Customize Consent Preferences

We use cookies to help you navigate efficiently and perform certain functions. You will find detailed information about all cookies under each consent category below.

The cookies that are categorized as "Necessary" are stored on your browser as they are essential for enabling the basic functionalities of the site. ... 

Always Active

Necessary cookies are required to enable the basic features of this site, such as providing secure log-in or adjusting your consent preferences. These cookies do not store any personally identifiable data.

Functional cookies help perform certain functionalities like sharing the content of the website on social media platforms, collecting feedback, and other third-party features.

Analytical cookies are used to understand how visitors interact with the website. These cookies help provide information on metrics such as the number of visitors, bounce rate, traffic source, etc.

Performance cookies are used to understand and analyze the key performance indexes of the website which helps in delivering a better user experience for the visitors.

Advertisement cookies are used to provide visitors with customized advertisements based on the pages you visited previously and to analyze the effectiveness of the ad campaigns.

บ้านฟาร์มสุข อยู่สบายภายใต้ความเป็นส่วนตัว

บ้านฟาร์มสุข บ้านสีขาว-น้ำตาลหลังคาทรงนอร์ดิกที่ดูสวยแปลกตากว่าบ้านอื่นๆ ในละแวกนั้น กับการนิยามสั้นๆ ตามคำจำกัดความที่เจ้าของบ้านให้ไว้ว่า “บ้านฟาร์มสุข” เพราะนอกจากบ้านเสมือนที่พักพิงอิงสุขให้กับสมาชิกในครอบครัวที่ประกอบไปด้วย คุณเจี๊ยบ-สุนิษา ดีระหาญ คุณศราวุธ ฉิมพินิจ และน้องกาเนส-กวินทร์ ฉิมพินิจ แล้วยังมีพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยไม้ดอก ไม้ประดับ และผักสวนครัว เข้ามาเติมเต็มให้ความเป็นบ้านของพวกเขาสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

“หลังจากเจี๊ยบแต่งงานได้ 3 ปีก็มีลูก เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ก็คิดอยากมีบ้านเป็นของเราเอง เนื่องจากการเลี้ยงเด็กต้องมีพื้นที่ประมาณหนึ่ง จากนั้นจึงเริ่มต้นวางแผน ซึ่งที่นี่เป็นที่ดินของคุณพ่อเจี๊ยบที่ท่านให้ไว้เพื่อสร้างบ้านหลังใหม่โดยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยเราเริ่มจากการทยอยถมที่ดินไปเรื่อยๆ เพื่อให้ดินแน่น ส่วนโจทย์ในการสร้างบ้านเปลี่ยนไปตามความชอบของเรา อย่างเช่นปีก่อนอาจจะชอบสไตล์หนึ่ง อีกปีก็ชอบอีกสไตล์ แต่พอถึงช่วงปีที่เราเริ่มทำบ้านจริงๆ สไตล์มินิมอลนอร์ดิกมาแรงมาก พอดูแบบบ้านแนวๆ นี้บ่อยเข้าก็เลยชอบ

จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูล ตั้งแต่การหาแบบบ้าน “แต่ด้วยความโชคดีที่เจี๊ยบพอมีประสบการณ์ในการสร้างบ้านของคุณพ่อคุณแม่มาบ้าง ทั้งช่วยซื้อของ เลือกวัสดุ พอมาทำบ้านหลังนี้เลยมีพื้นฐานอยู่บ้างถึงแม้จะสร้างบ้านในช่วงโควิดที่ทำให้การซื้อของลำบากขึ้น ก็ใช้การซื้อของออนไลน์เข้ามาช่วย อย่างแบบบ้านซื้อจากลาซาด้า ราคาประมาณ 2,500 บาท จากร้านสมาร์ท สไมล์ ดีไซน์ และอีกวิธีที่ทำให้เราสามารถคุมงบประมาณในการสร้างบ้านก็คือ หากเราจ้างผู้รับเหมาจะทำให้เปลืองงบ แต่นี่เรากำหนดเอง ทำสัญญากับช่าง สามารถคำนวณได้ว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อของเราต้องใช้เท่าไหร่ โดยช่างจะช่วยในการคำนวณว่าใช้วัสดุอะไรเท่าไหร่และอะไรบ้าง แล้วเราก็จ้างเหมาแบบค่าแรงทั้งหลังโดยรวมค่าตีฝ้า ต่อไฟ ปูกระเบื้องพื้น ก่อเคาน์เตอร์ ติดตั้งสุขภัณฑ์ และเทพื้นรอบบ้าน”

คุณเจี๊ยบอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแบบบ้านที่เธอซื้อมาว่ามีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 124 ตารางเมตร แต่มีการปรับแบบเพื่อขยายห้องครัวออกไปให้กว้างขึ้น แล้วเพิ่มส่วนของหน้าบ้านเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานได้มากกว่าเดิมเป็น 162 ตารางเมตร

“เจี๊ยบไม่ได้ปรับโครงสร้างหลัก แต่ปรับเฉพาะในส่วนของการตกแต่งเท่านั้น ซึ่งเราโชคดีมากที่ได้ช่างฝีมือแถวบ้าน อยากปรับส่วนไหนสามารถคุยเพิ่มเติมกับช่างได้ ส่วนงานตกแต่งไม่ได้เลือกราคาสูง เจี๊ยบมองว่าของแต่งแค่ความสวยงาม แต่โครงสร้างต้องเลือกที่แข็งแรงและดีไว้ก่อน”

