ด้วยกระแสรักษ์โลกถือเป็นใบเบิกทางให้แบรนด์ที่เลือกใช้วัสดุธรรมชาติซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง P.a.d Banana Leaf Product ได้หยิบเอาใบตองแห้งมาต่อยอดเป็นงานโปรดักต์ดีไซน์เจ้าแรกในตลาดผลิตภัณฑ์รักษ์โลก โดยสร้างมูลค่าให้ใบตองกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
สินค้าของ P.a.d Banana Leaf Product ที่สร้างสรรค์จากใบตองแห้งมีทั้งสมุด กระเป๋าหลายขนาด ซองใส่การ์ด ไปจนถึงของแต่งบ้านอย่างปลอกหมอนอิง โคมไฟ แจกัน เป็นต้น
คุณลูกปัด-พัชรียา แฟงอ๊อด นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ P.a.d Banana Leaf Product เริ่มต้นทำโปรเจ็กต์นำใบตองแห้งมาเป็นโจทย์สร้างสรรค์งานตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา เพราะเธอมองว่าสามารถนำใบตองมาสร้างอัตลักษณ์เพิ่มมูลค่าให้มีความน่าสนใจ และเป็นการฉีกรูปแบบของวัสดุที่นำเสนอในผลงานด้วย
สร้างมูลค่าในสิ่งที่ไม่มีมูลค่าให้กลับคืนมา
ด้วยความต้องการหาวัสดุใหม่ๆ มาทำโปรเจ็กต์ส่งอาจารย์ให้แตกต่างไปจากวัสดุเดิมที่เคยใช้อย่างกระดาษ ปูน เหล็ก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจจากต้นกล้วยในสวนที่เห็นส่วนต่างๆ ของต้นกล้วยที่ถูกนำไปใช้งานได้หมด ทั้งเชือกกล้วยที่สามารถนำก้านไปใช้ประโยชน์ได้ เส้นใยจากปลีกล้วยนำไปทอผ้าได้ ส่วนรากต้นกล้วยสามารถนำไปผลิตเป็นกระดาษสา ยกเว้น “ใบตองแห้ง” ที่ไม่มีมูลค่าที่สุด เป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองและศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง
สร้างสรรค์ต่อยอด จากใบตองสู่งานดีไซน์สุดคราฟต์
เริ่มต้นทดลองด้วยการทดสอบใบตองแห้งโดยใช้โพลียูรีเทนมาเคลือบผิวให้ดูเป็นแผ่นวีเนียร์ปรากฏว่าใบยิ่งกรอบ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ เราสังเกตได้ว่าเวลาที่ผิวใบตองสัมผัสกับความร้อนจะมีน้ำมันระเหยขึ้นมาเคลือบผิวใบ ที่เป็นเช่นนี้เพราะในใบตองจะมีน้ำมันในตัวเอง นึกถึงการนำใบตองมา รองรีดผ้าในสมัยก่อน ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นซิกเนเจอร์ของใบตอง เราจึงมองว่าจริงๆ ไม่ต้องไปทำอะไรเพิ่มเติมจากผิวของใบตองเลย แล้วก็มาคิดต่อว่าจะเพิ่มความหนาหรือความยืดหยุ่นได้อย่างไร พบว่ามียางกล้วยและวัสดุกาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมการตัดเย็บเสื้อผ้ามาประสานรวมกัน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและประสานไปกับเนื้อผ้าที่เป็นเส้นใยธรรมชาติ 100% ด้วยการผสมผสานของวัสดุผ้าจากธรรมชาติกับผิวใบตองที่นำมาใช้งานสามารถต่อยอดมาถึงขั้นตัดเย็บได้ นำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้าได้โดยไม่ฉีกขาด และนี่คือสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด โดยไม่ต้องเคลือบผิวด้วยสารเคมีใดๆ
