สีสันระหว่างการเดินทางมักจะบ่งบอกเรื่องราวอะไรบางอย่างให้กับผู้คนอยู่บ้าง ทิวทัศน์จากสองข้างทางที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิต…ชุมชน…และธรรมชาติ
หมุดหมายของการเดินทางครั้งนี้ Niyai Cottage กระท่อมหลังเล็กท่ามกลางภูเขาลูกโต เป็นบ้านหลังเล็กที่เผลอทำเราตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
บ้านกลิ่นอายชนบท
คุณน้ำ-ชิดชนก บัวขาว นอกจากจะเป็นทั้งเจ้าของบ้านแล้วยังออกแบบและหาของตกแต่งด้วยตัวเองทุกชิ้น เธอเริ่มต้นเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านหลังนี้ว่า “ซื้อที่ผืนนี้ไว้นานมาแล้ว เพราะเราเป็นคนชอบบ้านกลิ่นอายชนบท ฝันอยากมีบ้านริมเขาที่สามารถมองเห็นวิวเขา ด้วยความที่ไม่ชอบซื้อบ้านที่อยู่ในโครงการจัดสรร เพราะอยากออกแบบบ้านให้เป็นตามแบบที่เราต้องการ”
เสน่ห์ของเขาใหญ่ทำให้หลายๆ คนมีความฝันอยากมีบ้านอยู่ที่เขาใหญ่ คุณน้ำก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอจึงตัดสินใจซื้อที่ดินไว้ ซึ่งอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เปิดขายเฉพาะที่ดินเปล่า “เขาใหญ่เป็นสถานที่ที่เราชอบอยู่แล้ว อากาศดี แถมปลูกอะไรก็งามต่างจากที่กรุงเทพฯ”
บ้านพักตากอากาศที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าพัก
จากความตั้งใจแรกที่คุณน้ำซื้อที่ดินที่นี่เนื่องจากอยากสร้างบ้านเอาไว้อยู่อาศัยเอง แต่ด้วยภารกิจและหน้าที่ซึ่งไม่สามารถทิ้งบ้านสวนในกรุงเทพฯ ได้ เลยเปลี่ยนความตั้งใจนั้นด้วยการออกแบบเป็นบ้านพักตากอากาศสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อนและอยากเปลี่ยนบรรยากาศ
“ที่ดินผืนนี้สวยและถูกใจมาก อยู่บนเนินอย่างที่เราชอบ ส่วนด้านล่างก็เป็นเหมือนบ่อใหญ่ๆ หินที่อยู่ด้านล่างนั่นคือหินธรรมชาติ เลยกลายเป็นวิวหลังบ้านที่ดูว้าวมาก แถมทำเลดีไม่ติดกับใคร ด้วยขนาดเนื้อที่ประมาณ 50 ตารางวากำลังดี ทำเป็น Tiny Home แบบที่เราอยากได้ เพราะฉะนั้นคอนเซ็ปต์ในการออกแบบเป็นแนวคอตเทจตามสไตล์ของนิยายคาเฟ่ เพราะฉะนั้นบ้านนี้จึงให้อารมณ์เหมือนเราได้มาอยู่บ้านในบรรยากาศคาเฟ่”
ไอเดียแต่งบ้านสไตล์คอทเทจ
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดเจนสำหรับการออกแบบบ้านสไตล์คอตเทจก็คือ รูปแบบของบ้านจะมีความกลมกลืนไปกับธรรมชาติที่อยู่รอบๆ หรือแม้แต่การเลือกใช้วัสดุตกแต่ง รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ที่นำมาประดับประดาล้วนเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่คุณน้ำเก็บสะสมไว้ ไม่ว่าเธอจะมีบ้านสักกี่หลัง สไตล์คอตเทจเปรียบเหมือน DNA ที่แทนตัวคุณน้ำไว้อย่างมีเอกลักษณ์ สะท้อนออกมาในรูปของดีไซน์และไอเดียในทุกๆ พื้นที่ภายในบ้าน
ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ในเขาใหญ่คุณน้ำบอกว่าไม่ต้องตอกเสาเข็มลงแค่ฟุตติ้ง เนื่องจากด้านล่างเป็นหินที่มีความแข็งแรงอยู่แล้ว จึงทำให้ประหยัดงบประมาณในเรื่องของฐานราก เพียงแต่ต้องถมดินให้แน่น แล้วถมให้ได้ความสูงตามที่คุณน้ำต้องการ และกั้นดินตรงเนินเขาเพื่อไม่ให้เกิดดินสไลด์
ออกแบบจากฟังก์ชันใช้งาน
รูปแบบของการวางผังบ้านหลังนี้เริ่มต้นจากฟังก์ชัน โดยเจ้าของบ้านใช้ตัวเองเป็นหลักในการออกแบบ “เราคิดว่าฟังก์ชันที่จะใช้มีอะไรบ้าง ทางเข้าหลัก ทางเข้ารอง จะเกิดภาพในหัวก่อนว่าจะเข้าทางไหนอย่างไร ส่วนแรงบันดาลใจในการทำบ้านสไตล์นี้น่าจะมาจากการที่เราเก็บสะสมความชอบมาเรื่อยๆ เพราะสไตล์คอตเทจมันคือตัวเราไปแล้ว”
บ้านหลังนี้มีทางเข้าอยู่สองทาง ทางแรกเป็นทางเข้าหลัก โครงสร้างของรั้วและประตูเป็นรูปแบบง่ายๆ ใช้วัสดุที่เป็นไม้เก่าสะสมและไม้ที่ซื้อใหม่ ปูด้วยแผ่นหินทำเป็นทางเดินตามแบบบ้านสไตล์ชนบท ปลูกต้นไม้ริมรั้วที่มีทั้งต้นสนเกรวิลเลีย สมุนไพรฝรั่ง ขยับเข้าไปใกล้ตัวบ้านอีกหน่อยมีต้นหลิวออสเตรเลีย สนใบพาย รวมถึงไม้ดอกอย่างบลูซัลเวีย ต้นผีเสื้อแสนสวยที่ปลูกอยู่รอบตัวบ้านเข้ามาเพิ่มสีสันความสดใสและลดทอนความแข็งของโครงสร้าง
พื้นที่นอกชานใช้งานเอนกประสงค์
“ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้านเราออกแบบให้มีนอกชานขนาดใหญ่ เพื่อรองรับคนจำนวนเยอะๆ ได้ วางโต๊ะไม้อยู่ด้านหน้าเอาไว้เป็นมุมรับประทานอาหาร และเพิ่มหน้าต่างเล็กๆ ไว้ตรงตำแหน่งเดียวกับโต๊ะเพื่อทำหน้าที่เป็นช่องสำหรับส่งอาหารจากในครัว ส่วนใครจะนั่งห้อยขาตรงชานบ้านก็ได้ เพราะเราไม่ได้ทำราวกันตกซึ่งมันก็จะให้อีกอารมณ์หนึ่ง ให้รู้สึกถึงความเป็นกันเอง
ห้องนอนใต้หลังคา
“พอเข้าสู่พื้นที่ภายในเจอกับมุมนั่งเล่น เลือกใช้เป็นโซฟาเบดที่ปรับเป็นที่นอนได้ด้วย เนื่องจากอายุเริ่มเยอะก็สามารถนอนตรงนี้ได้เลย แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบบ้านที่มีห้องใต้หลังคาเราก็ยังคงความชอบนั้นไว้แล้วออกแบบให้เป็นห้องนอนใต้หลังคา สามารถเดินขึ้นบันไดหากวันไหนที่รู้สึกอยากปีนป่าย แล้วเราก็ทำระเบียงเล็กๆ ยื่นออกไปตรงห้องนอนที่สามารถนั่งดูดาวในตอนกลางคืนได้”
กลางวันชมภูเขา กลางคืนมองดาว
อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของการสร้างบ้าน นอกจากคุณน้ำจะพิถีพิถันกับเรื่องดีไซน์แล้ว ยังคำนึงเรื่องของทิศทาง แสง และลม ดังนั้นจึงออกแบบบ้านให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังบ้านคือทิศตะวันตก เวลามีแดดช่วงเช้าก็นั่งดื่มกาแฟชมสวนอยู่ด้านหลัง ในทางกลับกันเมื่อแดดคล้อยไปหลังบ้านก็สามารถย้ายมาใช้ชีวิตอยู่หน้าบ้านได้ พอช่วงแดดร่มลมตกก็เดินขึ้นชั้นบนไปชมพระอาทิตย์ตก ชมวิว ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ยอดภูเขา
ครัวแพนทรีเหมาะสำหรับอาหารเบาๆ
สำหรับฟังก์ชันใช้สอยภายในนอกจากมีมุมนั่งเล่นแล้ว พื้นที่ถัดไปเป็นห้องครัว ออกแบบไว้อย่างเรียบง่าย กำหนดโทนสีแนวคลาสสิกไอวอรี ให้ห้องครัวดูละมุนรับกับโทนสีฟ้าซึ่งเป็นสีหลักของพื้นที่ภายใน ส่วนรูปแบบครัวเป็นแพนทรีเหมาะกับการเตรียมอาหารและทำเครื่องดื่ม มีอ่างล้างจานเซรามิกแมตช์กับก๊อกน้ำสไตล์วินเทจ และมีลิ้นชักสำหรับจัดเก็บภาชนะรวมถึงข้าวของเครื่องใช้ในห้องครัว โดยดีไซน์เคาน์เตอร์ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์บ้าน เวิร์กทอปไม้ ทำสีบานตู้ครัวให้ดูเหมือนงานเก่า เพิ่มลูกเล่นให้ครัวดูหวานขึ้นด้วยลวดลายผ้าม่านลายดอก เลือกเฉดสีให้สัมพันธ์กับสีฟ้าและสีไอวอรีซึ่งคุณน้ำเป็นคนเย็บเอง ตกแต่งผนังด้วยข้าวของเครื่องใช้ในครัวและหน้าต่างเก่าที่เป็นของสะสม
ด้วยความที่ขนาดเนื้อที่ภายในบ้านค่อนข้างเล็กจึงไม่กั้นห้อง แต่มีการใช้เฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะไม้กลม เก้าอี้สไตล์คลาสสิก ตู้เก็บของ ในการกำหนดขอบเขต โดยเลือกขนาดของเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวให้เหมาะกับพื้นที่ เพื่อให้ภายในบ้านไม่รู้สึกอึดอัดและสามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหลและคล่องตัว
ออกแบบสวนตามภูมิทัศน์
จุดยากที่ดูจะท้าทายเจ้าของบ้านอีกหนึ่งอย่างคือสวนบริเวณด้านหลัง เนื่องจากพื้นที่เป็นเนินเขาจึงต้องมีการออกแบบเพื่อกันดินสไลด์แล้วทำสวนโดยไล่เป็นสเตป นำหินมาตกแต่งทำเป็นขั้นบันไดเพื่อให้ง่ายต่อการเดินลงไปด้านล่าง แล้วปลูกไม้ดอกแซมให้ดูเหมือนขึ้นตามธรรมชาติ เลือกต้นไม้สีสดอย่างดอกบานไม่รู้โรย สตรอว์เบอร์รี ดอกเดซี่ ดอกฟ้าประดิษฐ์
ที่นี่นับเป็นบ้านที่ตอบสนองความต้องการหลายๆ อย่างให้กับเจ้าของบ้าน ในทุกๆ รายละเอียดมักจะมีทั้งความเหนื่อยและความสนุกซ่อนอยู่ แต่ก็นับเป็นบ้านในฝันสไตล์คอตเทจท่ามกลางภูเขาที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างนอบน้อมต่อธรรมชาติ
ดูรายละเอียดห้องพักเพิ่มเติม https://www.facebook.com/niyaicottage
ขอขอบคุณสถานที่ Niyai Cottage