10 ตัวอย่างครัวขนาดเล็ก แต่ฟังก์ชันแจ่มมาก
หลักในการวางผังห้องครัวที่ดีก็คือ การใช้พื้นที่ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและตอบสนองกับไลฟ์สไตล์ ดังนั้นไม่ว่าขนาดของห้องครัวจะเล็กหรือใหญ่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เราจึงมีตัวอย่างครัวไซส์มินิที่สามารถออกแบบแปลนและกำหนดตำแหน่งพื้นที่ใช้งานในครัวได้ดีแถมยังตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งเรารวบรวมมาให้ดูถึง 10 สไตล์ด้วยกัน ใครจะนำรูปแบบหรือไอเดียไปปรับใช้ก็เลือกกันได้ตามใจชอบ
1. บ้านหลังนี้สร้างขึ้นสำหรับพักผ่อนในช่วงวันหยุด ดังนั้นจึงออกแบบชุดครัวไว้เพื่อทานอาหารมื้อเช้าหรือไม่ก็ปรุงเมนูเบาๆ ไม่มีกลิ่นแรง เลยทำฟังก์ชันใช้งานเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้นเช่น อ่างล้างจาน มีมุมสำหรับเตรียมอาหาร โดยดีไซน์แปลนครัวเป็นรูปตัว I เพราะมีขนาดเพียง 6 ตารางเมตร ใช้กระเบื้องยางลวดลายตารางขาวดำ ทำให้ครัวมีเสน่ห์ดึงดูด
ไอเดียจาก: บ้านคุณพรพจน์ สุขสำราญและคุณกฤติกา อ่อนหวาน
2. ออกแบบห้องครัวให้ต่อเนื่องกับส่วนทานอาหาร โดยใช้ประตูกระจกบานเลื่อนกั้นห้อง ทำให้ห้องครัวไม่อึดอัด วางแปลนชุดครัวรูปตัว L มีฟังก์ชันใช้งานครบทั้งส่วนเตรียม ส่วนปรุง และส่วนล้าง เพิ่มระบบจัดเก็บให้มากขึ้นด้วยการทำตู้แขวนยาวตลอดแนว
ไอเดียจาก: บ้านคุณจันทรา จันทร์พิทักษ์ชัย
3. เจ้าของบ้านหลังนี้เน้นทำอาหารแบบง่ายๆ ใช้เพียงไมโครเวฟหรือไม่ก็เตาไฟฟ้า จึงกำหนดฟังก์ชันให้เป็นไปตามการใช้งานจริงบวกกับพื้นที่ในครัวจำกัดเพียง 3 ตารางเมตรเลยวางแปลนครัวแบบตัว I ติดตั้งตู้แขวนเพิ่มเติมสำหรับเก็บภาชนะ
ไอเดียจาก: บ้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ นเรศ ยะมะหาร
4. ครัวในคอนโดมิเนียมขนาด 7 ตารางเมตรได้รับการรีโนเวตใหม่ให้ดูกว้างขึ้น ขยายฟังก์ชันห้องครัวให้เป็นรูปตัว L คงดีไซน์ชุดครัวเก่าด้านหนึ่งไว้ แล้วทำสีหน้าบานใหม่ ผนังเหนือเคาน์เตอร์เลือกใช้กระเบื้องลายอิฐ ส่วนชุดครัวที่ทำขึ้นนั้นใช้เป็นพื้นที่ส่วนล้างและส่วนเตรียมอาหาร ด้านบนมีตู้แขวนสำหรับเก็บของใช้ในครัว ถัดไปเป็นโต๊ะทานข้าวที่ถูกปรับเปลี่ยนจากโต๊ะกลมให้เป็นโต๊ะขนาดใหญ่ตามความต้องการของเจ้าของบ้านที่สามารถปรับขยายความกว้างได้
ไอเดียจาก: บ้านคุณอุบลวรรณ จางวิบูลย์
