และเธอก็ไม่ต้องเอาใจไปผูกไว้กับเท้าใคร ด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง นับถือตนเอง และดำเนินชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง อยากทำอะไรก็ทำได้สบายๆ พื้นที่ไม่จำเป็นต้องใหญ่ แต่มีฟังก์ชันใช้งานที่ตอบโจทย์ครบครัน ใช้ชีวิตได้ง่ายๆ จึงเกิดเป็น Home ฮัก บ้านอยู่เย็นเป็นโสด…บ้านที่ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าอาณาจักรส่วนตัวและเป็นตัวของตัวเองได้มากที่สุด
ได้เวลามีบ้านเป็นของตัวเอง
“ก่อนหน้านี้ทำงานอยู่ต่างจังหวัดและย้ายเข้ามาเป็น Curator ทำงานที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ พักอยู่ในอพาร์ตเมนต์ใกล้ที่ทำงาน พอเข้าสู่ปีที่ 3 เกิดโควิดแล้วเราอยู่ห้องแคบๆ เริ่มหาต้นไม้มาปลูก ระเบียงเต็มไปด้วยต้นไม้ ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้มันเยียวยาใจเราดี ต้นไม้เริ่มเยอะขึ้นพื้นที่เต็ม เลยเริ่มรู้สึกว่าต้องมีบ้านแล้วล่ะ บวกกับงานประจำที่ทำอยู่ก็ค่อนข้างสนุก และน่าจะเป็นทางของตัวเอง จากนั้นเราก็เริ่มหาบ้าน โดยตั้งโจทย์เอาไว้ว่าเราขับรถไม่เป็นเพราะฉะนั้นต้องหาบ้านใกล้ที่ทำงาน และมีพื้นที่ที่เราสามารถจัดการได้ เนื่องจากเป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว คิดไว้เลยว่าเราจะอยู่คนเดียว จากนั้นก็เซอร์เวย์ดูจนมาเจอทาวน์โฮมที่มีเนื้อที่พอเหมาะ และเลือกบ้านแปลงมุมติดสวน นอกจากจะได้ปลูกต้นไม้แล้วยังได้พื้นที่สีเขียวเพิ่ม”
บ้านทาวน์โฮมขนาด 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ จึงเป็นทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการไม่ว่าจะเรื่องฟังก์ชันและดีไซน์ เพราะส่วนใหญ่คุณต้อยติ่งใช้ชีวิตทำงานอยู่ข้างนอก ดังนั้นจึงเลือกตกแต่งเฉพาะที่จำเป็นโดยเธอเล่าถึงไอเดียตกแต่งภายในบ้านหลังนี้ให้ฟังว่า “พื้นที่ภายในเป็นแปลนเดิมไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไร ค่อยๆ ทยอยตกแต่ง อยู่ไปทำไป แล้วเราก็หาวิธีจัดการฟังก์ชันใช้งานต่างๆ อย่างเช่น ห้องครัวเลือกที่จะไว้ภายในบ้าน เพราะเราอยู่คนเดียว ถ้าต่อเติมออกไปนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นแล้วเราก็ต้องออกไปทำข้างนอก แต่ที่จริงแล้วใช้ชีวิตตรงนี้ก็กำลังพอดี เป็นสเกลสำหรับคนเดียว เลยตัดสินใจทำครัวในบ้าน
“จากนั้นก็มองหาเฟอร์นิเจอร์ฟิตอิน เนื่องจากเราเป็นคนตัวเล็กแต่ขนาดเคาน์เตอร์ตามมาตรฐานมีสัดส่วนที่สูงกว่าเราเยอะ เลยมองหาร้านที่รับทำครัว จากนั้นก็วัดขนาด สเก็ตช์มือว่าอยากได้ครัวแบบไหน สูงเท่าไหร่ แล้วก็ให้เขาเข้ามาดู แล้วค่อยๆ ปรับดีไซน์ให้อยู่ในงบประมาณและพื้นที่ใช้สอยที่เราต้องการ”