บ้าน 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ และ 1 ห้องรับแขก เป็นบ้านขนาดกลางที่ตอบโจทย์การใช้งานให้กับสมาชิกพ่อ แม่ ลูก และรองรับการเติบโตของน้องกาเนส ซึ่งคุณเจี๊ยบและคุณก๊อตได้วางแผนเอาไว้ในอนาคต มีห้องนอนใหญ่ขนาด 4×7 เมตร และห้องนอน 4×3.5 เมตร อีก 2 ห้อง ตกแต่งเรียบง่ายล้อไปกับคอนเซ็ปต์ของแบบบ้านภายนอก มีกลิ่นอายของมินิมอลผสมกับสแกนดิเนเวียน

“จากประตูหน้าบ้านซึ่งเป็นทางเข้าหลัก จะพบกับห้องนั่งเล่น มีเคาน์เตอร์บาร์ที่ออกแบบให้เป็นมุมกาแฟ ขวามือเป็นห้องนอนใหญ่ ส่วนห้องนอนอีกห้องนอนไว้สำหรับเก็บเสื้อผ้า ห้องนอนอีกหนึ่งห้องไว้สำหรับลูกโต”

บรรยากาศภายในตกแต่งด้วยโทนสีขาวและน้ำตาลเป็นสีหลัก ทั้งโซฟา และผ้าม่านซึ่งทั้งคู่ซื้อของและนำมาติดตั้งเอง ถัดไปเป็นห้องครัวออกแบบเป็นซุ้มประตูโค้งเพื่อกั้นพื้นที่ให้ดูเป็นสัดส่วน และเชื่อมสเปซภายในให้ต่อเนื่องกันโดยไม่ต้องทำประตูกั้น ส่วนการตกแต่งห้องครัวเป็นสไตล์มินิมอล เพิ่มลูกเล่นด้วยกระเบื้องผนังที่เป็นลายสี่เหลี่ยมจัตุรัส ออกแบบครัวเป็นรูปตัวแอล (L) มีฟังก์ชันครบ เนื่องจากคุณเจี๊ยบเป็นคนทำอาหารกินเอง ใช้งานจริง จึงเลือกใช้แบบครัวเป็นโครงสร้างครัวปูนโดยปูกระเบื้องภายในตู้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องความชื้น

ซึ่งนอกจากเคาน์เตอร์ครัวปูนแล้วยังเพิ่มตู้ไม้เข้ามาเสริม เพื่อรองรับการจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ในครัวให้เป็นระเบียบ โดยตรงกลางวางโต๊ะกินข้าวเพื่อใช้งานได้สะดวก เมื่อทำอาหารเสร็จก็สามารถนั่งกินตรงนี้ได้โดยไม่ต้องทำห้องกินข้าวแยกออกไปให้เปลืองเนื้อที่

บรรยากาศภายในตกแต่งได้อบอุ่นและน่าอยู่มากแล้ว ในส่วนของแลนด์สเคปภายนอกก็ออกแบบได้น่าสนใจ ซึ่งคุณเจี๊ยบและคุณก๊อตช่วยกันแบ่งปันไอเดียตั้งแต่การออกแบบสวน เลือกซื้อต้นไม้ จนถึงการปลูก “เราออกแบบสวนกันเองเพื่อประหยัดงบประมาณ โดยเราเหลือพื้นที่หน้าบ้านไว้เยอะมาก เพราะอยากให้มีสนามหญ้าให้ลูกได้วิ่งเล่น แล้วเราก็ชอบดอกไม้ สนฉัตร เลือกต้นไม้มาปลูกให้เข้ากับสไตล์บ้านแล้วจัดมุมในการปลูกเองทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่รอบๆ กำแพงเป็นสวนผัก ปลูกผักสลัดเพราะชอบปลูกมานานแล้ว โดยก่อนที่จะทำบ้านเราขายก๋วยเตี๋ยวลุยสวนซึ่งขายดีมาก พอทำบ้านเสร็จแล้วก็อยากกลับมาทำอีกครั้ง แล้วเราก็ยังทำพื้นที่นั่งเล่นหน้าบ้านด้วยการใช้ท่อคอนกรีตมาทำเป็นโต๊ะ โดยเลือกใช้ฝาที่ใหญ่กว่าเพื่อให้มันดูมีดีไซน์ นำกระเบื้องที่เหลือมาตกแต่งให้มีสีสัน กลายเป็นมุมนั่งเล่นที่ใช้งบประมาณเพียง 1 พันบาทที่ได้มาถึง 3 โต๊ะ”

บ้านหลังนี้เป็นบ้านที่คุณเจี๊ยบและคุณก๊อตร่วมกันสร้างมาด้วยกัน ต้องดูหน้างานเองในทุกๆ วันตั้งแต่เธอเริ่มตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด เรียกว่าทำทุกอย่างเองตั้งแต่บ้านยังไม่เป็นรูปเป็นร่างจนเสร็จสมบูรณ์ ถึงเธอจะยอมรับว่าเหนื่อยกับการสร้างบ้านหลังนี้แต่มันคือความสุขที่อยู่บนความเหน็ดเหนื่อย ได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนที่รักและมองเห็นสิ่งมีชีวิตอย่างพืชผัก ต้นไม้ ดอกไม้ที่แข่งกันกันเติบโตไปพร้อมๆ กับลูกชายก็นับเป็นความสุขง่ายๆ ที่หาได้จากบ้านฟาร์มสุขแห่งนี้

wassukon

wassukon

ไม่ได้จบโดยตรงด้านออกแบบ แต่ฝันอยากเป็นสถาปนิกแล้วโลกก็เหวี่ยงให้มาเขียนงานด้านออกแบบเป็นสิบปี ตอนนี้เลยมีโลกส่วนครัวมากกว่าโลกส่วนตัวไปแล้ว