เมื่อได้แผ่นวัสดุก็มาสู่ขั้นตอนการออกแบบ ในช่วงนั้นออกแบบมาเป็นงานชิ้นเล็กๆ ประเภทสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น ซองใส่นามบัตร กระเป๋าสตางค์ ปกสมุด ในงานเซ็ตแรกที่ทำออกมาจะทำสีวัสดุเหมือนเรียงพื้นปาร์เก้ ออกเป็นโทนไม้ เข้มๆ อ่อนๆ โดยงานเซ็ตนี้ได้ส่งเข้าประกวดงาน Thailand Green Design Awards 2016 คว้ารางวัลที่ 2 มาครอง ยิ่งเป็นสิ่งการันตีว่าวัสดุของเราสามารถใช้งานได้ และทำเป็นผลิตภัณฑ์ในอนาคตได้ ต่อเนื่องมาถึงงานวิทยานิพนธ์ตอนปี 4 จึงสร้างสรรค์งานที่มากกว่าการเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ด้วยการออกแบบเป็นของตกแต่งบ้าน เช่น กระจกติดผนัง โคมไฟแขวน แจกันดอกไม้ กล่องใส่บุหงา และปลอกหมอน เนื่องจากเป็นการทำงานในสเกลใหญ่ขึ้น ทำให้ได้ศึกษาเรื่องเฉดสีของใบตองอย่างละเอียดขึ้น ซึ่งความหลากหลายทุกเฉดสีขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของสายพันธุ์ที่แตกต่างของต้นกล้วย สภาวะสิ่งแวดล้อม ปริมาณแสงแดด หากได้รับแดดแรงๆ ก็จะได้โทนสีเขียว สีเหลือง หรือได้รับน้ำฝนก็จะได้สีน้ำตาลเข้ม กลายเป็นเสน่ห์ของแต่ละชิ้นงานที่จะได้เฉดสีไม่ซ้ำกันเลย จากนั้นเรามีโอกาสได้นำผลงานไปประกวดในโครงการ Degree Shows ได้เข้ารอบ 15 ผลงานที่ดีสุด
สร้างตัวตนของ P.a.d Banana Leaf Product
หลังจากเรียนจบได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานอยู่ 7 เดือนก่อนตัดสินใจกลับบ้านที่จังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อมาทำงานออกแบบผลิตภัณฑ์จากใบตองที่ปูทางมาตั้งแต่ตอนเรียน โดยใช้ชื่อแบรนด์ P.a.d Banana Leaf Product ซึ่ง P.a.d. ย่อมาจาก Product and Design เป็นสาขาที่เรียนจบมา และด้วยความที่เป็นวัสดุใหม่เลยนำคำว่า Banana Leaf เข้าไปด้วย เพราะส่วนใหญ่ต่างชาติที่เห็นผลงานมักจะนึกว่าเป็น Bamboo
สร้างโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ธรรมชาติโดยไม่ทิ้งขยะไว้ให้โลก
เรามองในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เวลาที่เราใช้งาน หรือวันหนึ่งที่เราเบื่ออยากจะทิ้ง สิ่งของเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะ จุดเด่นของวัสดุเราคือสามารถย่อยสลายได้เองโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุที่เราใช้มีผ้าที่เป็นเส้นใยธรรมชาติและใบตอง ทุกอย่างย่อยสลายในดินได้ ดังนั้นผลงานของเราจึงไม่สร้างปัญหาขยะให้อยู่บนโลกนานเกินไป