ด้วยความที่คุณต้อยติ่งไม่คุ้นเคยกับสถานที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านหลังนี้ การเลือกซื้อหรือตระเวนดูเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งอาจกลายเป็นเรื่องไม่สะดวกสำหรับเธอก็จริง การเลือกซื้อของผ่านออนไลน์จึงกลายเป็นช่องทางหลัก “เรามี 2 ออปชันคือ ชอบของวินเทจ หาของในอินสตาแกรม แล้วเราทำงานพิพิธภัณฑ์ก็จะพูดถึงเรื่องการใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เลยเลือกหาเฟอร์นิเจอร์มือสองทางออนไลน์ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ก็เลือกจากอิเกียออนไลน์ โดยเราต้องวัดขนาดพื้นที่เอง เพราะเราไม่มีรถเลยจัดการด้วยการสั่งของออนไลน์ แต่เราต้องรู้ขนาดว่าจะวางสิ่งนี้ตรงไหน”
หลักในการทำบ้านสำหรับอยู่คนเดียวไม่ใช่เรื่องยาก
หลักในการทำบ้านสำหรับอยู่คนเดียวไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องรู้ความต้องการและวิธีจัดการ โดยคุณต้อยติ่งบอกว่า “เวลาทำบ้านที่อยู่คนเดียวอะไรที่ไม่เป็นภาระ การจัดเก็บ การทำความสะอาด เราเลือกฟังก์ชันก่อนเป็นอันดับแรก แต่ทำไมพอเราเลือกฟังก์ชันแล้วไม่สวย พอเราหาฟังก์ชันเสร็จก็ต้องมาดูว่าอะไรมันลงตัวกับฟังก์ชันและความสวยงามก็เลือกจากตรงนั้น แล้วค่อยๆ ใส่ความเป็นตัวเองลงไปทีละอย่าง เช่น มุมดูทีวี เราทำวอลเปเปอร์ก่อน เป็นคนชอบดอกพีโอนี (โบตั๋น) ก็เลือกภาพเอามาวางเลย์เอาต์ กำหนดสีของดอก แล้วส่งไปให้เขาปรินต์ พอได้ผนังแล้วก็มาเลือกจับคู่กับสีเทาที่ทาเอง
“หรืออย่างเราทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องฉลามโบราณ ก็เลยหากระเบื้องในครัวที่ Represent ที่เป็นเกล็ดของปลา ซึ่งในบ้านจะมีทั้งฉลามกับฉลามวาฬเต็มไปหมด ก็ค่อยๆ บอกความเป็นตัวเองโดยการหาอะไรที่ชอบด้วยและที่ตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันด้วย แต่ต้องไม่เป็นภาระ เพราะเราทำงานนอกบ้านตลอด ที่สำคัญต้องทำความสะอาดง่าย และจัดการได้ง่ายและลงตัว”
ออกแบบบ้านให้สัมพันธ์กับงานที่ทำ
การออกแบบบ้านสำหรับคุณต้อยติ่งมีความสัมพันธ์กับหน้าที่การงาน โดยดึงเอารายละเอียดเข้ามาเป็นลูกเล่นให้การแต่งบ้านดูสนุกและสะท้อนความเป็นตัวเอง แต่นอกเหนือจากนั้นคือการนำรูปแบบการทำงานมาประยุกต์ใช้เข้ากับการแต่งบ้าน “เวลาทำงานพิพิธภัณฑ์ เราทำนิทรรศการ ต้องมีทั้งการทำงานเลย์เอาต์ จัดวาง มันเลยกลายเป็นสิ่งนี้ติดตัวมาด้วย สมมุติว่ามีพื้นที่เท่านี้เราจะวางอะไรอย่างไรให้ลงตัว เวลาทำนิทรรศการสิ่งหนึ่งที่ต้องการจัดการเลยคือพื้นที่ เนื้อหา จัดการการเดินของคน โดยให้ประสบการณ์กับคน พอเรามีบ้านก็ต้องให้ประสบการณ์กับตัวเราด้วย เช่น เวลาเข้ามาเจอสวนมันเยียวยาหัวใจ หรืออย่างเข้าครัวมันช่วยทำให้เราผ่อนคลาย เข้ามุมทำงานก็มีฟังก์ชันของมัน การออกแบบก็คล้ายกับการออกแบบนิทรรศการชิ้นหนึ่ง กลายเป็นว่างานที่ทำมันสอนให้เรารู้ว่ามีพื้นที่เท่านี้ ข้อจำกัดมีแบบนี้ งบประมาณ ฟังก์ชัน เราจะจัดการกับมันอย่างไร สิ่งนั้นเพื่อคนอื่น แต่สิ่งนี้เพื่อตัวเราเอง”
