Design Kitchen & Home

เปิดโลกงานศิลป์ของบ้านศิลปิน-ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ


เนื่องในปีนี้เป็นมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ได้ทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนมาอย่างยาวนาน ผมในฐานะจิตรกรคนหนึ่งรู้สึกเป็นเกียรติสูงสุดแห่งชีวิตที่ได้มีโอกาสวาดภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระองค์ท่าน เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติกับพี่น้องประชาชนชาวไทย และกองบรรณาธิการนิตยสาร Kitchen & Home

ผมเชื่อว่าการวาดภาพรอยัลพอร์เทรตเป็นมากกว่าผลงานศิลปะ เพราะสามารถส่งต่อความรัก ความหวังและกำลังใจให้กับตัวผมและคนรอบข้าง พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแสงสว่างแห่งแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ คืนสู่สังคม ริเริ่มโครงการเล็กๆ ด้านทุนการศึกษา ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือผู้ป่วยที่กำลังประสบปัญหาให้ผ่านพ้นความยากลำบากในชีวิตได้ โดยผมได้รับคำปรึกษาและแรงบันดาลใจจากคุณพุฒิพงศ์-คุณเด่นนภา ปราสาททองโอสถ รวมถึงการสนับสนุนจากผู้ใหญ่และครูอาจารย์ที่มีความกรุณาต่อผมในการริเริ่มโปรเจ็กต์นี้

ผมเตรียมการวาดพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการค้นหาข้อมูลพระบรมฉายาลักษณ์จากหนังสือและพระบรมรูปถ่ายตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จนผมได้กรอบไม้โบราณปี 1910 American Boston School Frame จากอเมริกาซึ่งเป็นกรอบศิลปะสะสมที่ผมรักมากที่สุด เป็นไม้แกะสลักทั้งชิ้นและปิดทองสง่างามมากๆ ครับ ผมสั่งผลิต Frame Border ไม้ Birch หนา 3 มิลลิเมตรเจาะ วงรีปิดทองและกำลังเตรียมปั้นลายดอกรวงผึ้งประดับกรอบด้วยตนเอง ผมใช้ขั้นตอนกรรมวิธีรองพื้นหลายชั้นบนแผ่นไม้ และวาดด้วยเทคนิคโอลด์มาสเตอร์เลเยอร์ชั้นสี โดยตั้งใจสร้างสรรค์อย่างสุดฝีมือด้วยคุณภาพต้องเทียบได้กับผลงานที่ผมได้ศึกษาจากศิลปินระดับโลกในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศ ดั่งคำสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนความหมายแห่งชีวิตให้ศิลปินตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นมาสเตอร์พีซของตน

อาร์ตทิสต์สตูดิโอย่อมบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ตัวตนเส้นทางการทำงานศิลปะของศิลปินท่านนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี  ผมรักในงานศิลปะ ชอบไปมิวเซียมดูศิลปะอารยธรรมต่างๆ ของโลกใบนี้ เหมือนเราให้ศิลปะค่อยๆ ซึมซับ หลอมรวม ผ่านกาลเวลา การเดินทาง โชคชะตา จนตกผลึกด้วยตัวของมันเอง ผมสนใจงานศิลปะด้านพอร์เทรตและฟิกเกอเรทีฟ ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านลึกที่นิวยอร์กจนมีโอกาสได้เข้าไปฝังตัวอยู่ในมิวเซียมที่ต่างประเทศเป็นระยะเวลายาวนาน เวลาผมเดินชื่นชมผลงานเพนต์ติงมักจะชอบดูกรอบรูปของงานชิ้นนั้นๆ ไปด้วย

ส่วนผลงานประติมากรรมก็จะดูฐานวางการติดตั้งการจัดแสงไลต์ติงไปพร้อมกัน ส่วนในห้องเฟอร์นิเจอร์ยุคต่างๆ ดูดีไซน์การลงฟินิชชิงของไม้ ตลอดจนแจกันเซรามิกโบราณกับการเคลือบเทคนิคพิเศษที่อาจจะไม่สามารถทำได้แล้วในยุคปัจจุบัน ผมหลงใหลในการที่ได้ยืนอยู่ในที่รวบรวมผลงานศิลปะวัตถุอันเป็นที่สุดของโลกที่ได้รับการควอลิไฟด์แล้วจากพิพิธภัณฑ์

