Lifestyle & Cooking People

คุยกับ ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี พาไปรู้จักโครงการล้ง 1919


ฮวย จุ่ง ล้ง ท่าเรือริมน้ำเจ้าพระยาที่เป็นจุดการค้าขายระหว่างไทย-จีนอันรุ่งเรืองเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อกาลเวลาเคลื่อนผ่าน การค้าทางเรือถูกแทนที่ด้วยการคมนาคมอื่นๆ ที่ทันสมัยขึ้น ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกลดบทบาทลงกระทั่งวันเวลาได้เดินทางมาถึงวันนี้ที่ ตระกูลหวั่งหลี ในฐานะเจ้าของที่ ซึ่งมีเจตนารมย์ในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม ปลุกชีวิตให้มรดกของบรรพบุรุษที่หลับใหลให้ตื่นคืนชีวิตชีวาอีกครั้งในชื่อ “ล้ง 1919” (LHONG 1919)

Print

คุณป่าน-ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี ผู้บริหารหนุ่มแห่งโครงการ ล้ง 1919 บอกเล่าว่า “ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 โดยมีคุณแม่ (คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี) เป็นผู้ก่อตั้งโครงการและเป็นหัวเรือใหญ่ในการบูรณะพื้นที่นี้ โดยได้ตั้งบริษัทชื่อซิโน พอร์ท จำกัด ขึ้นมา โดยมีลูกหลานหวั่งหลีในเมืองไทยซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับที่นี่มาช่วยกันขับเคลื่อนให้พื้นที่นี้กลับคืนฟื้นชีวิตอีกครั้ง เดิมที่นี่เป็นตึกเก่าสมัย พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) เจ้าของเดิมคือพระยาพิศาลศุภผล (ชื่น พิศาลบุตร) ที่ได้สัมปทานสร้างท่าเรือแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้ชาวจีนมาขึ้นลงท่าค้าขายที่นี่ รวมถึงเจ้าสัว หวั่งหลีก็มาลงเรือที่นี่และสร้างตัวจากการค้าขาย จนได้สร้างบ้านหวั่งหลีที่อยู่ติดท่าเรือแห่งนี้

_NIK8668

คุณป่านดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี

_NIK8571

สำหรับที่มาของชื่อท่าเรือ ฮวย จุ่ง ล้ง ด้วยพระยาพิศาลศุภผล เป็นผู้ริเริ่มลงทุนสร้างเรือกลไฟ (เรือโดยสารหรือบรรทุกสินค้าที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง) จึงถูกนำมาเป็นชื่อเรียกท่าเรือที่มีความหมายถึงท่าเรือกลไฟ โดยตัวอาคารท่าเรือเป็นร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจอดเรือที่ท่าเรือด้านหน้าและนำสินค้าเข้ามา โชว์ในร้านในอาคารเหมือนเป็นโชว์รูม นับเป็นท่าเรือกลไฟที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น จนปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ตระกูลหวั่งหลี โดยนายตัน ลิบ บ๊วย ได้เข้ามาเป็นเจ้าของอาคารท่าเรือคนใหม่ จึงได้ปรับท่าเรือให้เป็นอาคารสำนักงานและโกดังเก็บสินค้าสำหรับกิจการค้าของตระกูลหวั่งหลี ต่อมาได้ปรับโกดังสำหรับเก็บสินค้าการเกษตรที่ขนส่งมาทางแม่นำเจ้าพระยา เป็นที่อยู่อาศัยให้เช่าราคากันเองสำหรับพนักงานในพื้นที่เรื่อยมา”

_NIK8584

ในฐานะที่เป็นคนรุ่นหลังและเป็นลูกหลานของตระกูลหวั่งหลี คุณป่านบอกว่านับเป็นความภูมิใจที่ได้บูรณะที่นี่กลับคืนไปให้กับทุกคน ทำให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสกับสถานที่เก่าแก่แห่งนี้“เราตั้งใจที่จะเก็บที่นี่ไว้ เพื่อให้เป็น Heritage Space เรามีมากกว่าความเป็นตึกเก่า มีจิตรกรรมฝาผนังเก่าๆ และสิ่งที่อยู่ควบคู่กับที่นี่ตั้งแต่มีท่าเรือคือ ศาลเจ้าแม่หม่าโจ้ว ซึ่งเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนจีนที่นี่ ดังนั้นทุกคนในบ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่าจะยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่สร้างครั้งแรกด้วยการใช้วิธีการบูรณะและใช้วัสดุแบบโบราณ

20

การค้นพบจิตรกรรมฝาผนังปลายพู่กันจีนบนผนังปูนรอบวงกบประตูและหน้าต่างอายุ 167 ปี

21

การบูรณะจิตรกรรมฝาผนัง
เช่น จิตรกรรมฝาผนังบริเวณวงกบประตูและหน้าต่าง บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิม ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรือการบูรณะตัวอาคารโบราณที่สร้างแบบถืออิฐฉาบปูน ผนังอิฐส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนน้ำอ้อยเป็นปูนจากธรรมชาติตามภูมิปัญญาโบราณ มาเย็บตะเข็บหรือยาบริเวณรอยต่อที่แตกเพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเดิม ส่วนโครงสร้างอาคารไม้ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม ซึ่งโครงการนี้เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงความงดงามตามสภาพให้ได้มากที่สุด”

_NIK8696

_NIK8535

สำหรับความโดดเด่นของพื้นที่แห่งนี้คือ สถาปัตยกรรมจีนตัวอาคารก่ออิฐถือปูน พื้นเป็นไม้ หลังคาสร้างจากกระเบื้อง มีลักษณะเป็นอาคารหมู่แบบ ซาน เหอ ย่วน ซึ่งเป็นการออกแบบวางผังอาคารในแบบจีนโบราณ ลักษณะอาคาร 3 หลังเชื่อมต่อกัน 3 ด้าน เป็นผังรูปทรงตัว U มีพื้นที่ว่างตรงกลางระหว่างอาคารเป็นลานอเนกประสงค์เมื่อบูรณะแล้วเสร็จตัวโครงการจะประกอบไปด้วยพื้นที่อเนกประสงค์ สำหรับการจัดกิจกรรม นิทรรศการ งานเลี้ยงสังสรรค์ ร้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำ ตลอดจนมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่สำหรับจัดแสดงและจำหน่ายงาน Art & Craft และยังเป็นสถานที่พักผ่อนและพิพิธภัณฑ์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยจีนในอดีตบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

61

ภาพวาด 3 มิติ ที่วาดขึ้นใหม่ เป็นอีกจุดไฮไลท์ในการถ่ายภาพ

“การบูรณะที่นี่เราต้องใช้แรงงานคน แรงงานคิด จำนวนมาก เราจึงอยากให้ทุกคนมาสัมผัสกับเรื่องราวต่างๆ ของที่นี่ ผมการันตีไม่ได้ว่าคนที่มาจะเป็นแบบไหน ร้านรวงต่างๆ จะขายดีทุกร้านหรือไม่แต่ที่แน่ๆ ณ ที่แห่งนี้จะเปรียบเสมือนเป็นที่สูบฉีดชีวิตขึ้นมาใหม่ จากเดิมที่คนทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวไม่ได้มองเห็นว่าที่นี่มีตัวตนอยู่ แต่เราสามารถพลิกฟื้นให้ที่นี่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ผมมองว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมากทีเดียว” (โครงการ “ล้ง 1919” ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน โดยพร้อมเปิดบริการตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/LHONG-1919-472273323122096/

บทความจากคอลัมน์ Be My Guest นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 135 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2560


You Might Also Like...