สีเป็นตัวแบ่งโซน
มู้ดแอนด์โทนสำหรับบ้านหลังนี้มีความแตกต่างตามที่คุณต้อยติ่งกำหนดและต้องการให้เป็น ด้วยขนาดของบ้านที่เล็กอยู่แล้ว การกั้นห้องเพื่อแบ่งพื้นที่ใช้สอยจึงไม่ใช่ทางออก แต่ยังทำให้บ้านดูเล็กและอึดอัดมากกว่าเดิม “เราแบ่งฟังก์ชันโดยใช้สีเป็นตัวแบ่ง อย่างเช่น มุมดูทีวี เวลาเราดูหนังมู้ดมันต้องมืด แต่พอเป็นห้องรับแขกเวลาแขกเดินเข้ามาก็ต้องมีมู้ดอบอุ่นดูน่านั่ง พอไปที่ครัวก็กั้นด้วยเฟอร์นิเจอร์ นำอ่างล้างจานมากั้น โดยมีทั้งฟังก์ชันและเป็นการแบ่งพื้นที่ไปในตัว แต่ว่ามุมครัวกับมุมนี้ยาวต่อกัน เพราะฉะนั้นสีและมู้ดต้องไปทิศทางเดียวกันเลยใช้สีขาวกับสีน้ำตาลนำแล้วตัดด้วยสีฟ้าที่มัน Represent ตัวเอง พอเลือกกระเบื้องได้แล้วเรามองหาโต๊ะมือสอง ทาสีเองเพื่อให้เข้ากัน หาเก้าอี้มือสองที่มีสีไปด้วยกันได้”
ออกแบบห้องครัวให้ตอบโจทย์การใช้งาน
ในส่วนของห้องครัววางแนวคิดการออกแบบที่ตอบสนองเรื่องฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก โดยออกแบบและกำหนดตำแหน่งเองตั้งแต่การวางเตา อ่างล้างจาน พื้นที่สำหรับเตรียมของ แล้ววัดขนาดเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดด้วยการทดลองวางเพื่อดูว่าระยะมีความสัมพันธ์และสบายกับการใช้งาน “ไอเดียการออกแบบครัวเราจะกำหนดจากความสูงเป็นหลักก่อน จะเห็นว่าเคาน์เตอร์สูงไม่เท่ากัน อย่างเคาน์เตอร์ครัวตรงหน้าต่างมีระยะที่ต่ำกว่าเคาน์เตอร์อื่นๆ เนื่องจากความสูงของขนาดหน้าต่าง เราเลยวัดขนาดของเคาน์เตอร์ถ้าสูงเท่านี้สบายกับการใช้งานของเราหรือเปล่า ส่วนเคาน์เตอร์ที่กำหนดเป็นอ่างล้างจานก็สูงขึ้นมาหน่อย เพราะเวลาเราล้างจานต้องเผื่อความลึกของอ่างด้วย แล้วก็ใช้เป็นเหมือนพื้นที่กั้นห้องครัวไปด้วยในตัว
“ส่วนพื้นที่อีกฝั่งเอาไว้วางตู้เย็น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น เตาไมโครเวฟ เตาอบ รวมถึงเป็นมุมกาแฟ และมุมทำอาหารง่ายๆ อย่างอาหารเช้าที่ต้องใช้เวลาเร่งรีบ”
เมื่อคุณต้อยติ่งใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังนี้ได้สักพักใหญ่ๆ เธอก็ได้พบความสุขกับทุกๆ มุมที่ลงมือออกแบบเองตั้งแต่ต้นจนเสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นที่พักพิงให้กับร่างกายและหัวใจ เพราะไม่ว่ากี่ครั้งที่เหนื่อยล้าจากหน้าที่การงานหรือพบเจอกับอะไรก็ตาม บ้านหลังนี้จะคอยโอบกอดและปลอบประโลม สมกับชื่อบ้าน Home ฮัก และจุดเริ่มต้นของการทำเพจ บ้าน อยู่ เย็น เป็น โสด บ้านที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีอิสระและเป็นตัวเองได้อย่างสบายใจ
เจ้าของ คุณต้อยติ่ง-สุชาดา คำหา