My Home, My Playlist บ้านในจังหวะของฉัน

เมื่อบ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่มันคือพื้นที่หนึ่งที่สามารถสะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านได้ดีที่สุด จะว่าไปแล้วบ้านอัดแน่นไปด้วยส่วนประกอบมากมาย แต่ละมุมมีเรื่องราวเฉพาะตัว เหมือนกับเพลย์ลิสต์เพลงที่เราพยายามคัดสรรให้เหมาะกับอารมณ์และรสนิยมของตัวเอง การแต่งบ้านก็เช่นเดียวกัน เพราะทุกสีสัน สไตล์เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งล้วนบอกเล่าเรื่องราวของผู้ที่อาศัยอยู่ในนั้น

การแต่งบ้านสำหรับคุณเอวา-เอวารินทร์ เปรมปรีชากุล ทำทุกอย่างแบบตามใจตัวเอง ไม่ตามเทรนด์หรือกฎเกณฑ์ใดๆ แต่ทำขึ้นจากความชอบ ความสบายใจ ดังนั้นทุกมุมของบ้านจึงถูกออกแบบเหมือนกับเพลย์ลิสต์ที่คัดสรรเอง ด้วยการเลือกสิ่งที่ถูกใจผสมรวมกับความเหมาะสม แล้วสร้างบรรยากาศที่ทำให้รู้สึกเป็นตัวเองได้มากที่สุด

เพลย์ลิสต์แรก : ปรับแปลนบ้าน

คุณเอวาเล่าเท้าความถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะเข้ามาอยู่บ้านหลังนี้ให้ฟังว่า เธอเป็นสาวออฟฟิศที่ทำงานประจำ สะดวกกับการอยู่คอนโดมิเนียม โดยระหว่างนั้นซื้อบ้านในโครงการนี้เก็บไว้ และเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มขึ้นโครงสร้าง เพราะคิดว่าทำให้เสร็จตั้งแต่แรกน่าจะดีกว่าการเข้ามาอยู่แล้วทำในภายหลัง “เราเห็นแปลนบ้านก่อนจะเริ่มสร้างก็เลยขอปรับ เหมือนซื้อบ้านสำเร็จรูปที่เราสามารถออกแบบได้เองในตัว ขอเปลี่ยนตั้งแต่แบบ ตำแหน่งตัวบ้าน จากที่อยู่ตรงกลางก็ร่นไปด้านหลัง เพราะบ้านส่วนใหญ่ที่เห็นมักจะวางไว้ตรงกลางทำให้ใช้ประโยชน์ได้น้อย แต่พอขยับตำแหน่งแล้วทำให้เราได้หน้าบ้านที่กว้างและมีสเปซมากขึ้น”

นอกจากแบบบ้าน ตำแหน่ง ไล่เรียงมาถึงหน้าต่างที่ถูกปรับขนาดเป็นบานใหญ่เพื่อเปิดรับแสงแดดได้มากขึ้น ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่ง Pain Point ที่คุณเอวานำมาปรับใช้จากบ้านเก่า เพราะอยากให้บรรยากาศภายในบ้านสว่างได้รับแสงตลอดวัน รวมถึงขยายขนาดประตูเพื่อให้ตรงตามหลักฮวงจุ้ย หรือแม้แต่ลวดลายของกระเบื้องก็เป็นอีกองค์ประกอบที่คุณเอวาให้ความสำคัญและอยากเลือกลวดลายเอง

เธออธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับดีไซน์ของพื้นภายในบ้านว่ามีหลากหลายแนว เปรียบเทียบเหมือนชีวิตของตัวเองในแต่ละช่วงจังหวะที่ชอบและกำลังอินกับอะไร รู้สึกอย่างไรในช่วงเวลานั้น กระเบื้องพื้นเรียบๆ จึงกลายเป็นตัวเลือกหลัก “เรารู้สึกว่ากระเบื้องคือมู้ดแอนด์โทนของบ้าน ตอนนั้นที่ทำบ้านหลังนี้เทรนด์การแต่งบ้านแนวลอฟต์กำลังได้รับความนิยม เลยเลือกเป็นกระเบื้องโทนสีเทา เรียบๆ ลวดลายน้อย สามารถดูแลรักษาได้ง่าย”

