Anew Craft เป็นแบรนด์ของแต่งบ้านที่เริ่มต้นจากงานชิ้นเล็กอย่างแจกันที่ฉีกกฎรูปทรงไปจากแบบเดิม ประกอบกับการเล่นกับวัสดุไม้ด้วยการนำเทคนิคการเผาไม้ในรูปแบบของ Shou Sugi Ban (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการรักษาเนื้อไม้) มาใช้สร้างตัวตนผ่านรูปทรงออร์แกนิกในรูปแบบของตกแต่งบ้านที่ชวนหลงใหลทุกครั้งที่ได้สัมผัสและพบเห็น โดยมีผู้ก่อตั้งแบรนด์ และนักออกแบบรุ่นใหม่ ฌาน-นิชฌาน โคตะวัน ที่ใช้ความประณีตและความเป็นนักออกแบบถ่ายทอดผลงานออกมาได้อย่างน่าสนใจ
Anew Craft การเริ่มต้นสิ่งใหม่
จุดเริ่มต้นในการทำงานออกแบบ จริงๆ ผมทำเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน มาตั้งแต่ตอนเรียนมัณฑนศิลป์ สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พอจบมาเลยรู้สึกว่าอยากลองทำอะไรใหม่ๆ ด้วยตัวเอง จึงเกิดเป็นไอเดียทำงานไม้ขึ้นมา โดยกลึงไม้เป็นพาร์ตต่างๆ นำมาประกอบร่วมกันโดยใช้คอนเซ็ปต์ความเป็นไทยคือการเผาเขม่าจากก้นหม้อ“kon-mhor”
ดังนั้น Anew Craft คือความใหม่ทางด้านรูปลักษณ์ที่ถูกนำเสนอออกมาเพื่อสร้างความแตกต่าง ความน่าสนใจที่ต้องการทะลุจากขอบเขตเดิมที่มีไว้ กับคำถามว่าทำไมแจกันต้องมีทรงใหญ่ ทำไมต้องใส่น้ำ แต่สำหรับ Anew Craft มองว่ามันเป็น Sculpture เพื่อตกแต่งบ้านได้ด้วย ซึ่งผลงานเด่นๆ คือ แจกันไม้ที่เป็นรูป Abacus (ลูกคิด) ที่เกิดจากการเผาไม้เพื่อสร้างเท็กซ์เจอร์ใหม่ สร้างความน่าสนใจแบบใหม่ สื่อถึงความรู้สึกอบอุ่นเสมอ ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่เสแสร้ง แต่ยังคงความละเอียดอ่อน เรียบง่าย และคงทนด้วยรูปร่าง
“ก้นหม้อ” แรงบันดาลใจจากสี รูปร่าง การเคลื่อนไหวของเปลวไฟ
จากแรงบันดาลใจในการมองเห็นการเคลื่อนไหวของเปลวไฟและเขม่าควันที่ติดก้นหม้อจากการใช้เตาฟืนในการประกอบอาหาร สร้างความน่าสนใจในรูปแบบ และเพื่อนำเสนอความเป็นมาของความเป็นไทยโบราณจากก้นหม้อนั้น โดยนำเทคนิคการเผาไม้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการรักษาเนื้อไม้มาใช้ในการทำงานออกแบบ Anew Craft จนเกิดเป็นคอนเซ็ปต์“kon-mhor” ที่ทำให้เป็นแรงบันดาลใจทำงานในลักษณะที่เป็นการใช้ไฟเผาไม้เพื่อถนอมเนื้อไม้อย่างหนึ่ง และยังกันปลวกกันมอดได้ ด้วยความที่เรามองว่ามันเป็นงานที่สนุก ได้ฟีลลิ่งของงานไม้ที่เอามาประกอบร่วมกับรูปทรงที่เป็นประติมากรรม เราจึงค่อนข้างให้ความสำคัญกับความเป็นอาร์ต เพราะของที่มีคุณค่าจะเกิดจากศิลปะ รูปลักษณ์ และความงาม Anew Craft จึงเป็นแบรนด์ที่เลือกรูปลักษณ์มาก่อน อย่างแจกันที่ไม่มีดอกไม้ก็มีความโดดเด่นในตัวของมันได้ ถึงจะแยกจากชิ้นอื่น หรือมารวมกันก็อยู่ด้วยกันได้
นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมถึงเล่นกับดีไซน์ที่เป็นแจกันและวัสดุไม้ ผมมองว่าไม้เป็นเรื่องของความยั่งยืน สะท้อนถึงความอบอุ่น และไม้บางตัวที่เป็นซี่เล็กๆ ผมก็เอามาจากเศษไม้เหลือจากการสร้างบ้าน โดยเอามาขึ้นกลึงใหม่ หรือความอยากลองทำของจากเศษวัสดุที่ได้จากบ้านที่ถูกรื้อทิ้ง เราก็ไปซื้อมาตามขนาดที่ต้องการ ซึ่งจะมีทั้งไม้ดีหรือแม้กระทั่งไม้ไม่ดีเราก็นำมาขึ้นกลึงใหม่ได้ นอกจากวัสดุไม้ เรามีกระจก ผ้า และทองเหลืองเข้ามาผสมผสานในชิ้นงานด้วย เป็นที่มาให้เราเริ่มต้นจากของตกแต่งชิ้นเล็กๆ เพื่อให้คนทั่วไปได้มองเห็นภาพรวมผลงานเราเองในภาพลักษณ์ของประติมากรรมเป็นหลัก โดยมีฟังก์ชันเป็นเรื่องรอง
ความเป็นงานคราฟต์ของ ANEW
เราไม่ได้จำกัดว่าเป็นคราฟต์แบบไหน เพราะชิ้นงานที่ทำผมเป็นคนฟินิชชิ่งเอง เก็บผิวเอง เป็นเหมือนคราฟต์แมนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานชิ้นเล็กตั้งแต่แจกันไปจนถึงงานเฟอร์นิเจอร์ ในคอนเซ็ปต์ต่างๆ ที่นำเสนอเราดึงความเป็นศิลปะออกมาใช้ อย่างผลงานสตูล 3 ขา คอนเซ็ปต์ด้วยความเข้าใจผมคิดว่าให้ตัวแกนหัวใจหลักเป็นคล้ายๆ ลูกดิ่งที่สร้างสมมาตรให้กับเก้าอี้ตัวนี้ โดยเราตั้งชื่อว่า Freaky lll เป็นเก้าอี้ 3 ขา ต้องการมีขาให้น้อยที่สุด มีความแข็งแรงที่สุด ซึ่งก็สามารถรองรับน้ำหนักได้ดี
ก้าวต่อไปของ Anew Craft
ผมคิดว่า Anew จะเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่มีความโดดเด่น และเราจะขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นลักซ์ชัวรีในเชิงที่มีความเป็น Sculpture มีความอาร์ตที่ให้คุณค่าแก่การมองเห็นและการใช้งาน ต้องการให้รูปแบบฟังก์ชันของงานออกแบบให้เป็นได้หลายอย่าง เช่น ผลงานล่าสุดที่เป็นม้านั่ง สื่อให้เหมือนน้ำหมึกที่กระจายตัวออก ในชื่อ “ม้านั่ง IN-KU” (3 ม้านั่ง = 1 ชั้นวาง) ซึ่งทำจากไม้ยางนา ในคอลเล็กชันนี้นําเสนอการออกแบบประติมากรรมที่นํารูปลักษณ์ที่กลั่นและอุดมไปด้วยพื้นที่ใช้สอย แรงบันดาลใจจากองค์ประกอบตามธรรมชาติของน้ำหมึกที่กระจาย ม้านั่งมีรูปร่างตามจังหวะ และการทําซ้ำซึ่งทําให้แน่ใจว่ามีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น การออกแบบมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการเมื่อมีม้านั่งหลายตัว และสามารถวางซ้อนกันได้อย่างง่ายๆ
ด้านหลังของม้านั่ง IN-KU มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากม้านั่งอื่นๆ ทําให้มีน้ำหนักเบา ม้านั่งผสมผสานความอบอุ่นของกรอบตาข่ายเข้ากับเบาะนั่งไม้ ซึ่งคล้ายการเคลื่อนไหวของลวดลายหมึก ที่มาของชื่อม้านั่งนี้มาจากการผสมกันของ “IN” หมายถึง “วาง” และ “KU” หมายถึง “กรอบ”
ติดตามและชมผลงานได้ที่
facebook.com/anewcraft
instagram.com/anew.craft