ที่นิวยอร์กผมได้ยินคำว่า Museum Quality อยู่บ่อยครั้งไม่ว่าในสถาบันศิลปะ มิวเซียม แกลเลอรี ร้านกรอบรูป คงเป็นความแตกต่าง เหมือนกับอาร์ตทิสต์เกรดที่อยู่ในสี พู่กัน ผ้าใบ กระดาษ วัสดุต่างๆ ฯลฯ หรือเปรียบเทียบในอีกแง่มุมถ้าเป็น Gemstone อัญมณี ก็คงเป็นความแรร์หายาก มีความพิเศษทั้งสี ความบริสุทธิ์ ขนาด ของอัญมณีที่มีความเฉียบ เฉกเช่นเพชรที่ประดับอยู่บนยอดมงกุฎ ที่มีประวัติความเป็นมาอันล้ำลึกสามารถสะกดคนให้หยุดยืนชมในพิพิธภัณฑ์โดยปราศจากคำพูด บรรยากาศจากมิวเซียม และความเข้มข้นในห้องทำงานศิลปะอย่างอเทลิเย่ที่นิวยอร์กเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจและที่มาของสตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้

ภายใต้พื้นที่จำกัดผมต่อเติมพื้นที่ด้านหลังต้องร่นผนังห้องย้ายประตู เพื่อเพิ่มพื้นที่ติดผลงานศิลปะ บวกกับการจัดแสงซึ่งผมให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ทำงานต้องมีช่องแสงธรรมชาติเข้ามามากๆ ผมเพิ่มแสงดาวน์ไลต์ Cool White ที่ตัดกับแสงจากโคมระย้า (Soho Chandelier – White Tea) แสงเหลืองนวลที่ดิมหรี่ความสว่างสามารถเพิ่มความอุ่นของแสงสว่างให้กับพื้นที่ส่วนนี้ได้ ในมุมอื่นๆ ผมยังมีโคมไฟส่องสว่างในจุดต่างๆ

สตูดิโอ พื้นที่ทำงานศิลปะ

มุมสตูดิโอคงเป็นมุมที่สำคัญที่สุดของศิลปินคนทำงานศิลปะ ผมมีขาตั้ง 3 ชุดที่นี่ ชุดแรกเป็นขาตั้ง Mabef ของอิตาลี ผมซื้อที่เบลเยียมและได้ความกรุณาช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ส่งมาทางเรือพร้อมอุปกรณ์สีต่างๆ ตอนได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมัน ซึ่งขาตั้งตัวนี้สามารถขยายไม้รองหลังได้สูงราวสองเมตร ขณะนี้ได้วางประทับด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ขนาดเท่าพระองค์จริงของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่กำลังวาดโครงสีอันเดอร์เพนต์ติง

ส่วนขาตั้งไม้โอ๊ก Ralph Lauren ชุดต่อมามีฟังก์ชันที่พิเศษระบบแมกคานิกฟันเฟืองด้านหลังถอดแบบจากขาตั้งในศตวรรษที่ 19 วางประทับด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโต๊ะข้าง Two-Tiered Table ซึ่งมีเสน่ห์อยู่ในรายละเอียดการฝังอินเลย์ ผลงานของ Émile Gallé ศิลปินและนักออกแบบชื่อดังชาวฝรั่งเศส จาก École de Nancy วางอุปกรณ์สีน้ำมัน พู่กัน หนังสือสำคัญและไอแพดรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการทำงาน

ชุดที่ 3 เป็นขาตั้งไม้มะฮอกกานีสไตล์ Art Nouveau แกะลายโค้งช่อดอกไม้ปิดทอง วางพระบรมรูปวงรีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะพระองค์ท่านยังทรงพระเยาว์ ผมชอบความพลิ้วไหวในงานนวศิลป์ หรือ Art Nouveau นอกจากความคิดที่เฉียบภายใต้การสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ถ้าพิจารณาอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นมิติความงามที่น่าหลงใหลของการผูกร้อยความพลิ้วไหวของเส้น รูปทรง ตลอดจนฝีมือและความประณีตในผลงาน แม้แต่การปั้น การหล่อ ตุ๊กตาบรอนซ์ ศิลปินดีไซเนอร์ตั้งใจกำหนดปริมาตรความความสูง-ต่ำ-หนา-บาง เพื่อให้ผลงานมีความเคลื่อนไหวกระทบเล่นกับแสง ผ่านการใช้ Element เทคนิควิธีการต่างๆ ที่ซับซ้อนแบบไม่บังเอิญและยากจะทำซ้ำในปัจจุบันได้ แม้เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นที่รูปทรงเรียบๆ ก็มีการฉลุอินเลย์ ฝังอินเลย์ลวดลายดอกไม้พรรณพฤกษาด้วยเส้นสายที่อ่อนช้อยและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ตามธรรมชาติด้วยฝีมือ