เพลย์ลิสต์สอง : บ้านบำบัด

จุดที่ทำให้ชีวิตของคุณเอวาพลิกผันไม่ต่างจากคนอื่นๆ ก็คือช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนอยู่บ้านกันมากขึ้น แต่นอกจากการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวแล้วเธอยังป่วยหนัก จึงต้องอยู่ในบ้านมากขึ้นเช่นกัน “ในช่วงที่ป่วยสิ่งที่ดึงเราออกจากความทุกข์และความรู้สึกไม่โอเคคือ การที่ได้มาอยู่กับการแต่งบ้าน อยู่กับต้นไม้ อย่างตอนพักรักษาตัวจะไปนอนตรงโซฟา เพราะตอนเช้าแดดส่องเข้ามาตรงห้องนั่งเล่นพอดี มันทำให้เราเพลินกับการได้นอนดูต้นไม้ เปิดเพลงฟัง เหมือนบ้านช่วยบำบัดเราด้วยในทางหนึ่งตอนนั้นเริ่มสังเกตตัวเองว่าน่าจะชอบการแต่งบ้านตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะคุณแม่ซื้อนิตยสารมาเราก็ชอบดู แล้วทุกวันอาทิตย์เขาจะพาไปร้านเฟอร์นิเจอร์ที่มาบุญครอง เราก็จะจินตนาการและรู้สึกมีความสุขที่ได้ไปอยู่ในนั้น ทำให้เราค่อยๆ ซึมซับสิ่งเหล่านั้นมา พอมีบ้านเป็นของตัวเองมันคือพื้นที่ที่ทำให้เราได้ใส่ทุกอย่างที่ชอบลงไป”

เพลย์ลิสต์สาม : ความเป็นตัวตน

ในทุกๆ ส่วนประกอบกว่าจะกลายเป็นมวลรวมของความสุขก้อนใหญ่ เกิดจากจุดเล็กๆ มาปะติดปะต่อเข้ากัน รายละเอียดของการตกแต่งภายในบ้านหลังนี้ก็เป็นเช่นนั้น ผ้าลูกไม้ ผ้าลายสกอต ผ้าลายทาง งานคราฟต์ งานหวาย เฟอร์นิเจอร์ แฝงอะไรบางอย่างไว้ค่อนข้างชัดเจน “เราผูกพันกับงานคราฟต์และผ้ามากๆ เพราะคุณแม่เป็นช่างเย็บผ้า จะซื้อผ้าแล้วนำมาประยุกต์ให้คุณแม่ช่วยเย็บ โดยจะหยอดเอางานผ้าพวกนี้นำไปตกแต่งบ้านในบางมุม รวมทั้งดีไซน์ที่เป็นงานแฮนด์เมดบางอย่าง เช่น โคมไฟหวายเหนือไอส์แลนด์

“เคาน์เตอร์ครัวเลือกเป็นหินอ่อนก็เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไปประชุมงานกับเพื่อนที่ร้าน Dean & Deluca ที่ตึกมหานครซึ่งวัสดุเป็นหินอ่อน เราไปทุกศุกร์รู้สึกว่ามันสวย แล้วช่วงนั้นกำลังสร้างบ้านพอดีเราก็อยากจะมีเจ้าสิ่งนี้มาไว้ในบ้านก็ทำให้เรานึกถึงความทรงจำในตอนนั้น

“โต๊ะกินข้าวเป็นแบบที่ชอบ ซึ่งจริงๆ มันคือโต๊ะข้าวมันไก่ เราเอาแบบมาปรับประยุกต์อีกที สั่งร้านที่เขาทำโต๊ะข้าวมันไก่โดยเฉพาะ โดยบอกว่าขอโต๊ะดีไซน์ทรงกลมๆ ดูมนๆ โค้งประมาณไหนก็วาดให้เขาดูเลย ดีไซน์ขาโต๊ะขอแค่สองขาก็พอจะได้ดูทันสมัยขึ้นหน่อย ส่วนเก้าอี้ก็เลือกคละแบบมาไม่เหมือนกันเลย

