Design Kitchen & Home

Qualy งานออกแบบผสานความยั่งยืน ที่ไม่ใช่แค่รักษ์โลก


Butterfly Effect ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีกที่ตีความถึงผีเสื้อกระพือปีกกับแนวคิดที่ว่า เรื่องเล็กในบางโอกาสก็อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต เช่น การที่ผีเสื้อตัวเล็กกระพือปีกในที่หนึ่ง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศจนเป็นพายุใหญ่ขึ้นมาได้และนี่คือสิ่งที่คุณไจ๋-ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ Design Director และผู้ก่อตั้งแบรนด์ Qualy ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ของคนไทยแต่ดังไกลในระดับสากล เป็นผู้จุดประกายการกระพือปีกผีเสื้อจนเกิดเป็นความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งในวงการออกแบบ รวมถึงหน่วยงานภาคสังคมอื่นๆ มาร่วมสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม สนับสนุนแนวคิดด้านความยั่งยืน โดยใช้การออกแบบเป็นหนึ่งในช่องทางที่ช่วยลดปริมาณขยะเหลือทิ้งบนโลก และส่งเสียงขับเคลื่อนออกไปให้ผู้คนได้รับรู้และไม่ละเลย สร้างผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบควบคู่กันไป

การเดินทางของแบรนด์กับการเพิ่มมูลค่าด้วยความคิดสร้างสรรค์

เป็นระยะเวลาร่วม 20 ปีของแบรนด์ Qualy กับการทำงานเพื่อสร้างสรรค์ พลิกโฉมงานดีไซน์ เพิ่มคุณค่างานออกแบบด้วยรูปลักษณ์ รูปทรง และฟังก์ชันจนมาสู่การออกแบบเพื่อความยั่งยืน

“จุดเริ่มต้นของ Qualy ไม่ได้ทำเรื่อง Sustainability แต่เน้นความคิดสร้างสรรค์ที่นำเสนอโซลูชันใหม่ๆ ให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการใช้งาน หรือการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สะดวกสบายมากขึ้น และเราก็ให้ความหมายในงานออกแบบที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ของที่มีฟังก์ชันดีสามารถเป็นของที่เล่าเรื่องได้ มีรูปทรงใช้เป็นของตกแต่งได้ด้วย ซึ่งคำว่าดีไซน์ มีความหมายกว้าง ฟังก์ชันก็เป็นดีไซน์ ใช้สะดวก มีกิมมิก ตอนไม่ใช้วางไว้ก็เป็นของตกแต่งได้

สังเกตว่างานของ Qualy แต่ละชิ้นมีฟังก์ชันที่สามารถนำไปจัดวาง แขวน หรือช่วยสร้างบรรยากาศให้กับห้อง นี่คือความหมายที่เราเพิ่มเข้าไปในดีไซน์ ส่วนการเล่าเรื่องเราก็เอาความหมายของรูปทรงมาใช้สื่อสารเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง นอกเหนือจากวางเอาไว้สวยๆ ซึ่งตอนนี้มันเลยเรื่องฟังก์ชันมาไกลแล้ว พอมีความหมายมันก็เป็นการเล่าเรื่องขายสตอรี อันนี้เลยเป็นพื้นที่ฐานที่เรามองว่าความสร้างสรรค์สามารถทำให้ทรัพยากรชุดหนึ่งถูกใช้อย่างคุ้มค่าในหลายๆ มิติ”

