หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ดาร์นา ฮาร์ดี, สุราการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จัดนิทรรศการ โพลา – ลวดลายแห่งความหมาย (POLA – PATTERNS OF MEANING) นิทรรศการเกี่ยวกับผ้าบาติก ที่มีบทบาทสำคัญของประเทศอินโดนีเซีย กับความหมายที่แฝงไว้ในลวดลายแห่งผืนผ้าบาติกที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี
โดยบาติกส่วนหนึ่งในคอลเล็คชั่นของพิพิธภัณฑ์ดาร์นา ฮาร์ดี ณ เมืองสุราการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ถูกคัดสรรมาเพื่อ จัดแสดงภายในนิทรรศการครั้งนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นแง่มุมต่างๆ ของผ้าบาติกไม่ว่าจะเป็น ในฐานะ อัตลักษณ์ อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมและต่างประเทศ เพศ พัฒนาการทางการเมือง และบาติกในฐานะโภคภัณฑ์ (Commodity) บาติกเหล่านี้จะถูกจัดแสดงรวมกับวัตถุจดหมายเหตุและงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกันโดยศิลปินร่วมสมัยจากอินโดนีเซีย ประกอบด้วย
เอซ เฮาส์ คอลเล็กทีฟ (Ace House Collective) ศิลปินกลุ่มที่จัดแสดงผลงานชื่อ “Fervent Base” ประติมากรรมจัดวางน้ำพุจากเครื่องทำจากช็อกโกแลต เทียนเขียนบาติก พาราฟิน เหล็ก พร้อมด้วยงานวิดีโอจอเดี่ยว เพื่อสำรวจกระบวนการผลิตบาติกในปัจจุบันที่มีชื่อเสียงล้วนมาจากลวดลายและรูปลักษณ์ ไม่ได้มาจากกรรมวิธีการผลิต ตามประเพณีแบบดั้งเดิมอีกต่อไป งานชิ้นนี้ได้สำรวจประเด็นของความหมายผ่านการทำความเข้าใจในศัพท์บัญญัติของบาติก
จาฮายา เนเกอรี ศิลปินกลุ่มที่จัดแสดงผลงานชื่อ “Significant Scenarios” ศิลปะจัดวางบาติกบนฝ้าย เพื่อตีความต่อประเด็นความต่างระหว่างลายตกแต่งที่ไม่ได้อ้างถึงเรื่องราวใดเลย กับลวดลายในบาติกที่อิงไปกับบริบททางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ รวมถึงความหมายที่ฝังไปในการออกแบบลวดลายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติทางสังคม ผู้ชมจะได้รับเชิญให้เข้าไปในโครงสร้างคล้ายเขาวงกตที่ทำขึ้นจากผ้าบาติก ที่จากเดิมเอาไว้ใช้สวมใส่ เมื่อเดินเข้าไปภายในวงกตบาติกนี้ ผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่รายล้อมด้วยผัสสะนานาจากลวดลายบาติกรูปแบบใหม่ ที่ถูก จัดวางขึ้นจากลวดลายประดับตกแต่งต่างๆ กลิ่น การเล่นกับแสงเงา รวมถึงลูกเล่นต่างๆ ซึ่งผู้ชมสามารถร่วมสนุกกับงานศิลปะด้วยการลองออกท่าทาง ที่เมื่อหันหน้าเข้าผนังเขาวงกต เงาของพวกเขาก็ได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของฉากทั้งหมดในผลงานศิลปะชิ้นนี้เรียบร้อยแล้ว
เรสตู รัตนานิงตียัส ศิลปินหญิงเดี่ยว ผู้สร้างสรรค์ผลงานจากฝ้าย คราม สีสังเคราะห์ และมันสำปะหลังบนพื้นฐานจากความสนใจในสถานภาพของผู้หญิงในอุตสาหกรรมบาติก ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่บทบาทของแรงงาน อาทิ ผู้ทำหน้าที่เขียนเทียนลงบนผืนผ้า แต่ยังเป็นดั่ง “หัวจักร” สำคัญที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบาติกในครัวเรือนให้ก้าวไปข้างหน้า งานชิ้นนี้จึงพยายามทำความเข้าใจในแนวคิดเหล่านี้ และเพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมร่วมตั้งคำถามถึงรูปแบบของความสัมพันธ์ทางเพศสภาวะในวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มจะวางผู้หญิงในบทบาทของผู้ตาม
เอลวิน ประดิปตา ศิลปินชายเดี่ยวคนสุดท้ายกับผลงานชื่อ “Shadow Stamp / TjapBayang” ผลงานจัดวางวิดีโอ 3 จอ ที่สนใจต่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมเป็นสินค้า และประวัติศาสตร์ของเมืองบันดุง เมืองที่อุดมไปด้วยมรดก ทางอาณานิคม โดยผลงานชิ้นนี้ได้กลับไปสำรวจตำแหน่งของผ้าบาติกภายในเมืองบันดุงในฐานะที่เป็นโภคภัณฑ์และ เป็นองค์ประกอบหนึ่งของอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมถึงเป็นหนึ่งในตำนานทางวัฒนธรรมและเต็มไปด้วยคุณค่าเชิงปรัชญา แต่ด้วยพัฒนาการต่างๆ กลับทำให้คุณค่าทางประเพณีดั้งเดิมที่เคยฝังลึกลงบนบาติกกลับสูญสิ้นความสำคัญไป นอกจากนี้ ผลงานดังกล่าวยังร่วมเฉลิมฉลองการนำเสนอลวดลายบาติกร่วมสมัย ซึ่งเป็นลวดลายที่ปราศจากปรัชญาความคิดตามประเพณี และไม่ได้ผูกมัดกับคุณค่าร่วมทางสังคมใดเลยอีกด้วย
นิทรรศการโพลา – ลวดลายแห่งความหมาย เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของมูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สัน และบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย ภายใต้ความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ ดาร์นา ฮาร์ดี, สุราการ์ตา สถาบันศิลปะและสังคม เซเมทิ (อินโดนีเซีย), โลตัส อาร์ต เดอ วีฟ และดีซี คอลเลคชั่น
นิทรรศการโพลา – ลวดลายแห่งความหมาย (POLA – PATTERNS OF MEANING) เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 9.00 – 20.00 น.เปิดให้เข้าชมทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ณ หอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน สอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02–612–6741
Facebook : The Jim Thompson Art Center และเว็บไซต์ www.jimthompsonartcenter.org