ไอเดียบ้านทรงกล่องสไตล์ญี่ปุ่น
บ้านทรงกล่องสไตล์ญี่ปุ่นหลังนี้ ออกแบบให้มีขนาดเต็มพื้นที่ 163 ตารางวา แบ่งสัดส่วน และจัดสรรพื้นที่ไว้อย่างลงตัวสำหรับสมาชิกในครอบครัว
“เรา 2 คน ทำงานเกี่ยวกับ Exhibition บ้านหลังนี้เลยเหมือนการเอาบูทต่างๆ มารวมกันเป็นกล่องแต่ละใบ ซึ่งไม่ต้องมีแบบฟอร์มอะไรมาก ผมมองว่าพื้นที่ใช้สอยจริงๆ คือส่วนของอินทีเรีย ต้องออกแบบให้บ้านมีฟังก์ชันตอบโจทย์การใช้งานและกิจกรรมของครอบครัวเรา” คุณเซฟ เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ กล่าวแนะนำตัว(บ้าน)
เมื่อประตูเปิดออก เราเดินผ่านสวนกลางบ้านเล็กๆ สเปซเอาต์ดอร์ที่เชื่อมระหว่างส่วนหน้าและส่วนหลังของตัวบ้าน ขึ้นสู่ชั้น 2 ที่เปรียบเสมือนห้องรับแขกส่วนตัวของคุณหวายและคุณเซฟ ออกแบบให้มีห้องครัวเป็นหัวใจหลัก เปิดโล่งต่อเนื่องกับห้องนั่งเล่น ดีไซน์ให้มีบานเฟี้ยมกระจกบานใหญ่กลางห้อง สามารถดึงออกมาได้เมื่อต้องการใช้พื้นที่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง
“ผมใช้เวลาออกแบบอยู่ประมาณ 2 ปี ปรับกันค่อนข้างเยอะ ไม่ได้อยากได้บ้านที่มีฟอร์มอะไร เพราะผมมองว่าพื้นที่ใช้สอยส่วนใหญ่อยู่ที่การอินทีเรียมากกว่า อยากให้เป็นบ้านที่มีฟังก์ชัน อย่างแรกที่คิดคือ ต้องปลูกบ้านเต็มพื้นที่ เนื่องจากเรา 2 คนมีกิจกรรมเยอะ เป็นครูสอนต่อสู้ ชอบปั่นจักรยาน ส่วนหวายชอบชวนเพื่อนๆ มาทำอาหารกินกันที่บ้าน เลยมั่นใจว่าต้องใช้พื้นที่เต็มแน่ๆ อีกโจทย์คือ อยากได้บ้านที่ดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องมีหน้าต่าง จึงเลือกใช้กระจกเป็นส่วนใหญ่” คุณเซฟ เล่าให้เราฟังถึงโจทย์ที่ตั้งไว้ในการออกแบบบ้านหลังนี้
ห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับห้องครัวบริเวณชั้น 2 ของบ้าน
คุณหวายเล่าเพิ่มเติมว่า
“เราชอบพื้นที่ที่เป็นสเปซเอาต์ดอร์ เลยดึงเอาต์ดอร์เข้ามาอยู่ในบ้าน ถ้าเปิดประตูทั้งหมด ลมจะพัดผ่านทั่วบ้าน เย็นสบาย จริงๆ เหมือนปลูกบ้าน 2 หลัง คือหลังด้านหน้าจะมี 2 ชั้น ให้คุณพ่อ-คุณแม่ ของหวายและคุณเซฟอยู่ ส่วนด้านหลังจะมี 3 ชั้น เป็นส่วนของพวกเรา แต่มีห้องนั่งเล่นตรงกลางเชื่อมเราไว้ด้วยกัน”
“เราไปเที่ยวญี่ปุ่นกันบ่อย เลยได้ไอเดียมาจากอาคารของญี่ปุ่น แต่นำมาปรับเปลี่ยนให้เข้าสภาพอากาศบ้านเรา เพดานต้องสูงเพื่อให้อากาศถ่ายเท ไม่ร้อน และดูเรื่องทิศทางของแสงด้วย ผนังบ้านฝั่งทิศตะวันตกจะปิดทั้งหมด แต่สวนตรงกลางบ้านจะเปิดโล่งให้แดดตอนเช้าส่องลงมาได้ ให้ต้นไม้ได้รับแสง แต่พอช่วงหลังเที่ยงไปแล้ว พื้นที่ตรงนี้จะไม่ร้อน เย็นสบาย เพราะผนังด้านทิศตะวันตกจะเป็นตัวรับแสงแทน