โปรดักต์ดีไซน์กับแนวคิด Sustainability 

จากความภูมิในใจวิธีคิดของเรา พอถึงยุคที่ธุรกิจเกี่ยวกับพลาสติกถูกมองว่าเป็นตัวร้าย เราจึงกลับมาคิดว่าเราก็มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาของโลกส่วนหนึ่ง ทำให้ต้องกลับมามองหาทางออก วิธีการที่จะสร้างสรรค์ต่อไปเป็นอย่างไร สิ่งที่เรามีทั้งไอเดีย โรงงาน จะสามารถพลิกกลับมาเป็นคนที่แก้ปัญหาได้ไหม จึงมามองว่าจุดอ่อนที่ยังขาดอยู่คือเรื่องของที่วันหนึ่งใช้งานจนหมดอายุไปอาจถูกทิ้งให้เป็นปัญหาได้ ภาพลักษณ์ของพลาสติกที่ถูกมองในด้านลบ ซึ่งคนที่กำหนดได้ระดับหนึ่งคือนักออกแบบ เพราะอยู่ในขั้นตอนก่อนหน้าการผลิต ก่อนหน้าผู้บริโภค เราจึงต้องคิดว่าของสิ่งนั้นจะไปไหนต่อ เลยกลับมาที่เรื่องวัสดุ เดิมเราเป็นหนึ่งในคนที่นำทรัพยากรมาใช้ ทำอย่างไรถึงตัดวงจรตรงนี้ออกให้มากที่สุด รบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด มันเลยกลายเป็นการหมุนเวียน นำสิ่งที่คนเลิกใช้แล้วกลับมาเป็นทรัพยากร อย่างแรกเป็นการลดเอาทรัพยากรใหม่ๆ มาใช้ เพราะธรรมชาติต้องการเวลาในการฟื้นตัว อย่างที่สอง ช่วยลดปริมาณขยะโดยเอามาหมุนเวียน แต่วิธีการออกแบบถึงแม้จะได้เป็นขยะ แต่ก็ยังคงมาตรฐานการคิดว่าจะทำอย่างไรให้คุณค่าในเรื่องฟังก์ชัน ความงาม สตอรีที่ยังคงอยู่ โดยการอัปไซเคิลขยะหรือวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วมาผลิตให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่าและใช้ประโยชน์ได้ นี่จึงเป็นแนวคิดมาถึงปัจจุบัน  

ร่วมด้วยช่วยกันเปลี่ยนโลก 

เราตระหนักดีว่าพลังของเราอย่างเดียวไม่อิมแพกต์พอสำหรับเรื่องใหญ่ๆ อย่างเรื่องความยั่งยืน การร่วมมือกันจะช่วยให้เกิดภาพที่ใหญ่ขึ้น สื่อสารได้เร็วขึ้น และสร้างอิมแพกต์ได้มากขึ้น ดังนั้นจึงมีการร่วมมือกันระหว่างคนที่ทำงานแนวเดียวกัน หรือมีแนวคิดที่คล้ายกัน อย่างกิจกรรมล่าสุดที่ทำคือการมีเอ็กซิบิชันพร้อมกับขายของ โดยที่รวบรวมคนที่มีแนวคิดด้าน Sustainability ในมุมมองต่างๆ มารวมกัน เพราะเวลาที่คนมาซื้อ เยี่ยมชมก็จะเห็นความยั่งยืนได้ในหลายรูปแบบ

ขณะเดียวกันการเข้าไปร่วมกับคนที่อยู่นอกวงการออกแบบก็เป็นเรื่องสำคัญ เป็นพาร์ตเนอร์ที่ดูแลด้านความยั่งยืนในมุมมองต่างๆ เช่น พวกที่ดูแลขยะพลาสติก ที่สนใจเรื่องประมง เครื่องมือประมง แหอวนเครื่องมือจับปลา เรื่องอนุรักษ์สัตว์น้ำ ก็เป็นมุมมองหนึ่งในการทำงานร่วมกันที่จะช่วยสื่อสาร สร้างให้เกิดอิมแพกต์ เช่น ถ้านำขยะจากประมงมาออกแบบเป็นประเภทสัตว์น้ำที่เขาอนุรักษ์อยู่ ตรงนี้คือการเชื่อมโยงทั้งรีไซเคิลและสตอรี อย่างการออกแบบที่รองแก้วเต่าทะเล มันก็จะเกี่ยวกับฟังก์ชัน เกี่ยวกับน้ำ เกี่ยวกับพลาสติก เราบอกว่าเต่ามีวัสดุ 3 อย่างที่เกี่ยวข้อง เรื่องประมงก็มีแหที่ไปพันกับสัตว์ที่ไม่ได้ตั้งใจประมงแต่ติดมา ที่เรียกว่าสัตว์น้ำพลอยได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเต่า ดังนั้นเวลาที่พูดถึงเรื่องประมงจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว หรือของที่ทิ้งลงไปอย่างถุงพลาสติก ขวด พวกเราก็มีส่วนร่วม เพราะมันลงไปเองไม่ได้ และนี่คือการเชื่อมไปสู่งานดีไซน์

ฉะนั้นการออกแบบงานหลายๆ ชิ้นเราให้สตอรีทำงาน เป็นการสร้างความจดจำโดยส่งผ่านงานดีไซน์ที่เข้าใจง่าย ผ่านคู่คอลแลบของเราหลายๆ ที่ ด้วยความคิดที่แตกต่าง เวลาร่วมงานกันก็จะมีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น บางทีการปลดล็อกข้อจำกัดบางอย่างก็ทำให้ไอเดียกว้างขึ้น