ผมยังมีเก้าอี้และตู้ Art Nouveau Display Cabinet ปี 1910 ของอังกฤษ ที่มีกระจกโค้งสมบูรณ์ฝังด้วยลายอินเลย์ที่สวยมาก ภายในมีพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์เก่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร-สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้นทรงพระเยาว์ จากฟิล์มต้นที่มีความคมชัดในรายละเอียดมาก ซึ่งผมใช้เป็นข้อมูลที่สำคัญในการวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ เป็นของรักที่ทรงคุณค่าสูงสุดที่ผมสะสม

บนตู้มีผลงานประติมากรรมบรอนซ์ “ทรงโบกพระหัตถ์” ผลงานของอาจารย์ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ผมดีใจมากเมื่ออาร์ตคลอเลคเตอร์ผู้มีใจรักในงานศิลปะมอบประติมากรรมอันงดงามชิ้นนี้มาให้ ผมจึงสั่งฐานหินแกะสลักขึ้นใหม่เพื่อให้ระดับความสูงเหมาะสมกับองศาการมอง ส่วนด้านข้างเป็นประติมากรรมบรอนซ์ผสมงาช้าง อ่อนหวานประณีตโดย Agathon Leonard ประติมากรชาวฝรั่งเศส วางอยู่บนตู้ไม้มีลิ้นชักที่ไว้ใส่อุปกรณ์และสีที่ใช้วาดรูป ผมได้เฟอร์นิเจอร์ รูปปั้น กรอบรูปโบราณ ภาพสีน้ำมันสวยๆ กระถางต้นไม้บางชิ้น เพราะผมชอบไปเดิน Flea Market ตลาดขายของเก่าที่นิวยอร์ก สิ่งของหลายต่อหลายชิ้นในสตูดิโอก็เพิ่งส่งมาทางเรือพร้อมกับหนังสือตำราเรียน อุปกรณ์สีและผลงานศิลปะของผมหลายชิ้น ตามมาทีหลังเมื่อปีก่อนนี้เองครับ

มุมรับแขก โดดเด่นด้วยงานศิลป์

มุมรับแขกตกแต่งกำแพงด้านหลังด้วยผลงานชุดที่ผมวาดตอนเรียนที่นิวยอร์ก ผลงานหนึ่งในนั้นเป็นผลงานชิ้นสรุปวาดขึ้นหลังจากเข้าไปคัดลอกผลงานใน The Met มิวเซียม ทำให้กระบวนการทำงานผมเปลี่ยนพัฒนาโดยไม่รู้ตัว ภาพพอร์เทรตรูปผู้หญิงผมทองเปล่งประกายในบรรยากาศเงาแสงสลัว โดยเพื่อนคลาสเมทมาเป็นแบบให้ ผลงานชิ้นนี้ติดไฟนอลลิสต์ เออาร์ซี ซาลอน การประกวดระดับนานาชาติ อาจารย์ผู้สอนบอกว่าผลงานของผมโซฟิสติเคตมีเสน่ห์มากทั้งความรู้สึกและการให้สี ด้านข้างเป็นผลงานดรออิง Female Anatomy Echorche วาดสดจากนางแบบพร้อมถอดรหัสโครงกระดูกและกล้ามเนื้อภายใน

