Design Kitchen & Home

Sarnsard แบรนด์ออกแบบงานจักสาน ที่พาเตยปาหนันเมืองตรังสู่ความเป็นโมเดิร์นน่าใช้


Sarnsard จักสานเตยปาหนัน เมืองตรัง
ถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านงานออกแบบสไตล์โมเดิร์น
เส้นทางสู่ความเป็น Sarnsard
แบรนด์งานจักสานฝีมือคนไทยที่มีเอกลักษณ์ชวนจดจำ

คุณเป็ด – วิศรุต ทวีวรสุวรรณ Product Designer และ คุณกุ๊กไก่ มนัสนันท์ ทวีวรสุวรรณ Art Director  ต่อยอดความชอบในงานสานและประสบการณ์เมื่อได้เดินทางไปสัมผัสกับงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชุมชนมุสลิม จังหวัดตรัง ที่มีเตยปาหนันเป็นวัสดุสำคัญ ร่วมกันก่อตั้งแบรนด์งานออกแบบขึ้นเป็นเวลากว่า 2 ปีเพื่อส่งต่อความพิเศษของวัสดุธรรมชาติของเตยปาหนันอย่างเข้าใจ ภายใต้ชื่อแบรนด์ Sarnsard

เริ่มต้นจากความเข้าใจในตัววัสดุและวัฒนธรรม  

เริ่มจากการทำความรู้จักและเข้าใจบริบทกับเรื่องราวของชุมชน เมื่อได้เดินทางไปพบเจอกับหมู่บ้าน OTOP จังหวัดตรัง เรียนรู้ถึงการได้มาของเตยปาหนัน ศึกษาจนเข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งล้วนสะท้อนเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิม

“เราทั้งคู่ชอบงานสาน เมื่อมีโอกาสได้รู้จักกับเตยปาหนัน ซึ่งเป็นวัสดุที่ให้คุณสมบัติพิเศษ เราประทับใจกับความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสครั้งแรก ที่ไม่เหมือนกับกระจูด หวาย หรือ ไม้ไผ่ เพราะมันมีผิวสัมผัสเฉพาะตัว เรารู้สึกว่าน่าสนใจดี จึงตัดสินใจลงไปศึกษาภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ตรัง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับชาวบ้านที่ชุมชนมุสลิม ช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชุมชนกำลังมองหาทิศทางและโอกาสใหม่ๆเช่นกัน”

เตยปาหนันเมืองตรัง

เตยปาหนัน เป็นวัสดุธรรมชาติที่ให้คุณสมบัติพิเศษและแตกต่างจากวัสดุจักสานอื่นๆ ตรงความนุ่ม มีความนิ่ม น้ำหนักเบา ผิวมันเงา และ ไม่เป็นเชื้อรา ซึ่งนอกจากจะได้รู้จักเตยปาหนันแล้วทั้งสองนักออกแบบยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำหัตถกรรมพื้นบ้านโดยตรงจากชาวบ้านที่เกี่ยวเนื่องความชีวิตประจำวันและวัฒนธรรม

“ต้นเตยปาหนันเป็นต้นที่มีอยู่ทั่วไป ริมทะเลเมืองตรัง หน้าตาเหมือนใบเตย แต่ใบกว้างและต้นใหญ่กว่า มีหนามในส่วนแกนและริมของใบทั้งสองด้าน วิธีการทำเมื่อเก็บมาแล้วก็ต้องจัดการเอาหนามออก ปิ้งไฟเพื่อให้เกิดความมันเงา จากนั้นจึงกรีดเป็นเส้นหรือที่เรียกว่า จักตอก เพื่อนำไปใช้ในการสานต่อ”

สานสาด (ศาสตร์)

คำว่า สาด ภาษาใต้แปลว่าเสื่อ ซึ่งเป็นของใช้ในบ้านที่มีความหมายยึดโยงกับวัฒนธรรมของชุมชนคนมุสลิมมายาวนาน สอดคล้องกับการใช้ชีวิต ทั้ง การแต่งงาน งานศพ พิธีละหมาด เป็นเหมือนตัวแทนของภูมิปัญญานี้ และ คำว่า สาน หมายถึงการสืบทอด ต่อยอด อย่างตรงตัว ความเป็นสานสาดจึงเป็นการนำศาสตร์ของของการสานมาผนวกร่วมกับวัฒนธรรมในชุมชนมุสลิมจังหวัดตรัง ออกแบบเป็นของใช้จักสานลวดลายสวยงามและมีคุณค่าต่อทั้งนักออกแบบและชาวบ้านที่ต้องการคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมนี้ไว้ เป็นการนำหัตถกรรมพื้นบ้านที่เราคุ้นตามานำเสนอในรูปแบบใหม่ ต่อยอดลวดลายให้มีความโมเดิร์นน่าสนใจ