ดีไซน์สร้างสรรค์ที่ช่วยสังคมหลากหลายมิติ  

ที่ผ่านมา Qualy ได้สร้างสรรค์งานดีไซน์รักษ์โลกออกมาหลากหลายมิติ จากวัสดุรีไซเคิลที่เป็นของใช้ไลฟ์สไตล์ เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน เกม และอุปกรณ์สื่อการสอนที่ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ โดยมีเป้าหมายทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร สังคม สุขภาพ และความเท่าเทียม

ในปีนี้มีผลงานออกแบบที่คว้ารางวัลออกแบบยอดเยี่ยม DEmark Award 2024 ไม่ว่าจะเป็น Tactile Cube รูบิกที่ออกแบบตามแนวคิด Universal Design สามารถเล่นได้ทั้งคนปกติและผู้พิการทางสายตา ดีไซน์ได้แรงบันดาลใจมาจากเบรลล์บล็อก (Braille Block) สัญลักษณ์นำทางของผู้พิการทางสายตาทั่วโลก มาออกแบบใส่ไอเดียที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เกมนี้ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ABS ซึ่งมีความแข็งแรงอย่างยั่งยืน สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ 100%

Land Game จิ๊กซอว์ที่ได้แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากผิวสนามหญ้าเขียวขจี สามารถเล่นได้ทั้งแบบจิ๊กซอว์และแบบเลื่อนบล็อก ใต้ชิ้นจิ๊กซอว์มีตัวเลขปกติและตัวเลขอักษรเบรลล์เป็นตัวเฉลยเรียงผิดหรือเรียงถูก ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล PP เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Waste War บอร์ดเกมแยกขยะที่ Qualy ร่วมกับ Konggreengreen ออกแบบพัฒนาเรื่องการแยกขยะให้เป็นสื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ช่วยให้ผู้คนได้ความรู้พื้นฐานในการคัดแยกขยะแต่ละประเภทเพื่อส่งไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ผ่านรูปแบบเกมการ์ดที่ทำให้เรื่องการแยกขยะเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย และยังได้ฝึกทักษะในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบอีกด้วย

หุ่นชีวินที่พลิกโฉมอุปกรณ์การสอนทำ CPR ที่พกพาไปได้ทุกที่ ผลงานชิ้นนี้ Qualy ร่วมพัฒนากับ Siriraj Emergency Medicine (SiEMS) ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นสื่อการสอนสำหรับการทำ CPR ที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนชุดอุปกรณ์ฝึกสอน CPR ที่มีราคาสูง และขาดตลาด นอกจากนี้ยังมีผลงาน Re-Up Collection โคมไฟจากพลาสติก PP หรือกล่องอาหารใช้แล้ว และกากกาแฟ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ Qualy, TAKE HOME DESIGN และ Less Plastic Thailand,Peekaboo Bag กระเป๋าปิ่นโตที่ออกแบบมาเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์Smooth Collection ชุดของแต่งบ้านหลากหลายฟังก์ชันที่ใช้ชิ้นส่วนเดียวกันในการออกแบบ

ก้าวย่างอย่างมีคุณภาพของ Qualy  

ในอนาคตเราอยากให้คนรู้จัก Qualy ในฐานะผู้สร้างสรรค์ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนที่ไม่ได้ยึดอยู่กับของหรือรูปทรง ต่อไปถ้าพูดถึงไอเดียบางอย่างขึ้นมา คนก็จะนึกถึงวิธีคิดแบบนี้ที่เป็นของเรา ภาพจำจะไม่ใช่พลาสติกแล้ว เพราะสิ่งสำคัญของแบรนด์เราไม่ใช่ตัววัตถุดิบ แต่เป็นเรื่องของความคิด ซึ่งเรายังคาดหวังว่าจะมีกลุ่มคนมาร่วมมือกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่สามารถใช้ไอเดียในการแก้ปัญหาขยะหลากหลายประเภท หรือจากประสบการณ์ที่ไปคอลแลบกับคนที่ทำวัสดุอื่นๆ เราก็จะเอาแนวคิดเรื่องการอัปไซเคิลนำไปใช้กับวัสดุแบบอื่นด้วย ซึ่งในอนาคตการร่วมมือกันต้องมีโซเชียลอิมแพกต์ที่มากขึ้นเช่นกัน   

https://www.facebook.com/qualydesign
https://qualydesign.com/thailand


You Might Also Like...