“เอยังชอบดูไอเดียการแต่งบ้านจาก IG เราจะแยกความชอบออกมา ในภาพๆ หนึ่งเราชอบอะไรบ้าง ชอบสีโทนนี้ ชอบขาเฟอร์นิเจอร์ แยก Element ต่างๆ ออกมาแล้วทำเป็นสไตล์ที่ชอบ เพื่อนมักจะบอกเสมอว่าสิ่งที่เราคัดมาอยู่ในบ้านหลังนี้มันคือสไตล์เรา อย่างตู้ที่สั่งทำขาด้านล่างก็เลือกเป็นทรงกลมๆ มันอาจจะดูไม่เข้ากับดีไซน์ตู้ แต่น่ารักดี เราไปเห็นขากลมๆ แบบนี้ตอนไปนอนในโรงแรมแห่งหนึ่งที่ฮ่องกง เป็นการรีมายด์ถึงโรงแรมนั้นมาอยู่ในบ้าน ซึ่งเราเก็บเกี่ยวรายละเอียดอะไรเหล่านี้มาจากสถานที่ที่เราไปเจอ”

เพลย์ลิสต์สี่ : ฟังก์ชันภายใน

พื้นที่ใช้สอยภายในเป็น Open Space ที่เชื่อมการใช้งานตั้งแต่ห้องนั่งเล่นอยู่ทางด้านซ้าย โต๊ะกินข้าวอยู่ทางด้านขวา ลึกเข้าไปด้านในเป็นครัวเปิด แต่หากต้องการกั้นพื้นที่ก็สามารถเลื่อนประตูเปิดปิดได้ “ฟังก์ชันครัวเป็นตำแหน่งเดิม แต่เราออกแบบให้มีไอส์แลนด์เพิ่มขึ้น นอกจากจะเป็นแพนทรีแล้ว อีกมุมยังทำเป็นบาร์วางเก้าอี้สตูลให้นั่งสอดขา สามารถกินอะไรเบาๆ ในตอนเช้า

“ตอนย้ายมาอยู่ใหม่ๆ โต๊ะกินข้าวไม่ได้อยู่ตรงนี้ เราขยับจากซอกเล็กๆ ในห้องครัวย้ายมาใกล้กับห้องนั่งเล่น เพราะเวลาเรากินข้าวมักจะดูทีวีไปด้วย มันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามไลฟ์สไตล์เมื่อได้เข้ามาใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านจริงๆ อีกอย่างย้ายมุมบ่อยมาก เพราะฉะนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวมากกว่า ถ้าไม่จำเป็นเราจะไม่บิลต์อินเลย ถ้าทำต้องมั่นใจแล้วว่าเราจะฟิกซ์ตำแหน่งไว้ตรงนี้

“ส่วนครัวเป็นโครงสร้างปูนซึ่งรองรับการทำอาหารได้ แต่ถ้าเป็นอาหารหนักๆ จะมูฟไปทำข้างบ้าน ครัวนี้เลยรองรับสำหรับการอุ่นอาหารหรือไม่ก็ทำมื้อเช้าง่ายๆ แต่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้บ่อยที่สุดเลยคือเครื่องทำกาแฟ เราออกแบบให้มีมุมสำหรับชงกาแฟเอาไว้โดยเฉพาะด้วย”

เพลย์ลิสต์ห้า : บรรยากาศภายในผสมผสาน  

ห้องครัวเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่คุณเอวาพยายามดึงความชอบของตัวเองออกมาด้วยการดีไซน์ให้มีความหลากหลาย มุมหนึ่งดูอบอุ่นในแบบญี่ปุ่น แต่หากมองอีกมุมก็กลายเป็นโมเดิร์นแบบฝรั่ง “เอว่าสีผนังเป็นสิ่งที่สร้างบรรยากาศภายในบ้านได้ เราทำสีของผนังครัวให้มีความแตกต่างกัน ผนังด้านหนึ่งเป็นกระเบื้องโมเสกสีดำ ผนังด้านหนึ่งเป็นหินอ่อนสีขาว อาจเป็นเพราะเราขี้เบื่อ แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นความชอบของเรา ถ้ามองครัวจุดหนึ่งก็สไตล์หนึ่ง ส่วนอีกจุดหนึ่งกลับเป็นอีกสไตล์