ผลงานรอบๆ เป็นงานสร้างสรรค์แรงบันดาลใจให้กับผลงานชุด Thesis วาดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนำมาจัดองค์ประกอบวางเรียงให้ลงตัวบนผนัง ด้านล่างเป็นเดย์เบด Malta Daybed-Brown จาก Quattro Design กับหมอนอิงลวดลายต่างๆ เพิ่มสีสันและความอบอุ่นที่ผมได้มาจาก Pottery Barn ช่วงเรียนอยู่ที่นั่น เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งอื่นๆ จาก Authentic Models เช่น โคมไฟ Tripod Floor Lamp, Military Campaign Coffee Table และ Grand Salon Trunk เป็นตู้ไม้มีล้อสีดำที่สามารถพับได้ ใส่อุปกรณ์ทำงานต่างๆ มีความเท่ ไร้ซึ่งกาลเวลา ยังมีเก้าอี้ไม้มะฮอกกานี Art Nouveau อายุร่วมร้อยปี กับเก้าอี้โบราณที่ซื้อสมัยเรียนจากตลาดของเก่ามาวางไว้ด้วย เพราะความชอบงานแกะสลักไม้อันสุดวิจิตรโดยเฉพาะที่วางแขนและขาเก้าอี้

ห้องครัวโมเดิร์นคลาสสิก

ห้องครัว เก้าอี้สตู จาก Restoration Hardware (RH) วินเทจ คลาสสิก รัสติก ผมได้ไปโชว์รูมของเขาที่นิวยอร์กและที่เมืองแพซาดีนา เป็นแบรนด์ที่ประทับใจมานานมากแล้ว นำมาวางคู่กับเคาน์เตอร์บาร์จาก  Pierre Philippe ที่ผมให้ทางบริษัท Classic Chairs เพิ่มลิ้นชักแล้วปูไม้เคาน์เตอร์ทอปเพิ่มขนาดให้เต็มเพื่อประโยชน์ใช้สอย สามารถเป็นไอส์แลนด์ครัวและรับประทานอาหารได้ด้วยครับ

ด้านหลังเป็นชุดครัวแบรนด์ Kvik สีเทาดาร์กเกรย์ A Classic Shaker Style Door รุ่น Rimini จากเดนมาร์ก ภายนอกเรียบๆ โมเดิร์นคลาสสิก แต่อุปกรณ์ครัวภายในทันสมัย สะดวก เหมาะกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันมากครับ ส่วนชุดอุปกรณ์ครัวอื่นๆ ผมเลือกใช้ของ Franke ทั้งหมด โดยเฉพาะซิงก์สเตนเลสขนาดใหญ่ใช้งานได้หลายฟังก์ชันมาก มีถาดแยกสำหรับล้างผักผลไม้ แผ่นรองหั่น อุปกรณ์เสริมมากมาย ส่วนก๊อกน้ำสามารถถอดออกและฉีดล้างได้สะดวก ผนังด้านหลังกรุด้วยหินธรรมชาติ เอ็มพาราโด้ดาร์ก สีน้ำตาลโทนเดียวกับไมโครเวฟ Electrolux และตู้เย็นของ Hitachi ชีวิตผมต้องทำงานอยู่ที่นี่ตลอดเวลา โซนนี้จึงเป็นอีกส่วนที่สำคัญที่ช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น

ถัดมาผมกั้นห้องด้วยบานเลื่อนกระจกอะลูมิเนียมเทาซาฮาร่ากับกระจกเงาสีชา Ash Grey Mirror เพื่อเป็นห้องอเนกประสงค์ที่ใช้เก็บเครื่องซักผ้า เครื่องอบผ้า ถังเก็บน้ำ ปั๊มน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย ไม่ไกลกันมีห้องน้ำชั้นล่างที่ใช้หินธรรมชาติ เอ็มพาราโด้ดาร์กกรุทั้งผนังเช่นกันกับห้องครัว ตกแต่งด้วยโคมไฟเพดานจาก Ralph Lauren เพิ่มบรรยากาศแสงนวลให้กับห้อง

มุมโต๊ะทำงาน Architects Desk

มุมโต๊ะทำงาน Architects Desk ที่บนผนังมีผลงาน After Rembrandt ที่ผมเข้าไปศึกษาคัดลอกจากผลงานชิ้นจริงตลอดหลายเดือนใน The Metropolitan Museum of Art วาดบนแผ่นไม้โดยใช้เทคนิคโบราณ ใส่กรอบไม้แกะทั้งชิ้น Custom Made ตามอย่างเทคนิคโบราณจากร้านเฟรมเก่าในดาวน์ทาวน์ที่ทำกรอบให้มิวเซียมชื่อดังหลายที่ ข้างๆ มีกรอบกระจกโบราณกับลำโพง Marshall และ โคมไฟ Art Nouveau 1903 ของดีไซเนอร์ Edouard Colonna และประติมากรรมบรอนซ์เด็กผู้หญิงชิ้นเล็กๆ ของ Jean Antoine Houdon มีผลงานของประติมากรท่านนี้ในอยู่ใน The Met มิวเซียมเช่นกัน

