บ้านชั้นเดียวกับหลังคาทรงจั่วสูงตั้งอยู่อย่างโดดเด่นบนที่ดินผืนนี้ของคุณตูน-ธวัช ตั้งเทียนชัย และคุณหมอสาว-แพทย์หญิงภัทราภรณ์ พิสุทธิวงษ์ โดยทั้งคู่ช่วยกันออกแบบตกแต่งเองทั้งหมด ตัวบ้านถูกกำหนดตำแหน่งให้อยู่ทางด้านขวา แล้วทิ้งสเปซกว้างไว้สำหรับปลูกต้นไม้ ทำสวน มีสนามหญ้าให้เจ้าปากิมวิ่งเล่น ส่วนเรื่องทิศทางลมและแสงคุณตูนบอกว่าปรับแบบหมุนซ้ายหมุนขวากันอยู่นานเหมือนกันกว่าจะลงตัวเพื่อให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อน มีมุมนั่งเล่นได้ตลอดทั้งวัน
“จริงๆ ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่คุณหมอเป็นคนนครปฐม เสาร์อาทิตย์ก็จะมาบ้านคุณหมอที่นครปฐมกันอยู่แล้ว พอดีเรามาเจอที่ดินแปลงนี้แล้วชอบมากเลยตัดสินใจซื้อเพราะอยากจะสร้างบ้าน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำบ้านหลังนี้ขึ้นมา” คุณตูนเล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง หลังจากพาพวกเราเดินโฮมทัวร์ ก่อนจะมานั่งพูดคุยกันที่โต๊ะไม้ตัวยาวเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเอกของบ้าน ที่เป็นทั้งมุมกินข้าวและรองรับแขกได้ในตัว”
คอนเซ็ปต์การออกแบบเริ่มต้นจากบ้านสไตล์มินิมอล แล้วปรับเปลี่ยนไปตามฟังก์ชัน รวมถึงสิ่งที่คุณตูนกับคุณหมอชื่นชอบ สุดท้ายเลยกลายเป็นว่าไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องเป็นสไตล์ใดสไตล์หนึ่ง อยากได้อะไรก็ทำ ชอบแบบไหนสไตล์อะไรก็ซื้อมาตกแต่ง
“ตอนที่เราจะทำบ้านช่วงนั้นเทรนด์บ้านมินิมอลมูจิมันกำลังมา เราเลยตั้งต้นจากบ้านสไตล์มินิมอล เรียบๆ จากนั้นก็มาเริ่มคิดแบบ คิดฟังก์ชันของบ้าน อย่างเราเคยอยู่คอนโดในกรุงเทพพื้นที่มันค่อนข้างแคบ พอได้ที่แปลงนี้มาประมาณ 1 ไร่ เราเลยต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เป็นหลักโดยเฉพาะส่วนของสวน ตัวบ้านจะไม่ได้อยู่ตรงกลางถ้าเราแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน บ้านจะอยู่มุมขวา ด้านหน้าเป็นสนามหญ้าคิดเผื่อไว้ให้น้องหมา เจ้าปากิมจะได้มีที่วิ่งเล่น ส่วนอีกด้านจะเป็นสวนสไตล์อังกฤษ ถ้าเรานั่งอยู่กลางบ้าน (อย่างตอนนี้) ก็จะสามารถมองเห็นวิวทั้ง 2 สวน”
แต่กว่าจะได้ตำแหน่งที่ลงตัวคุณตูนบอกว่าปรับย้ายไปมาอยู่หลายมุมเหมือนกัน “คือเราดูเรื่องทิศทางลมกับแสงด้วย ย้อนไปวันแรกๆ ที่นั่งเขียนแบบกับคุณหมอบ้านหลังนี้จะอยู่ตรงหัวมุมพอดีมีถนน 2 เส้น ถนนหลักกับถนนรอง ซึ่งเราอยากให้บ้านอยู่ตรงถนนรองแต่ถ้าไปวางตำแหน่งนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือบ้านจะหันหน้าเจอแดดทั้งวัน เราเลยต้องเปลี่ยนย้ายมุมพลิกแบบบ้านไปมาจนได้ทิศทางแสงและลมที่ต้องการ ถ้าปรึกษาสถาปนิกอาจจะได้แบบบ้านที่ดีกว่าก็ได้ (หัวเราะ) อันนี้เราทำเองหมดเลย ดูฟ้าฝน ดูแดดลมเอง แต่คิดว่าตำแหน่งนี้ดีที่สุดแล้ว”
