รูปแบบห้องครัวที่ดีไม่เพียงแค่ออกแบบให้เข้ากับพื้นที่และตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านเท่านั้น สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกเลยก็คือ ตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าชอบทำอาหารประเภทไหน เพราะรูปแบบในการปรุงอาหารแต่ละแบบมีความต่างกัน เช่น อาหารยุโรป อาหารญี่ปุ่น และอาหารไทย
วันนี้เราจึงนำตัวอย่างการออกแบบพื้นที่ส่วนปรุงมาให้ดูกันถึง 10 สไตล์ เผื่อใครยังคิดไม่ออกว่าจะวางเตาไว้ตรงไหนและพื้นที่ใกล้เคียงควรเป็นอะไร
1.กำหนดพื้นที่ส่วนปรุงชิดผนังเว้นสเปซจากเตาถึงผนังให้สามารถวางเครื่องปรุง เพื่อสะดวกในการหยิบใช้ ส่วนเครื่องดูดควันติดตั้งไว้ใต้ตู้ลอย เหมาะกับการทำอาหารไม่หนักมาก เนื่องจากเป็นห้องครัวที่อยู่ในคอนโดมิเนียม
ไอเดียจาก : บ้านคุณธนากร ชินกูล
2.บ้านหลังนี้กำหนดแปลนชุดครัวรูปตัว L แล้วทำพื้นที่ใช้สอยให้ใช้งานได้มากขึ้น กำหนดส่วนเตรียมและมุมสำหรับทำอาหารไว้ชิดผนัง ติดตั้งเครื่องดูดควันกับทอปเฟอร์นิเจอร์หลังเตา ดีไซน์ของเครื่องดูดควันแบบนี้ดูสวยงามทันสมัยมาก หากไม่เปิดใช้จะไม่สามารถมองเห็นเครื่องดูดควันที่ซ่อนอยู่ใต้เคาน์เตอร์ได้เลย
ไอเดียจาก : บ้านคุณจำเนียร ชะละตะคุ
3.เนื่องจากพื้นที่ในครัวค่อนข้างเล็ก จึงออกแบบฟังก์ชันใช้งานเต็มพื้นที่โดยวางแปลนเป็นครัวรูปตัว U กำหนดพื้นที่สำหรับทำอาหารไว้ในจุดเดียวกันทั้งหมดตั้งแต่เตา ไมโครเวฟ และเตาอบ โดยทำบิลต์อินให้ดูสวยเรียบไปกับหน้าบาน ส่วนผนังอีกฝั่งทำชั้นวางของแบบโปร่งเอาไว้วางเครื่องปรุงต่างๆ เพื่อหยิบใช้ง่าย
ไอเดียจาก : บ้านคุณศิระและคุณศิริวรรณ อินทรกำธรชัย
4.บ้านนี้ออกแบบเป็นครัวเปิดซึ่งเชื่อมต่อกับห้องนั่งเล่น เน้นการทำอาหารเบาๆ ไม่มีกลิ่นแรง จัดสรรพื้นที่ส่วนปรุงถัดจากอ่างล้างจาน ตรงกลางเป็นพื้นที่เตรียมอาหาร ใช้งานได้คล่องตัว ทั้งยังก่อเป็นเคาน์เตอร์สูงจากเวิร์คทอปไว้สำหรับวางเครื่องเทศ เครื่องปรุง รวมถึงของตกแต่งเพื่อทำให้ครัวดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
ไอเดียจาก : บ้านคุณผึ้ง
5.ห้องครัวเชื่อมโยงกับห้องนั่งเล่น ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงกำหนดพื้นที่สำหรับปรุงอาหารไว้บริเวณไอส์แลนด์เพื่อสามารถพูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวเพราะชอบกว่าทำเตาชิดผนัง ถัดไปเป็นโต๊ะอาหารที่อยู่ใกล้กับเตา เมื่อทำอาหารเสร็จพร้อมเสิร์ฟได้ทันที
ไอเดียจาก : บ้านคุณจักรกฤษณ์ และผศ.ดร.นิรัชรา เลาหประสิทธิ์
6.บ้านหลังนี้ออกแบบเป็นครัวปิดเน้นการทำอาหารหนัก วางแปลนชุดครัวให้ใช้งานได้รอบห้องด้วยการวางผังการทำงานในครัวแบบสามเหลี่ยมตั้งแต่ส่วนเตรียม ส่วนปรุงซึ่งเลือกใช้เตาแก๊สและเครื่องดูดควันแบบกระโจมติดผนังกำลังวัตต์สูง รวมถึงส่วนล้างที่เชื่อมโยงการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง
ไอเดียจาก : บ้านคุณทวีวัฒน์ มงคลอดิสัย
7.ความต้องการของเจ้าของบ้านหลังนี้มีครัวไว้สำหรับอุ่นอาหาร ทำเมนูง่ายๆ และเน้นการจัดปาร์ตี้เป็นหลัก จึงทำพื้นที่สำหรับปรุงอาหารไว้กลางห้องครัวแล้วดีไซน์โต๊ะอาหารเชื่อมกับไอส์แลนด์โดยลดระดับให้ต่ำกว่าแล้วออกแบบที่นั่งล้อมรอบเคาน์เตอร์ ให้อารมณ์เหมือนนั่งอยู่ในร้านอาหารญี่ปุ่นและสร้างบรรยากาศครัวให้รู้สึกเป็นกันเอง
ไอเดียจาก : บ้านคุณสุทธญา เสริมสุวรรณ
8.ประหยัดเนื้อที่โดยไม่จำเป็นต้องแยกห้องอาหารออกจากห้องครัวก็ได้ ด้วยการทำโต๊ะอาหารต่อเนื่องกับไอส์แลนด์ซึ่งใช้เป็นพื้นที่สำหรับปรุงอาหาร มีลิ้นชักและตู้ใต้เคาน์เตอร์เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ใกล้มือ สะดวกในการหยิบใช้
ไอเดียจาก : ชุดครัวปูนบุญถาวร
9.พื้นที่ส่วนปรุงอีกหนึ่งรูปแบบที่อยู่คั่นกลางระหว่างตู้แขวน ดูเป็นสัดส่วนและใช้งานได้สะดวกไม่แพ้แบบอื่นๆ เพิ่มความพิเศษด้วยการออกแบบพื้นที่เหนือเตาด้วยการทำเป็นหน้าต่างบานเลื่อน เปิดให้อากาศถ่ายเทไม่ทำให้ห้องครัวอับชื้น
ไอเดียจาก : บ้านคุณธัญดา วงศ์ศรีอาจ และ Mr.Ewald Rauw
10.ห้องครัวที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นสตูดิโอสำหรับสอนทำอาหาร จึงกำหนดพื้นที่ปรุงอาหารอยู่กลางห้องครัว แล้วเพิ่มโต๊ะไม้ทั้งด้านหน้าและด้านข้างไอส์แลนด์ เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนได้มากพอ รวมถึงใช้สำหรับสังสรรค์กันในครอบครัวด้วย
ไอเดียจาก : บ้านคุณสุดารัตน์ หอรุ่งเรือง