5. ชุดครัวในอพาร์ตเมนท์มีพื้นที่ใช้สอยเพียง 3 ตารางเมตร เจ้าของจัดการรีโนเวตชุดครัวใหม่ให้เป็นสไตล์ที่เขาชอบ เปลี่ยนผนังคอนกรีตเรียบๆ ให้เป็นผนังก่ออิฐ เข้ากับดีไซน์ชุดครัวสีขาวมีอ่างล้างจาน เครื่องดูดควัน เตาอบ และตู้เก็บของใต้เคาน์เตอร์ก็เพียงพอกับการใช้งาน
ไอเดียจาก: บ้านคุณวุฒิกร เอกรัตนสมภพ
6. เจ้าของบ้านชอบครัวเรียบง่ายดูอบอุ่น จึงบิลต์อินหน้าบานชุดครัวไม้แอช กำหนดแปลนครัวรูปตัว L โดยวางฟังก์ชันพื้นที่ส่วนปรุง ส่วนเตรียม และส่วนล้างไว้ต่อเนื่องกัน กรุผนังครัวด้วยกระเบื้องโมเสกเพื่อความสวยงามและเช็ดทำความสะอาดง่าย เพิ่มฟังก์ชันกลางห้องให้เป็นไอส์แลนด์ขนาดเล็กใช้สำหรับเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม
ไอเดียจาก: บ้านดร. พิยะรัตน์ นันทะ
7. ด้วยพื้นที่เพียง 7 ตารางเมตรก็สามารถวางแปลนชุดครัวรูปตัว U ได้ไม่แพ้พื้นที่ห้องครัวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความคล่องตัวในการใช้งานมากขึ้น กำหนดโทนสีของครัวรวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยใช้สีขาวและดำ ให้ดูสวยงามกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และใส่ลูกเล่นอื่นๆ ให้ดูน่าสนใจ โดยนำวัสดุที่เป็นอิฐหรือไม้เข้ามาเพิ่มความอบอุ่น
ไอเดียจาก: บ้านคุณณัฐทยา พละหงษ์ และคุณกฤษณ์ กุสุโมทย์
8. ด้วยไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านที่ชื่นชอบการทำอาหารจึงเลือกชุดครัวปูนเพื่อความแข็งแรง ดีไซน์หน้าบานด้วยวัสดุเหล็กเพื่อให้ดูเท่เข้ากับบ้านสไตล์อินดัสเตรียล วางแปลนชุดครัวรูปตัว L แล้วเพิ่มไอส์แลนด์ไว้กลางห้องครัวเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย
ไอเดียจาก: บ้านคุณวสันต์ ติรางกูร และคุณกาญจนา ลีลาภัทรานุรักษ์
9. เนื่องจากเจ้าของชุดครัวเป็นเชฟจึงต้องใช้ห้องครัวสำหรับทำงาน เตรียมของและทดสอบรสชาติ จึงกำหนดฟังก์ชันใช้งานเต็มพื้นที่ วางแปลนชุดครัวเป็นรูปตัว L มีการใช้งานแบบเรียงเป็นแถว ติดตั้งตู้ผนังสองด้านต่อเนื่องกัน โดยเพิ่มฟังก์ชันพื้นที่ส่วนมุมให้ใช้งานได้อย่างคุ้มค่า
ไอเดียจาก: บ้านคุณมาลิน และพงศกร ลิขิตพรสวรรค์
10. ออกแบบห้องครัวให้มีพื้นที่เชื่อมต่อกับ เปิดสเปซให้ครัวดูกว้างขึ้น ติดวอลล์เปเปอร์ลายทางขาวดำให้ดูมีมิติแล้ววางแปลนชุดครัวเป็นรูปตัว L โดยในส่วนที่ยื่นต่อจากเคาน์เตอร์เป็นทั้งไอส์แลนด์และโต๊ะทานอาหาร นับว่าเป็นการออกแบบและจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากทีเดียว
ไอเดียจาก: บ้านคุณหญิง-เปมิกา ธนล้ำเลิศกุล และคุณมุลินทร บ่อจักรพันธ์
เรื่อง วาสสุคนธ์ เอกประดิษฐ์
ภาพ แฟ้มภาพนิตยสาร @kitchen