“ส่วนหลังคาด้านหน้าที่ต่อเติมใหม่ตรงโรงรถไม่ใช่สไตล์เราเลย แต่ถูกบังคับเพราะคุณพ่ออยากให้ทำ เราเลยขอเขาว่าไม่สร้างหลังคาเต็มพื้นที่ เพราะยังอยากได้แสง อยากอยู่ในบ้านที่มีอากาศถ่ายเท”

เพลย์ลิสต์หก : ความไม่เข้าคือความเข้ากัน

“ด้วยความที่บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังแรกของเรา คุณพ่อคุณแม่เขาจะช่วยออกไอเดียแล้วก็แนะนำการเลือกพัดลม ซึ่งเราอยากได้พัดลมที่มีดีไซน์สวย แต่เขาจะมองว่าดีไซน์สวยแต่ฟังก์ชันมันไม่ได้ หลังจากที่ได้มารู้สึกขัดใจมาก แต่ไปๆ มาๆ มันกลายเป็นสีสันให้บ้าน ทั้งปุ่มเปิดปิดพัดลม หรือแม้แต่ดีไซน์ซึ่งมันเป็นรูปแบบพัดลมโบราณที่เคยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ อีกอย่างฟังก์ชันดีด้วย”

เพลย์ลิสต์เจ็ด : Choki คือมายไอดอล

“ในช่วงที่แต่งบ้านมีกำหนดโทนสีอยู่เหมือนกันนะคะ ทุกอย่างจะต้องคุมโทนจะต้องเข้ากัน แต่เราเริ่มรู้สึกไม่แฮปปี้ เพราะอย่างเวลาเลือกของบางทีสีที่คุมโทนบ้านไม่ใช่สิ่งที่เราชอบที่สุด

“เอเคยดูยูทูบของบ้านคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อ Choki เป็นคลิปที่ไม่มีเสียงพูดบรรยาย มีเพียงแค่ผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในบ้านชอบทำอาหาร เป็นฟรีแลนซ์ เล่นกับแมว ดูเขาเป็นคนพิถีพิถันในการเลือกของก็เลยได้เขาเป็นแรงบันดาลใจ เขาแต่งบ้านน่ารักมากเลย ไม่รู้ว่าสไตล์อะไร แต่พอเห็นเรารู้เลยว่าเป็นแนวของเขา เขาบอกว่าเทคนิคในการแต่งบ้านสำหรับเขาไม่ได้คำนึงว่าจะเข้ากันหรือไม่ แค่สะสมสิ่งที่ชอบและเป็นตัวเขานำมารวมกัน แล้วจะมีที่ของมันเอง เชื่อไหมว่าสิ่งนี้มันปลดล็อกเอเลย ไม่จำเป็นว่าจะต้องสีเดียวกัน เทาหมด ขาวหมด แค่เห็นแล้วรู้สึกเราชอบ เพราะสุดท้ายแล้วคนที่อยู่บ้านมากที่สุดคือเรา ไม่จำเป็นต้องกำหนดสไตล์ การกำหนดสไตล์ทำให้เราเครียด แต่กลายเป็นว่าพอได้ฟังคลิปกลับปลดล็อก ไม่เห็นต้องสไตล์ไหนเลย แค่เลือกสิ่งที่เราชอบแล้วเข้ากับไลฟ์สไตล์ของเราก็พอ”

เพลย์ลิสต์แปด: เรียนรู้เรื่องต้นไม้

“พื้นที่สวนด้านนอกออกแบบเอง ค่อยๆ มาทีละส่วน เราปลูกต้นไม้ไม่เป็นแต่รู้ว่าอยากได้ต้นไม้แบบไหนก็จะวาดรูปใส่กระดาษแล้วไปหาตามร้านต้นไม้ เราให้โจทย์เขาว่าชอบดอกสีอะไร ชอบดอกไม้สีขาว สีฟ้า ต้นกระดิ่งนางฟ้า แก้วเจ้าจอม แต่บ้านเราหันหน้าทางทิศเหนือ เพราะฉะนั้นดอกก็จะไม่ออก เพราะไม่มีแดด ทำให้เราค่อยๆ เรียนรู้ว่าต้นไหนชอบแดด ไม่ชอบแดด

