Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ สถาปนิกผู้เชื่อมั่นว่า สถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้

สถาปนิกหญิงที่มากด้วยประสบการณ์
เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ชอบเล่นบ้านตุ๊กตาเพราะความน่ารัก แต่สำหรับเธอเล่นบ้านตุ๊กตาเพราะชอบจัดพื้นที่ อยากจัดการกับพื้นที่ที่มีอยู่ จากเด็กผู้หญิงช่างฝันในวันนั้นที่มักมองโลกในมุมกลับด้าน และมีคำถามเกิดขึ้นในใจเสมอเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมและการใช้ชีวิตของผู้คน คุณปุย-สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ กลายมาเป็นสถาปนิกหญิงที่มากด้วยประสบการณ์ นอกจากเป็นเจ้าของบริษัท Unexpected Co., Ltd, ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการออกแบบ ยังได้รับรางวัลเป็นเครื่องการันตีจากทั้งในไทยและต่างประเทศ  เช่น UIA & UNESCO Architecture and Water 2002, Good Design award 2011 Tokyo, Japan, Thailand Prime Minister’s Export Award 2011, Design Excellence Award 2011 (DEmark2011), Design Excellence Award 2010 (DEmark2010) และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เป็นอาจารย์สอนการออกแบบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรรับเชิญในมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของการเป็นสถาปนิก
เราอยากเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงสังคม เรารู้สึกว่ามันดีกว่านี้ได้ คิดว่าการใช้เงินเยอะจะทำให้มีชีวิตที่ดีกว่า แต่น่าจะเป็นลักษณะที่ว่าคนชั้นกลางทุกคนน่าจะสามารถมีชีวิตที่ดีได้ ถ้าผู้ออกแบบคิดเยอะๆ แล้วใช้งบประมาณใกล้เคียงกัน จะเห็นเลยว่างานที่เราทำไม่ได้มีรายละเอียดตกแต่ง แต่งบประมาณถูกใช้ไปกับการแก้ปัญหาของชีวิตความเป็นอยู่ เรารู้สึกเสมอว่าทำไมงานในเมืองไทยไม่เป็นงานเรียบๆ ที่ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ แก้ปัญหาและอยู่ได้ยาวๆ ถ้าเรามีที่ดินทำไมทุกคนจะต้องสร้างให้คับที่แล้วลมก็ไม่เข้า ตัวเราเองก็อยู่ไม่สบาย เราจะเกิดคำถามแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ

คิดและทดลองจากบ้านตัวเอง
ที่บ้านพื้นไม้เป็นรอยหมดเลย เพราะเราชอบลากเฟอร์นิเจอร์มาเรียงใหม่ จัดเฟอร์นิเจอร์แบบนั้นแบบนี้ มันเกิดจากการทดลองและพิสูจน์ในสิ่งที่คนเขาพูดกันว่า ถ้าคนนอนแล้วหันหัวไปทางทิศตะวันตกเป็นทิศของคนตาย แล้วมันเป็นอย่างไร หรือไม่ก็นอนบนเตียงแล้วมองฝ้า สมมติว่าเราเดินที่ฝ้าแล้วพื้นที่จะเป็นอย่างไร เรามองพื้นที่กลับกัน หรือถ้าเตียงไม่อยู่มุมนี้แล้วมันอยู่อีกมุมหนึ่ง ตู้เสื้อผ้าอยู่อีกด้านหนึ่ง ชีวิตจะเป็นอย่างไร รู้สึกว่าการเปลี่ยนเซ็ตติ้งอะไรบางอย่างในชีวิตมันแตกต่างแล้วเรารู้สึกว่ามันอาจจะเป็นการเรียนที่สนุก ถ้าเรามีความรู้และหาคำตอบในการใช้ชีวิต

เข้าสู่อาชีพสถาปนิกแบบเต็มตัว
จบด้านสถาปัตยกรรมจากนิวยอร์ค เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในนิวยอร์คและประเทศเยอรมนี เป็นสถาปนิกมีโปรเจ็คที่ทำหลายอย่าง เวลาเราสร้างอาคารหนึ่งขึ้นมา มันสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนได้แล้วสิ่งนั้นมีอิทธิพลกับความเป็นอยู่ของคนอื่น เรามองว่าเราคือ Solution provider หาคำตอบให้ในสิ่งที่คนอยากได้ในเรื่องของการใช้ชีวิต ต่อให้เราไม่อยู่แล้ว ถ้าอาคารนั้นมันได้รับการใส่ใจในการออกแบบสิ่งนั้นมันอยู่ได้นานกว่าชีวิตของเราเสียอีก

