Lifestyle & Cooking People

พาไปรู้จักผู้ชนะจากเวที Asia Young Designer Awards 2020


การแข่งขันการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบตกแต่งภายในเพื่อสังคมอย่าง Asia Young Designer Awards 2020 (AYDA 2020) โดย บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มีผลงานที่ส่งเข้าประกวดกว่า 1,300 ผลงาน ศุภกร ฉันทกิจวัฒนา หรือ ต่อ นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน Illegal Settlement in Chiang Mai และ ทรวงชนก วงศ์พลกฤต หรือ พราว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรกับผลงาน Melodium สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Winner  เราลองไปดูแนวคิดของพวกเขากันเลยดีกว่าว่าจะเจ๋งขนาดไหน

ทั้งสองผลงานของต่อและพราวตอบโจทย์การแข่งขัน“FORWARD: Human-Centred Design” ที่มุ่งผลักดันให้นักออกแบบรุ่นใหม่สร้างสรรค์งานออกแบบโดยคำนึงถึงมนุษย์ซึ่งเป็นผู้ใช้งานหลัก ผ่านการสร้างกระบวนการคิด สังเกตพฤติกรรม และเรียนรู้ในรายละเอียดอย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ใช้งานออกแบบนั้นๆ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาด้านการใช้งาน แล้วนำผลจากการเรียนรู้มาสร้างสรรค์งานออกแบบ โดยใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและเทคโนโลยี เพื่อวางรากฐาน ตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหา ให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ศุภกร ฉันทกิจวัฒนา นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ชนะ Gold Winner จากสาขาสถาปัตยกรรม

“รู้สึกดีใจที่ได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมาช่วยเหลือชุมชนได้ ผมเชื่อว่านอกเหนือจากการออกแบบเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สถาปนิกที่ดีควรคำนึงถึงความต้องการของมนุษย์ด้วย การประกวดนี้ทำให้ได้ลองทำงานออกแบบจากปัญหาและความต้องการของมนุษย์จริงๆ ในอนาคตอยากเป็นสถาปนิกที่ออกแบบเพื่อชุมชน ใช้ความสามารถมาช่วยทำให้เมืองดีขึ้น และเชื่อว่า Illegal Settlement in Chiang Mai จะเป็น statement piece ที่สร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนได้เห็นถึงปัญหาด้านที่พักอาศัย และช่วยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในชุมชนได้เห็นถึงแนวทางและความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ที่สามารถร่วมมือและช่วยกันได้ภายใต้ความเข้าใจที่ตรงกัน”

ผลงาน Illegal Settlement in Chiang Mai ของผมเป็นงานออกแบบอาคารประเภทที่อยู่อาศัยที่นำเอาพื้นที่บริเวณคลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประสบปัญหาเรื่องการตั้งถิ่นฐานไม่ถูกต้อง เพราะอยู่ในระยะถอยร่นจากคลอง และไม่มีสาธารณูปโภคที่ดี มาเป็นชุมชนต้นแบบในการสร้างผลงาน

โดยแนวคิดแรกเริ่มของศุภกรคืออยากออกแบบผลงานทางสถาปัตยกรรมที่ภาครัฐและภาคชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมด้วยกันได้ จึงได้นำเอาแรงบันดาลใจจากกลุ่ม Archigram สถาปนิกอังกฤษเจ้าของผลงาน Plug-in City ซึ่งเป็นเมืองแห่งอนาคตที่ปรับเปลี่ยนระบบสาธารณูปโภคได้ตามต้องการ มาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของสถานการณ์ปัจจุบัน

ซึ่งหาก Illegal Settlement in Chiang Mai ได้รับการพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง จะเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการด้านโครงสร้างและระบบ โดยมีภาคชุมชนและคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างส่วนอื่นๆ เช่น ฝาบ้าน และ หลังคาซึ่งมีผลในแง่จิตวิทยา ช่วยสร้างความเป็นเจ้าของ อยากที่จะดูแลรักษา ไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม

ทรวงชนก วงศ์พลกฤต หรือ พราว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ชนะ Gold Winner จากสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน

“ปี 2020 เป็นปีแห่งความเครียด ทั้งจากปัญหาโควิด-19 เศรษฐกิจ และสถานการณ์บ้านเมือง คำถามคือมนุษย์จะหายเครียดได้จากอะไร จึงค้นคว้าและพบว่า 3 สิ่งพื้นฐานอย่างความปลอดภัย การมีส่วนรวม และการมีความสำคัญ* จะช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าสู่สภาวะ smart state หรือสภาวะที่สามารถคิดวิเคราะห์ คิดเชิงสร้างสรรค์ และมีความรู้สึกร่วมไปกับผู้อื่นได้ ด้วยเหตุนี้จึงนำเอาแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับผลงานตัวเองผนวกเข้ากับดนตรีซึ่งเป็นสื่อกลางที่เหมาะกับผู้คนทุกเพศทุกวัย และด้วยแนวคิดที่เปิดกว้างของโครงการ AYDA จึงทำให้สามารถสร้างสรรค์การออกแบบตกแต่งภายใน Melodium ออกมาได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยมั่นใจว่าหาก Melodium สามารถทำได้จริง จะเป็นที่พักพิงหรือที่สังสรรค์รูปแบบใหม่ให้กับผู้คนได้ในอนาคต ช่วยให้ผู้คนได้มีกิจกรรมรูปแบบใหม่ให้ที่หลากหลายมากขึ้น และผ่อนคลายได้มากขึ้นกับการใช้ชีวิต”

ผลงาน Melodium เป็นผลงานการออกแบบตกแต่งภายในที่นำเอาสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนในสังคมกำลังประสบปัญหามากมาย มีภาวะเครียด ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตที่ลดลงมาเป็นโจทย์ในการออกแบบ และยึดหลักแก้ไขด้วยการเติมเต็ม 3 สิ่งพื้นฐานที่มนุษย์

ต้องการในการดำรงชีพในสังคม อันได้แก่ ความปลอดภัย (safety) การมีส่วนรวม (belonging) และการมีความสำคัญ (mattering)[1] ผ่านการใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง

จึงเป็นที่มาของการสร้างผลงานการออกแบบตกแต่งภายในโครงการริมน้ำที่มีพื้นที่สำหรับนั่งชมวิว ห้องน้ำ และสามารถเล่นดนตรีได้ด้วยตัวอาคาร ผ่านกลไกความดันอากาศที่เกิดจากความแรงของคลื่นน้ำที่มากระทบโครงการ ส่งออกเป็นเสียงสูงต่ำตามท่อเสียง เกิดเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถผ่อนคลายไปกับเสียงเพลงธรรมชาติ บรรเทาความทุกข์ความเครียดของผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย


You Might Also Like...