ตัวบ้านออกแบบเป็นชั้นเดียว เมื่อเราเปิดประตูเข้ามาจะเจอกับพื้นที่ใช้งานหลักของบ้านคือห้องกินข้าวกับห้องนั่งเล่นเปิดโล่งต่อเนื่องกัน มีซุ้มโค้งตรงกลางที่คุณตูนบอกว่าเพิ่งมาออกแบบเพิ่มทีหลัง ช่วยให้บ้านดูมีลูกเล่นและช่วยแบ่งโซนให้เป็นสัดส่วนชัดเจนมากขึ้นด้วย “เราตั้งใจเลยว่าต้องทำบ้านชั้นเดียว ไม่อยากได้บ้าน 2 ชั้น ด้วยอายุที่มากขึ้นบวกกับพื้นที่ที่เราใช้งานจริงๆ ก็คงมีแค่นี้แหละ แบ่งเป็น 2 ห้องนอน มีห้องน้ำในตัว ด้านนอกมีห้องน้ำแขก 1 ห้อง
“ส่วนลิฟวิงเราต้องการให้ต่อเนื่องเป็นชิ้นเดียวกัน แต่ถ้าเปิดโล่งเฉยๆ มันจะดูเรียบดูธรรมดาไป เรายังอยากให้รู้สึกว่าแบ่งโซนการใช้งานกันนะ แต่ไม่ได้ชัดเจนขนาดที่ว่าต้องมีประตูปิดทำผนังกั้นเลยดีไซน์เติมซุ้มโค้งนี้เข้ามา อย่างที่บอกว่าอยากได้อะไรก็ทำ เพราะบ้านเราเอง ถึงจะเริ่มต้นจากสไตล์มินิมอลแต่ระหว่างทาง สิ่งที่เราชอบมันมีหลากหลายมากเลย ถ้าเราฟิกแค่สไตล์มินิมอลมันจะเป็นข้อจำกัดในหลายๆ เรื่อง ซุ้มโค้งแบบนี้อาจจะไม่เข้า แม้กระทั่งโต๊ะไม้ก้อนมหึมาตัวนี้ที่คุณพ่อให้มาดูยังไงก็ไม่มินิมอล มองไปรอบๆ เหมือนไม่มีอะไรที่เข้ากันเท่าไรเลย เฟอร์นิเจอร์เอย ฟังก์ชันเอย แต่โชคดีที่พอมาจัดวางด้วยกันแล้วดูไม่ขัดตา”
รวมไปถึงส่วนของห้องครัวด้วย “ครัวคือความภูมิใจของคุณหมอ เขาเป็นคนออกแบบทั้งหมดเลย เราเลือกทุกอย่างกันเอง ไม้ กระเบื้อง โทนสี คุณหมอจะมีภาพในหัวอยู่แล้วว่าอยากได้ครัวประมาณนี้ ก่อนจะเขียนแบบครัวเราไปซื้อพวกแอกเซสเซอรี่สำหรับแขวนหม้อ แขวนกระทะ ชั้นใส่ของในตู้ ตะแกรง ลิ้นชักต่างๆ เพื่อจะได้รู้ว่ามีฟังก์ชันอะไรบ้างที่เราต้องการ ตอนนั้นครัวยังเป็นห้องโล่งๆ เราก็เอาของที่ซื้อมาลองจัดวางกับพื้นดูว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน ย้ายไปย้ายมาจนลงตัวแล้วถึงเริ่มเขียนแบบให้ช่างบิลต์อิน มุมนี้จะเป็นตู้สูงนะ ถัดไปเป็นเคาน์เตอร์ขนาดประมาณนี้ เพิ่มชั้นวางของด้านบน
“ดีไซน์เราดูเรฟเฟอเรนซ์จากพินเทอเรสต์ ไม่ได้กำหนดสไตล์ไว้เลยว่าอยากได้แบบไหนสไตล์อะไร แค่เห็นครัวนี้แล้วชอบก็แคปภาพเก็บไว้เป็นไอเดีย ดีเทลหน้าบานแบบนี้ โทนสีนี้ สิ่งที่ผมกำหนดอย่างเดียวเลยคือหน้าต่างบานใหญ่กับหน้าต่างตรงมุมล้างจานให้สามารถมองเห็นวิวสวนได้ และเปิดรับลมให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพราะเราไม่ได้ติดเครื่องดูดควันในห้องครัวด้วย เวลาญาติๆ หรือเพื่อนมาปาร์ตี้ปิ้งย่าง ถ้ามีควันเยอะๆ เราก็จะมูฟออกไปทำด้านนอกที่เป็นโซนซักล้าง แล้วมันพอดีกันกับหน้าต่างด้านข้างห้องครัว เปิดส่งอาหารตรงนั้นกันได้เลย กลายเป็นฟังก์ชันที่เราไม่ได้คิดมาก่อนเหมือนกัน แต่ช่วยให้ใช้งานครัวได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องเดินเข้าเดินออกให้ยุ่งยาก”