ประสบการณ์จากนิวยอร์คและเยอรมนี
สมัยก่อนเรารู้จักแค่อเมริกาก็คิดว่าน่าจะพอแล้ว แต่พอไปทำงานในแถบยุโรปเขาก็มีแนวคิดต่างไป มันเหมือนหนังสือออกแบบอีกเล่มหนึ่งเลย เราทำงานที่บริษัทสถาปนิก จนได้ใบประกอบวิชาชีพสถาปนิกของเยอรมนี ที่โน่นให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมหนักมาก หนักกว่าสิ่งที่เรารู้ในอเมริกาเสียอีก อเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องของมนุษย์ที่เท่าเทียม ผู้พิการจะต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ แต่เยอรมนีมองว่ามนุษย์มีสิทธิ์ได้รับการดูแลในทุกเพศทุกวัยบวกกับเราจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยในเรื่องของการใช้พลังงาน เรื่องของการใช้วัสดุ คือ ในเรื่องการประหยัดพลังงานจะถูกพูดถึงมากในยุโรป เพราะยุโรปมีทรัพยากรจำกัดกว่าอเมริกา ค่าน้ำมันแพงกว่า ค่าน้ำสูงกว่า อเมริกามีพื้นที่ใหญ่มากแต่เขายังมีราคาต่อหน่วยของค่าพลังงานถูกกว่าฝั่งยุโรป ยุโรปทุกอย่างจะจำกัด ประเทศเล็ก ไม่มีแหล่งน้ำมันเป็นของตัวเอง ฉะนั้นงานในยุโรปจะให้ความสำคัญมากกับน้ำเสียจากอาคารต้องจ่ายภาษีพิเศษ เราจ่ายทั้งน้ำดีที่ใช้และน้ำเสียที่เราปล่อยจากอาคาร คือทางอเมริกาจะสอนเราในเรื่องของมนุษย์ ทางยุโรปจะสอนเราเรื่องมนุษย์กับโลก มันเป็นคนละศาสตร์กันเลย

กลับมาเป็นอาจารย์ในเมืองไทย
เด็กๆ มักจะถามว่ากลับมาทำไม ทุกครั้งเราจะตอบเขาว่าเมืองไทยน่าอยู่ที่สุด เพราะเมืองไทยกำลังรอเราและลูกศิษย์เราทุกคนที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลง เราเคยอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทุกอย่างมีการตอบโจทย์มาถึงระดับหนึ่ง กว่าที่ใครคนหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างก็ยากมาก โอกาสที่จะได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงมันก็น้อย แต่ประเทศที่เราเป็นอยู่นี่แหละให้โอกาสกับเราเยอะมากกว่า เราพอเข้าใจว่ามีสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมประเทศอื่น แล้วจะรู้ว่าอีก 15 ปี มันจะเป็นความต้องการของสังคมไทย ดังนั้นเราจะมีโอกาสที่ได้ทำอะไรที่มากกว่าที่เป็นแค่การออกแบบทั่วไป เลยเป็นเหตุผลให้กลับมาตามหาตัวเราเอง รู้สึกว่าธรรมชาติของตัวเองชอบออกไปทำอะไรที่เปลี่ยนแปลง มีความสุขมากกับการได้ทำอะไรบางอย่างแล้วมันมากกว่าการออกแบบ มากกว่าการตอบโจทย์ดีไซน์

ระบบการเรียนของไทยและเทศ
พยายามบอกลูกศิษย์ให้เขามองว่าตัวเองเป็นสมาชิกของโลก อย่างมหาวิทยาลัยที่เราสอน โลเคชั่นอยู่บางขุนเทียน มันไกลมาก อยู่นากุ้ง แต่เป็นหลักสูตรอินเตอร์ มันมีความย้อนแย้ง เราอยากจะเป็นอินเตอร์แต่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง สิ่งที่คุยกับเด็กจะบอกว่าไม่ว่าคุณจะทำอะไรอย่าคิดว่าคุณมีความพอใจกับสิ่งที่คุณอยู่แค่นี้ แล้วก็สนุกกันเองในพื้นที่ พยายามมองให้กว้างว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นสมาชิกของโลกใบนี้ ขอบเขตของการเรียนรู้มันไม่มีหรอก ในขณะที่เรารู้สึกว่าอะไรหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยก็เป็นสิ่งที่น่าค้นหา เรามักจะมองว่าภูมิปัญญา ที่มันไม่ใช่พื้นที่ข้างในไม่ใช่ข้างนอกเป็นพื้นที่น่าสนใจมาก เป็นพื้นที่มีความเป็นไทยตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนที่อยู่ในเมืองไทย เหมือนกับว่าไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหนคุณก็ควรมีความละเอียดอ่อนในการมอง ทุกครั้งเราสอนเด็กที่เป็น global สิ่งที่เป็นกระแสความสนใจของโลก สิ่งที่เป็น local สิ่งที่เราอยู่ มันมีปรัชญาความเป็นอยู่อย่างไร คือให้เรามีความละเอียดอ่อนในการมอง เพราะฉะนั้นเพื่อจะบอกเด็กว่าไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนในโลก ตัวเราสิคือคนที่ต้องเลือกที่จะมอง แล้วก็ต้องเลือกที่จะเข้าใจบริบท ถามว่าแนวความคิดต่างจากไทยไหม ก็แตกต่าง เพราะลักษณะภูมิประเทศ และการใช้ชีวิต ปรัชญาในการดำรงชีวิตแตกต่างกัน แต่ก็เหมือนกันเพราะมนุษย์ก็ต้องการทางออก คำตอบ ทำอย่างไรให้ชีวิตมันดีกว่าวันต่อๆ ไป

เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับด้วยการทำบริษัทของตัวเอง
บริษัทนี้เริ่มจากตอนแรกเป็นฟรีแลนซ์ เริ่มมีโปรเจ็คเข้ามา อีกอย่างหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ให้ที่ไม่ดี ถ้าไม่รู้จักที่จะเป็นผู้รับ คือความรู้ที่เราให้ในเชิงปฏิบัติ เราต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เราทำเอง ถ้าเราสอนหนังสือเด็กเราคือผู้ให้ แต่ถ้าเราทำงานออฟฟิศเราคือผู้รับ เราต้องรับความรู้และเราก็ต้องดิวกับวิศวกร ลูกค้า จะทำอย่างไรให้ลูกค้าเห็นในสิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้น มันเป็นการเทรนนิ่งเราเองค่ะที่ต้องเข้าใจโลกเข้าใจมนุษย์ เราต้องบริหารจัดงานประสานงานกับผู้รับเหมา วิศวกร มันประสานงานรอบวงแม้กระทั่งเด็กๆ ที่ทำงานกับเรา เราจะดูแลเขาอย่างไรมันคือสกิลทางด้านแมเนจเมนต์ที่เราต้องเรียนรู้ และความรู้ตรงนี้ก็เอาไปสอนในห้องเรียน เราไม่ได้เป็นอาจารย์ที่สอนแต่ทฤษฎีที่ไม่เคยลงมือปฏิบัติ บางทีไปหน้าไซต์งานเราก็เหวอ เพราะมีสิ่งที่เราไม่รู้เหมือนกันเพื่อที่เราจะเรียนรู้ เหมือนทุกอย่างเอื้อกัน ถ้าเราปฏิบัติอย่างเดียวแล้วเราไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร สิ่งที่เราสอนเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันใช้งานได้

มุมมองของการเป็นสถาปนิกที่ดี
ละเอียดอ่อนและมีความสนใจในชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม หลายๆ ครั้งเคยบอกกับเด็กๆ ว่าเส้นนึงที่เราขีดใช้ทั้งคนงานก่อสร้าง ใช้พลังงานของโลกในการทำให้เส้นๆ นี้ขึ้นมาเป็นผนังหนึ่งอันมันต้องคิดเยอะ ไม่ว่าเราจะทำอะไรต้องมีความรอบคอบ ผนังนี้เป็นผนังที่กั้นระหว่างความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ผนังนี้เป็นผนังซึ่งคนที่ทำงานก่อสร้างเขาต้องใช้แรงงานหยาดเหงื่อในการก่อขึ้นมา เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม มันจำเป็นต้องรับผิดชอบและคิดให้รอบด้าน ต้องตกผลึกประมาณหนึ่ง ซื่อสัตย์ด้วย บางปัญหามันแก้ได้ บางปัญหาแก้ไม่ได้ แต่ต้องมีความจริงใจในการรับโจทย์และแก้ปัญหา และรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ เวลารับงานเราฟังเยอะมาก คุยกัน 3-4 รอบกว่าจะเริ่มงาน นักออกแบบทุกคนมีความเท่าเทียม การตอบโจทย์ของแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่เผอิญว่าโจทย์ในรูปแบบของเรา เราจะมองการแก้ปัญหาในแบบที่เราเชื่อว่านี่คือแบบที่เหมาะสม การที่เราจะมีลูกค้าท่านใดท่านหนึ่งทำงานกับเราศีลก็ต้องเสมอกัน เขาเชื่อในสิ่งที่เราเห็น เหมือนเราทั้งคู่เต้นแทงโก้ค่ะ ต้องเต้นเป็นจังหวะเดียวกัน ถึงจะเป็นคู่คิดที่ดี เมื่อไหร่ที่เรารับงานเราจะอินมาก เรื่องของเขาคือเรื่องของเรา ถ้าเรามองไม่ได้เห็นในคำตอบในทิศทางเดียวกันก็ไม่ได้เสียใจว่าเป็นเรารึเปล่า เราชอบอะไรที่เรียบง่าย ทุกครั้งจะรู้สึกว่าอยากทำงานที่มี magic moment เห็นเมื่อไหร่ก็รู้สึกเรียบๆ แต่พอใช้งานแล้วมันเกิดความน่าสนใจขึ้นมา มีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น

wassukon

wassukon

ไม่ได้จบโดยตรงด้านออกแบบ แต่ฝันอยากเป็นสถาปนิกแล้วโลกก็เหวี่ยงให้มาเขียนงานด้านออกแบบเป็นสิบปี ตอนนี้เลยมีโลกส่วนครัวมากกว่าโลกส่วนตัวไปแล้ว