“สำหรับห้องรับแขกหลักด้านล่างจะเชื่อมกับสวนกลางบ้าน เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ มีมุมทานข้าว และห้องครัวไทยที่เป็นครัวหลักของบ้าน ถ้ามองภาพรวมจะเห็นเป็นส่วนลิฟวิงที่เชื่อมส่วนเอาต์ดอร์และอินดอร์ไว้ด้วยกัน สามารถเปิดประตูรับลมได้ทั้งหมด คล้ายกับบ้านไทยโบราณที่แบ่งเป็นโถง ชาน และระเบียง จึงมีความผสมผสานระหว่างความเป็นญี่ปุ่นกับไทยเอาไว้” คุณเซฟอธิบายเพิ่มเติม
หน้าต่างโถงห้องนั่งเล่นสไตล์ญี่ปุ่น ดีไซน์ให้เปิดหมุนรับลมได้
ระหว่างนั่งคุยกันอยู่ที่ห้องครัวบริเวณชั้น 2 ของตัวบ้านด้านหลัง เรามองผ่านกระจกบานใหญ่ออกไปด้านนอกอีกครั้ง ส่วนที่อยู่ติดกับห้องครัว เป็นห้องนั่งเล่นกึ่งเอาต์ดอร์สไตล์ญี่ปุ่น ถัดออกไปเป็นโถงบันไดและชานบ้านเปิดโล่ง ก่อนที่เราจะตกอยู่ในภวังค์ ก็มีเสียงของคุณเซฟช่วยดึงความสนใจของเรากลับมาอีกครั้ง
“ถึงแม้ว่าเราจะนั่งเล่นอยู่ตรงนี้ แต่ถ้ามองออกไปจะเห็นหมดว่าใครกำลังทำอะไรอยู่ตรงไหน ไม่ได้ออกแบบบ้านให้มีกำแพงซับซ้อน ลูกจะอยู่ข้างล่าง หรืออยู่ห้องนั่งเล่นของคุณย่าคุณยายอีกฝั่งหนึ่งก็สามารถเห็นได้ แต่หลังประตูตรงห้องนั่งเล่นที่เชื่อมกับห้องครัวนี้ จะเป็นส่วนไพรเวตของเราแล้ว”
มาถึงส่วนของห้องครัว คุณหวายรับอาสาพูดถึงส่วนนี้ให้เราฟัง
“ครัวหวายเป็นคนออกแบบเอง เพราะคุณเซฟบอกว่าเป็นส่วนที่เราใช้งานเอง ฟังก์ชันหลักคือต้องการไอส์แลนด์ไว้กลางห้องขนาดใหญ่ เราชอบทำกับข้าวนะ แต่ว่าไม่ได้เก่งมาก ชอบชวนเพื่อนมาบ้าน มาปาร์ตี้กัน พอมีลูกทำให้ไม่ค่อยอยากออกไปไหน ลูกก็เล่นกันไป ส่วนแม่ก็ทำอาหารกับเพื่อนๆ ถ้าวันไหนจะทำพิซซากัน หวายจะเตรียมแป้งไว้ให้ พอเพื่อนมาก็ช่วยกันนวด เลือกใส่หน้าเอาเองว่าอยากกินอะไร เป็นช่วงเวลาเราได้ทำกิจกรรมด้วยกัน”
ลูกๆ ไม่อยู่ คุณพ่อเลยขอโชว์เล่นเปียโนสัก 1 เพลง
“โจทย์อีกอย่างที่หวายคิดว่ายากคือ ชุดครัวด้านหนึ่งที่กั้นระหว่างห้องครัวกับห้องนั่งเล่น ต้องสามารถซ่อนบานเฟี้ยมกระจกที่กั้น 2 ห้องนี้ไว้ได้ด้วย เวลาไม่ได้ใช้งานจะได้ดูเรียบร้อย กลมกลืนไปกับชุดครัว เดิมพื้นที่ตรงนี้เราทำส่วนของห้องนั่งเล่นก่อน ไว้ให้ลูกนั่งเรียนเปียโน แต่จะเปิดแอร์ 2 ตัวคงไม่ไหว เลยทำบานเฟี้ยมกั้นระหว่าง 2 ห้องนี้ ดีไซน์ให้มีล้อด้านล่าง สามารถดึงออกมาและพับเก็บได้ พอจะทำชุดครัว จึงให้ทาง Gio ช่วยคิดว่ามีวิธีไหนสามารถทำได้บ้าง