จริงอย่างที่คุณตูนบอกไว้ว่าชอบแบบไหนก็ทำแบบนั้น ห้องครัวนี้เลยมีกลิ่นอายของสไตล์คอตเทจจากลวดลายของกระเบื้องพื้น กระเบื้องผนัง หน้าบานชุดครัว ดีไซน์มือจับ รวมไปถึงของตกแต่ง ของใช้กระจุกกระจิกต่างๆ บรรยากาศและภาพรวมของครัวเลยออกมาอบอุ่น น่ารักน่าใช้งานมากเลยทีเดียว นอกจากนี้คุณตูนยังนำประตูไม้สักเก่าจากโรงเก็บไม้ของคุณพ่อมาใช้กับห้องครัวด้วย ช่วยคอมพลีตลุคให้ครัวดูสวยงามลงตัวสุดๆ
“ประตูไม้สักโบราณเป็นส่วนหนึ่งของโจทย์ในการทำบ้านหลังนี้ด้วย เราเลยจำกัดแค่สไตล์มินิมอลไม่ได้ไงครับ (หัวเราะ) ตอนไปเจอในโรงเก็บไม้ของคุณพ่อแล้วเราชอบมาก เห็นวางไว้เฉยๆ ก็รู้สึกเสียดาย มีมากกว่า 2-3 ชุด พอทำบ้านเลยเอามาใช้เป็นประตูห้องครัว ห้องน้ำแขก โซนซักล้าง ส่วนประตูห้องนอนเราทำใหม่ให้มีดีไซน์คล้ายกัน จะได้ดูกลมกลืนเป็นเรื่องราวเดียวกัน”
นอกจากเรื่องประตูแล้วคุณตูนยังเล่าถึงดีเทลอื่นๆ ของบ้านหลังนี้ให้ฟังเพิ่มเติมด้วย “ถ้าถามว่าเราให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด คงเป็นเรื่องคุณภาพวัสดุ หลังคาเราต้องการความแข็งแรงจะบอกผู้รับเหมาเลยว่าใช้เป็นกระเบื้องซีแพครุ่นนี้นะ ประตูเป็นกรอบเฟรมอะลูมิเนียมลายไม้ก็เลือกเอง เราอยากได้วัสดุคุณภาพดีแล้วก็สวยเหมาะกับบ้านด้วย
“จึงเป็นที่มาของหลังคาทรงจั่วสูง ตอนเขียนแบบเราวาดเป็นหลังคาเตี้ยๆ สวยๆ สไตล์ญี่ปุ่น แต่พอจะใช้กระเบื้องซีแพค ความรู้ใหม่คือหลังคาต้องมีองศาที่สูงเพื่อให้น้ำไหลลงมาได้ ตอนเราวาดก็วาดตามที่คิดที่อยากได้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องการก่อสร้าง ผู้รับเหมาเขาจะมีวิศวกรคอยดูคอยบอกเราว่าอันนี้ทำได้ อันนี้ทำไม่ได้ ก็ปรับกันไปตามหน้างาน ตามข้อจำกัดต่างๆ
“พอต้องทำหลังคาสูงเลยยกเพดานของบ้านให้สูงตามไปด้วย โดยปกติเพดานบ้านทั่วไปจะสูงประมาณ 2 เมตร แต่บ้านเราน่าจะ 4 เมตรกว่า แล้วพอเพดานสูงก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นเจาะช่องหน้าต่างด้านบนเพิ่มด้วยเลยให้แสงสว่างส่องเข้ามาในบ้านได้เต็มที่ วันไหนท้องฟ้าสวยๆ นั่งตรงนี้เห็นก้อนเมฆลอยไปลอยมา ดีมากเลย” คุณตูนบอกทิ้งท้าย
ในเมื่อสิ่งที่เราชอบนั้นมีเยอะแยะมากมาย หลากดีไซน์ หลายสไตล์ ก็ไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อันนั้นก็ชอบอันนี้ก็ใช่ ถ้าอย่างนั้นจับใส่มาในบ้านให้หมดเลยแล้วกัน “เพราะนี่คือบ้านของเราเอง”