มุม Library Ladder Bookcase

มุม Library Ladder Bookcase ด้านบนสุดวางประทับ “พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย” โดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ศิลปินแห่งชาติ) เป็นความกรุณาอย่างสูง อาจารย์ท่านเซ็นชื่อกำกับให้ด้านหลังพระพุทธรูป อันเป็นสิ่งสิริมงคลในชีวิตของผม ชั้นนี้วางคู่กับตู้หนังสือใบใหญ่ของ Stephen & Co. ภายในมีโล่รางวัลเกียรติยศ หนังสือศิลปะและหนังสือหายากที่ผมรักและสะสมมาตลอดช่วงชีวิตของผม

มุมทางขึ้นบันได

มุมทางขึ้นบันไดเป็นมุมที่ผมคิดเรื่องการจัดฟังก์ชันพื้นที่อยู่นานเพราะไม่สามารถวางเฟอร์นิเจอร์ที่มีความหนาได้ เพราะมีห้องใต้บันไดอยู่ด้านหลังทำให้พื้นที่จำกัดค่อนข้างมาก ผมจึงสั่งทำตู้เหล็กสีดำมีล้อที่สามารถรับน้ำหนักและเคลื่อนย้ายออกจากห้องใต้บันไดได้ โดยภายในตู้สามารถเก็บเฟรมโบราณที่ผมสะสมตลอดจนอุปกรณ์ช่างอื่นๆ ได้อย่างดี ผนังมุมนี้ยังมีสายเคเบิลทีวีที่วางระบบไว้แล้ว ในที่สุดผมได้เฟรมกรอบไม้และเตาผิงโบราณ สไตล์ Art Nouveau มาคนละปี ซึ่งกระเบื้องเคลือบด้านข้างแตกไป 2 แผ่น เลยให้เพื่อนสไตลิสต์ช่วยดีไซน์ โดยแทรกกระเบื้องสีเขียววางคั่นจังหวะเพิ่มเติมเพื่อให้ลงตัว

เหมือนเป็นความบังเอิญที่เฟรมเตาผิงนี้สามารถวางติดตั้งทีวีกับกระจกไม้วอลนัตแกะสลักลายเถากุหลาบร่วมยุคเดียวกันได้อย่างงดงาม ด้านบนมีต้นไม้เล็กๆ ที่ผมชอบ ต้นคิ้วนาง ยูโฟเบียคนป่า มะพร้าวทะเลทราย ส่วนด้านล่างมีเสน่ห์นางพิมพ์ บัวหินกวีศักดิ์ ฯลฯ กับกระถาง Barbotine Art Nouveau ของ Orchies ฝรั่งเศส ใบใหญ่สีเขียวอ่อนด้านล่างเป็นกระถางของ McCoy อเมริกา มีสีเหลืองอีกใบได้มาจากที่นิวยอร์กครับ มุมนี้จึงเป็นเหมือนอากาศสดชื่นที่มีสีสันและความเย็นตาของสถานที่แห่งนี้

ผมรักในสตูดิโอเล็กๆ ที่เป็นแหล่งความรู้และรวบรวมผลงานศิลปะของผมแห่งนี้ เป็นที่ที่ทำให้รู้สึกเหมือนเราไปเดินอยู่ในมิวเซียมทุกวัน สามารถบอกเล่าเรื่องราวตัวตนและประสบการณ์การทำงานของผมได้เป็นอย่างดี มีผลงานหลากหลายมิติทั้งไทยและต่างประเทศที่ผมศึกษา  เหมือนหนังสือศิลปะเล่มหนึ่งที่รวบรวมสิ่งที่ผมธำรงรัก ในอนาคตผมหวังว่าจะได้มีโอกาสโอเพนสตูดิโอหรือสร้างพื้นที่ใหม่ที่สามารถเปิดให้กับคนที่รักศิลปะได้ชมเหมือนเป็นมิวเซียมเล็กๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ และส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป


You Might Also Like...