ตอนนี้ทำแบรนด์มาเป็นปีที่ 7 เรายังคงเป็นแบรนด์เดียวที่นำใบตองมาทำโปรดักต์ดีไซน์ ซึ่งเรามองว่าคู่แข่งในเรื่องตลาดที่นำใบตองมาใช้ยังไม่มี แต่ในด้านอื่นๆ ที่ต้องนำวัสดุของเราไปแข่งขันในตลาดว่าจะทำอย่างไรให้คนเห็นว่าใบตองมีความแข็งแรงสู้กับวัสดุอื่นได้
ปัจจุบันบ้านที่อุตรดิตถ์มีพื้นที่ปลูกต้นกล้วยอยู่ 2 งาน ในขณะเดียวกันเราก็รับซื้อจากคนในชุมชนด้วย เป็นการช่วยสร้างรายได้ในชุมชน โดยใบตองสามารถใช้ได้ทุกสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จะให้ลายของใบที่แตกต่างกัน เช่น กล้วยไข่ใบจะเห็นลายเส้นชัดเจน และใบอ่อนจะมีความสวย ใบของกล้วยตานีจะเป็นเหมือนผิววีเนียร์เรียบๆ ไม่เห็นลายใบ เฉดสีเป็นสีน้ำตาลหม่นๆ เหมือนสีเบจ กล้วยน้ำว้าเป็นแพตเทิร์นที่หาง่ายที่สุดถ้าเป็นใบส่วนบนจะเห็นลายใบชัด ส่วนใบล่างจะมีความหนา ในการอัดแผ่นอาจต้องใช้ระยะเวลาความร้อนมากกว่าชนิดอื่น
ส่วนกล้วยป่าจะมีความบางพอดี ใบจะมีความเหนียวกว่าพันธุ์อื่นๆ และความหนาของใบจะเท่าๆ กัน โทนสีจะเป็นเขียวขี้ม้า กล้วยนากใบจะหนาและช่วงใบมีความยาว จึงเหมาะนำไปทำพาร์ติชัน ของแต่งบ้านที่ใช้ระยะความยาวหน้ากว้าง แต่ส่วนใหญ่เราจะคละใบตองหลายสายพันธุ์เพื่อให้ลูกค้าได้เฉดสีที่แตกต่างกันไปในงานหนึ่งชิ้น ด้วยการมิกซ์สี นำมาเรียงแพตเทิร์นโดยจับสีให้ดูสนุก และลูกค้าก็สนุกไปกับเราด้วย ในการใช้งานเราสามารถคุมสภาพด้วยการใช้เตารีดๆ ซ้ำ เพราะเวลารีดความร้อนจะทำให้มีน้ำมันระเหยขึ้นมาเป็นการเคลือบเงาลบรอยต่างๆ ให้จางลงได้ โดยสามารถรีดทั้งผิวใบตองและด้านที่เป็นผ้า
สร้างตลาด ช่องทางการจำหน่าย
นอกจากจะสร้างสรรค์งานผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้ว ทางแบรนด์ยังมีไลน์การผลิตสินค้าตามรูปแบบที่ลูกค้าต้องการ เช่น กลุ่มลูกค้าโรงแรม กลุ่มบริษัท องค์กรต่างๆ ปัจจุบันสินค้าแบรนด์ P.a.d Banana Leaf Product ยังมีช่องทางจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น เมืองนาโงยะ (Nagoya), ไอคอนสยาม โซนไอคอนคราฟต์ และโรงแรมบันยันทรี สาขากรุงเทพฯ ภูเก็ต และกัมพูชา
ฝากถึงแบรนด์
เรื่องราวของใบตอง ใบกล้วยนั้นมีความสนุก เมื่อเราเห็นที่มาที่ไปของต้นกล้วยซึ่งเป็นของที่ปลูกกันได้ทุกบ้าน แต่วันหนึ่งเมื่อกลายมาเป็น โปรดักต์ ของตกแต่งในบ้าน ทำให้ได้เห็นความสวยงามในอีกรูปแบบหนึ่ง และสุดท้ายคือไม่ได้เป็นขยะที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อยากให้ทุกคนได้ลองสัมผัสว่ามันมีความสนุกและแปลกใหม่อย่างไร มีชิ้นเดียวในโลกอย่างไร
ติดตามผลงาน P.a.d Banana Leaf Product ได้ที่ Facebook : P.a.d Banana Leaf Product
Instagram : p.a.d_studio