ลวดลายเอกลักษณ์ที่ชาวบ้านสืบทอดกันมา

ทุกลวดลายของแบรนด์ล้วนมีที่มาที่ไป ทั้งจากประสบการณ์ที่พบเจอ เช่น ลายสีเขียว จากป่ากงกาง สีส้มกรมดำ ที่ชื่อ ยอแสง ที่มีแรงบันดาลใจจากช่วงโพล้เพล้ของตะวันกำลังตกดิน ทำให้แบรนด์มีเรื่องราวของแต่ละสีอยู่ในการออกแบบ ซึ่งสีสันของผลงานจะเป็นสีย้อมร้อน เพื่อรักษาความพิเศษของเส้นใยทั้งยังเป็นการฟื้นคืนลวดลายที่ชาวบ้านเลิกสานไปแล้วให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ลวดลายดอกจัน เป็นลวดลายที่ชาวบ้านเลิกสานไปแล้ว แต่เรามองว่าสามารถทำให้มีความโมเดิร์นได้ ด้วยลวดลาย Geometric และทักษะที่ชาวบ้านทำได้อยู่แล้ว วางเส้นใหม่และใส่สีสวยงาม เป็นแพทเทิร์นในแบบของเรา เพื่อสนับสนุนงานหัตถกรรมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านไปด้วยในตัว”

จากเตยปาหนันเมืองตรัง สู่ มหานคร Bangkok Skybar

การเติบโตของแบรนด์ในระยะเวลา 2 ปีเริ่มต้นจากการได้เรียนรู้ทั้งวัสดุและวัฒนธรรมโดยตรงอย่างเข้าใจ ออกแบบงานจักสานพื้นบ้านด้วยทักษะของช่างสานในชุมชนและพัฒนาสู่ความทันสมัยด้วยความสร้างสรรค์ของนักออกแบบ ส่งต่อเอกลักษณ์งานจักสานในรูปแบบหลากหลาย เช่น การออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ให้กับมหานคร Bangkok Skybar ที่มีความเป็นสานสาดทั้งยังสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมผ่านงานจักสาน

“จากตอนแรกๆ ที่เราเริ่มต้นจากการทดลอง และมองหาความเป็นไปได้ ทั้งเรื่องของการเอา 3D Printing ที่เป็นเทคโนโลยีการออกแบบสมัยใหม่มาทำงานกับงานคราฟต์ที่เป็นเทคโนโลยีสมัยเก่า นำความเป็นหัตถกรรมพื้นบ้าน และแพทเทิร์นที่ออกแบบ นำเสนอเป็นผลงานไลฟ์สไตล์ เช่น กระเป๋า แผ่นรอง สายคล้อง เพื่อให้คนได้สัมผัสกับพื้นผิวของเตยปาหนัน เหมือนที่เราได้สัมผัส ในขณะเดียวกันก็ใช้ช่วยสร้างความดึงดูดและดูน่าสนใจ”

ความประทับใจในการทำงานร่วมกับชุมชน

“เราเข้าไปครั้งแรกเป็นแค่นักท่องเที่ยว จนไปเจอกับโครงการนวัตวิถีของชุมชน ได้เรียนรู้และทำงานเวิร์คชอป กับพี่จันทร์เพ็ญ จุดนั้นทำให้เราได้เห็นความจริงใจและอบอุ่น เต็มไปด้วยน้ำจิตน้ำใจที่ชุมชนไม่มีกำแพงกับคนนอก”

“เราเลยรู้สึกว่าอยากทำอะไรมากกว่านี้ อยากจะใช้บทบาทของนักออกแบบเพื่อต่อยอดอะไรได้มากกว่านี้ ก็เลยให้เวลากับสิ่งนี้ มีบางครั้งที่เราอยู่ที่นั่นกว่าสองอาทิตย์เพื่อได้คลุกคลีและรู้จักคน ต้องบริหารทั้งความสัมพันธ์ของชุมชน ทั้งการที่จะต่อยอดผลงานไปในทิศทางไหน เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาของชุมชนมากเกินไปจนเขาทำไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราพยายามจะออกแบบในสิ่งที่ชุมชนทำได้ แต่ก็ไม่จำกัดกรอบของตัวเอง เป็นการค่อยๆเป็นค่อยๆไประหว่างการทำสานสาดและคงเอกลักษ์วัฒนธรรมของชุมชนไว้”

Sarnsard
Facebook.com/sarnsard/
Instagram.com/sarnsard/
Line ID : sarnsard
www.sarnsard.com/


You Might Also Like...