“พยายามทำพื้นที่นั่งเล่นในสวนให้มีหลายมุม นำตั่งจากบ้านคุณแม่มาทำเบาะเพิ่มกลายเป็นที่นั่งในสวน หรืออย่างเก้าอี้หวายก็ยกมาจากคอนโดฯ เฟอร์นิเจอร์บางอย่างเป็นของที่มีอยู่แล้วก็นำมาตกแต่ง ทำบ้านให้มีที่นั่งหลายๆ มุมมันก็ไม่น่าเบื่อ เพราะช่วงที่ป่วยออกไปไหนไม่ค่อยได้ ต้องรักษาตัว บ้านก็เหมือนเป็นคาเฟ่ส่วนตัว แล้วก็เอนจอยกับการมีบ้านมากๆ”

เพลย์ลิสต์เก้า : ติดบ้าน

“เคยได้ยินไหมที่เขาพูดกันเรื่องกรุงเทพฯ น้ำจะท่วม ถ้าน้ำท่วม แล้วท่วมบ้าน ไม่มีบ้านแล้วเราเครียดเลย จับความรู้สึกตอนนั้นได้ว่า บ้านหลังนี้คือชีวิตเราเลย ก่อนหน้านั้นไปเที่ยวกับเพื่อนบ่อย แต่พอป่วยก็เที่ยวน้อยลง เวลาไปนอนที่อื่นจะคิดถึงบ้าน ไม่ว่าโรงแรมนั้นจะสวยขนาดไหน แต่สุดท้ายเราคิดถึงเตียงนอน คิดถึงบ้านเรามากกว่า อยากอยู่บ้านมากกว่า กลายเป็นคนติดบ้านไปแล้ว สำหรับเอบ้านมันคือโลกของเรา ถ้าเจอปัญหาอะไรก็ตามจากภายนอก เราอยากหลบมุมอยู่ในที่ของตัวเองเพราะมันเป็นเซฟโซนของเรา”

เพลย์ลิสต์สิบ: My Home, My Playlist

“แสงแดดเคลื่อนที่ไปรอบๆ จะได้มู้ดที่เปลี่ยนช่วงเวลาไปเรื่อยๆ เราได้เงาจากต้นไม้อยู่ในห้องนั่งเล่นในช่วงปลายปี โดยไม่ต้องหาวอลเปเปอร์มาติด ถึงแม้หน้าอื่นๆ จะไม่มีก็ไม่เป็นไร มันเหมือนช่วงชีวิตการเปลี่ยนแปลงของบ้านในแต่ละฤดู  

“เราเริ่มใช้ชีวิตแบบธรรมดาและเรียบง่าย สมัยก่อนอาจจะต้องไปคาเฟ่ ต้องเคลื่อนตัวไปตามกระแส การเสพอะไรเยอะๆ อาจจะทำให้เราเหนื่อย ถ้าได้เลือกในสิ่งที่ชอบและอยู่ในจุดของเรา ตรงกลางมันคือความพอดี ฉะนั้นไม่จำเป็นต้องวิ่งตาม ตอนนี้มีความสุขที่ได้อยู่บ้านแล้วเราก็เริ่มทำ TikTok ของตัวเอง (JAYAIE: เจ๊เอชอบแต่งบ้าน) นอกจากการแชร์ไอเดียแต่งบ้านแล้วเหมือนเราขยายความสุขให้คนอื่นๆ ได้ดูเป็นไอเดียด้วย”

เจ้าของบ้านหลังนี้เลือกสรรองค์ประกอบต่างๆ อย่างพิถีพิถัน ทุกอย่างถูกจัดวางอย่างมีจังหวะและมีความหมาย สะท้อนถึงรสนิยมและอารมณ์ที่ต้องการสื่อสาร ช่วยเล่าเรื่องราวและตัวตนได้เป็นอย่างดี ไม่ต่างจากการสร้างเพลย์ลิสต์ส่วนตัวที่ได้รับการคัดสรรแล้วนำมาร้อยเรียงอยู่ภายในบ้านหลังนี้

wassukon

wassukon

ไม่ได้จบโดยตรงด้านออกแบบ แต่ฝันอยากเป็นสถาปนิกแล้วโลกก็เหวี่ยงให้มาเขียนงานด้านออกแบบเป็นสิบปี ตอนนี้เลยมีโลกส่วนครัวมากกว่าโลกส่วนตัวไปแล้ว