“ชุดครัวนี้หวายเลือกใช้หน้าบานกระจกสีดำ แต่ถ้าเป็นสีดำทั้งหมดรู้สึกว่าจะดูทึบเกินไป จึงเลือกใช้ไม้เข้ามาผสมผสานให้ดูอบอุ่นมากขึ้น อีกอย่างคือก่อนจะทำครัว เราได้โต๊ะทานข้าวมาก่อน จึงต้องออกแบบครัวและชุดครัวให้เข้ากัน ซึ่งตอนปลูกบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ ตกแต่งทีละห้องมาเรื่อยๆ ห้องครัวนี้เป็นห้องสุดท้ายที่เราเพิ่งมาทำ หลังจากได้โต๊ะทานข้าวแล้ว เราค่อยไปหาเก้าอี้มามิกซ์แอนด์แมตซ์ให้เข้าชุดกัน เมื่อติดตั้งครัวเสร็จเรียบร้อย ก็รู้สึกเหมือนยังขาดอะไรไป สุดท้ายได้โคมไฟมาช่วยเติมเต็มให้ห้องครัวดูลงตัวพอดิบพอดี”
ชุดครัวหน้าบานกระจกสีดำตัดกับงานไม้ ดูเท่แต่อบอุ่น
เพิ่มฟังก์ชันจัดเก็บด้วยตู้แขวนติดผนัง และลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์
ดีไซน์ให้มีช่องใส่เครื่องปรุงใต้ไอส์แลนด์ โดยแบ่งเป็นแต่ละประเทศ ง่ายต่อการใช้งาน
ในส่วนของฟังก์ชันการใช้งาน ออกแบบให้มีไอส์แลนด์ขนาดใหญ่ตรงกลางห้อง ไว้สำหรับเตรียมของ และเป็นพื้นที่ส่วนปรุงอาหาร โดยเลือกใช้แปลนครัวเป็นรูปตัว L สามารถใช้งานครัวได้อย่างต่อเนื่อง คล่องตัว
“ฟังก์ชันการจัดเก็บตรงใต้ไอส์แลนด์ หวายดีไซน์ให้มีที่จัดเก็บเครื่องปรุง 4 ช่องด้วยกัน แบ่งเป็นซ้าย-ขวา อย่างละ 2 ช่อง แยกว่าแต่ละช่องนั้นไว้ใส่เครื่องปรุงของประเทศอะไร เวลาทำอาหารจะได้หยิบใช้ง่าย นอกจากนี้ยังดีไซน์ให้มีตู้สูง ตู้แขวน และลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์สำหรับเก็บอุปกรณ์เครื่องครัวต่างๆ ด้วย เพราะเราทำงานเกี่ยวกับ Exhibition ของเลยค่อนข้างเยอะ จึงอยากเก็บให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย’
เครื่องดูดควันกลางห้องดีไซน์เรียบ เป็นกระจก ช่วยทำให้ห้องดูโปร่งไม่อึดอัด
พื้นที่ส่วนล้างและส่วนเตรียมอาหาร ใช้งานได้ต่อเนื่องกับส่วนปรุงอาหารบริเวณไอส์แลนด์กลางห้อง
สร้างชีวิตชีวาให้ห้องครัว ด้วยชุดน้ำชาแสนสวยหรือของสะสมแสนเก๋
“จริงๆ ห้องครัวนี้เราไม่ได้จำกัดว่าใช้สำหรับปาร์ตี้อย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่ที่ให้หวายกับลูกทำกิจกรรมร่วมกันด้วย เด็กๆ จะชอบทำขนม ทำคุกกี้ ช่วยกันปั้นแป้ง อย่างวันไหนที่เพื่อนๆ มาบ้าน ทุกคนก็จะมาล้อมวงกันอยู่ตรงไอส์แลนด์ ลูกก็เล่นม้วนหน้า ม้วนหลัง อยู่ในห้องนั่งเล่น”
ก่อนจะกลับคุณหวายชวนให้เราเดินเล่นรอบๆ บ้าน เราเดินผ่านแต่ละห้อง แต่ละส่วน พร้อมกับนึกถึงสิ่งที่คุณเซฟเล่าให้เราฟังไว้ตอนต้น เกี่ยวกับการออกแบบบ้านหลังนี้ เป็นบ้านทรงกล่องง่ายๆ ที่เหมือนเอาบูทต่างๆ มารวมกัน ไม่ต้องมีแบบฟอร์มอะไรมาก แต่เน้นพื้นที่ใช้สอย และเป็นบ้านมีฟังก์ชันตอบโจทย์การใช้งานของทุกคนในครอบครัว เป็นความสุขที่รวมอยู่ในกล่องใบใหญ่หลังนี้
ติดตั้งไฟ LED บริเวณใต้ตู้แขวน ช่วยเพิ่มแสงสว่างให้ชุดครัว
เจ้าของ: คุณหวาย-นงพงา ศิริสวัสดิ์ และคุณเซฟ-มนต์ชนะ สัตยธำรงเธียร
พื้นที่ใช้งานครัว: 16.8 ตารางเมตร