Design Kitchen & Home

เครื่องใช้ในบ้านที่ถูกนำมาตีความใหม่ด้วย 3 สิ่ง สะดวกสบาย ความงาม และยั่งยืน


“การออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องขยายขอบเขตของการออกแบบ เพื่อสร้างสรรค์และคำนึงถึงวงจรชีวิตของผลงานออกแบบที่เอื้อกับการหมุนเวียน” คือนิยามการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับจาก Beth Esponnette ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวแห่งภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ University of Oregon ที่นำเสนอให้เกิดการตีความถึงสิ่งของเครื่องใช้รอบตัวใหม่ ในจุดร่วมระหว่างความสะดวกสบายในการใช้งาน ความงาม และความยั่งยืน

Esponnette เลือกเครื่องใช้ในบ้าน 3 ชิ้นมาตีความใหม่ ได้แก่ นาฬิกาแขวนผนัง ม้านั่ง และโคมไฟแขวนเพดาน แนวคิดที่ซ่อนอยู่คือ การให้ประโยชน์จากหน้าระนาบของวัตถุ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 นี้ถูกอธิบายผ่านประโยชน์จากการสร้างให้เกิดหน้าระนาบด้วยพืชที่ต่างชนิดกัน

นาฬิกาแขวนผนังถูกสร้างให้มีชีวิตด้วยการซ่อนกระบอกเพาะเลี้ยงใส่มอสกวาง (Cladonia Evansii หรือ Deer Moss) พืชที่งอกและเจริญเติบโตได้ดีในที่รับแสงจัด อากาศหนาวเย็น และมีความชื้นมาก การเจริญเติบโตของมอสกวางจะแผ่และทิ้งตัวลงสู่เบื้องล่าง การแผ่ตัวของมอสชนิดนี้จะหนาแน่นขึ้นตามลำดับ หน้าระนาบของการเติบโตของมอสกวางที่อัดแน่นหลังหน้าปัดสื่อถึงการหมุนเวียนในวงจรของเวลาแห่งการมีชีวิต

ม้านั่งที่หล่อขึ้นรูปจากปูนขาวถูกสร้างให้มีชีวิตด้วยการทำแบบพิมพ์บนส่วนรองนั่งเป็นรูปทรงนูนต่ำ เพื่อให้การเพาะเลี้ยงมอสทั้ง 2 ชนิดเติบโตได้ง่าย นอกจากมอสกวางแล้วยังมีมอสหางหมู (Weissia Controversa) พืชเมืองหนาวที่งอกได้ดีบนพื้นที่มีความชื้นและเย็น อาหารในการเจริญเติบโตคือแคลเซียมจากก้อนหินที่มีความเย็นชื้นอยู่ตลอดปี ลักษณะเด่นของมอสชนิดนี้คือมีการงอกแบบตั้งชั้นและแผ่นก้านของใบออกเป็นพุ่ม ก้านใบยิ่งถี่พุ่มจะยิ่งดูหนา และรากจะยึดเกาะกับหน้าระนาบของวัตถุที่งอกได้ดี ช่วยให้มอสหางหมูที่เกาะอยู่บนม้านั่งคืนทรงได้หลังจากถูกนั่งทับ และได้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่บนโขดหินที่มีมอสขึ้น

ส่วนโคมไฟแขวนเพดานผลิตด้วยวิธีที่ต่างออกไป ด้วยภาพที่ต้องการให้ระนาบรอบตัวโคมนำเสนอภาพของต้นไม้และดอกไม้ในทุ่ง การเลือกดอกไม้เมืองหนาวทั้งดอกลาเวนเดอร์ (Lavender), ดอกยิปโซ (Gypsophila), ดอกปีกนิรันดร์ (Ammobium), ดอกซ่อนกลิ่นฝรั่ง (Gladiolus), ดอกลิ้นมังกร (Snapdragons), ดอกกระดาษ (Strawflowers), ดอกหญ้าซูซูกิ (Miscanthus) และดอกเซดัม (Sedum) ซึ่งเก็บมาทั้งก้านหรือส่วนของลำต้นในขณะที่ยังสด และบางชนิดยังไม่แห้งสนิท เพื่อจัดเรียงให้เกิดเป็นมิติและทิศทางสื่อความรู้สึกเคลื่อนไหว ก่อนเทยางซิลิโคนเพื่อยึดเกาะปลายของก้านดอกไม้เหล่านั้นกับแป้นยางซิลิโคนที่ติดกับเบ้าของขั้วหลอดไฟ การแปลงสภาพของดอกไม้และก้านช่วยปรับให้รูปทรงของโคมไฟดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น ในขณะที่การพรางแสงไฟยังคงมีชีวิตชีวา ผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงแนวคิดทั้ง 3 ชิ้นนี้นอกจากจะเปลี่ยนภาพจำของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดไปให้เห็นความเป็นไปได้ของการมีพืชที่ยังมีชีวิตประกอบรวมอยู่ได้ และยังให้อัตถประโยชน์ไม่ด้อยลงไป

ภาพ : Beth Esponnette


You Might Also Like...