Lifestyle & Cooking Place

Feel The Sunrise เส้นทางท่องเที่ยว จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ 2 วัน 1 คืน


Feel The Sunrise เส้นทางท่องเที่ยว จ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ 2 วัน 1 คืน

เมืองไทยเรามีที่เที่ยวเยอะมาก  และบางที่เราไม่เคยรู้เลยว่ามีที่เที่ยวแบบนี้ด้วยหรอ อย่างหัวหิน ปราณบุรี หลายคนคงคุ้นเคยกับสถานที่ในรายการ Domestic Fam trip   ภายใต้คอนเซ็ปต์  “Feel The Sunrise ” กับเส้นทางท่องเที่ยว จ.เพชบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์  ระยะ 2 วัน 1 คืน  จัดโดย TCEB 

เราเริ่มออกเดินทางจากจุดนัดพบ มุ่งหน้าไปที่ อำเภอปราณบุรี  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  แวะเติมพลังกันที่ร้านครัวบ้านแจ๋วก่อน เมนูที่ไม่ควรพลาดคือ ข้าวขยำปู ที่นำเนื้อปู (และไข่ปู) หอมแดง  กระเทียม และ พริกขี้หนูซอยมาคลุกกับข้าวสวย ทานคู่กับผัดผักกูดแสนจะเข้ากัน หลังจากนั้นเดินทางไปที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลยสิริราถราชินี เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการฟื้นฟูป่าชายเลนจากนากุ้งร้างแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเก่า – คลองคอย ตำบลปากน้ำปราณ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดิมเป็นพื้นที่สัมปทานนากุ้งในช่วงปี พ.ศ. 2524-2539

ป่าผืนนี้ฟื้นชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระหฤทัยของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ (พระพันปีหลวง) เมื่อครั้งเสด็จฯ ปราณบุรี ปี พ.ศ.2539 กรมป่าไม้สนองพระราชดำริ ด้วยการยกเลิกสัมปทานและผนวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาป่าไม้ปากน้ำปราณบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งยังดำเนินการฟื้นฟูป่าด้วยการกำหนดเป็นพื้นที่เป้าหมายปลูกป่า (Forest Plantation Targer- FPT) ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ปีที่ 50 ในปี พ.ศ.2539 ซึ่ง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้เข้าร่วมโครงการและดำเนินการปลูกป่าชายเลน เพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อม และพัฒนาเป็นศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ในเวลาต่อมา

แน่นอนว่านอกจากจะได้ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศของป่าโกงกางแล้ว  เรายังได้ชมความสวยงามของป่าโกงกาง และ รวมกิจกรรม CSR ปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติกัน ทำให้เราได้รู้ว่า ก่อนที่จะเอาปูที่เราซื้อมาปล่อยลงทะเลนั้น ควรพรมน้ำให้เขาได้ตั้งหลักก่อน และไม่ใช่ปล่อยลงน้ำไปตรงๆ โดยเจ้าหน้าที่ให้เราค่อยๆ เทน้องปูลงไปริมแนวชายป่าโกงกาง ให้ปูเขาค่อยๆ เดินลงไปฝั่งตัวในโคลนตามแนวริมน้ำเพื่อพักก่อน  ส่วนสาเหตุที่ให้เทเพราะน้องปูสู้ค่ะ  ชูก้ามพร้อมหนีบเลย ซึ่งก้ามน้องนี้คมมาก โดนหนีบนี้เลือดออกเลยที่เดียว

โบกมือลาน้องปูแล้วคณะก็เดินทางเข้าพักที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน  โดยช่วงเย็นเราได้รวมกิจกรรม Show case &Table Top ชิมสินค้าและ บริการจากชุมชนให้ท้องถิ่น การแสดงละครชาตรี และอิ่มอร่อยกับอาหารค่ำสไลต์ Chef’s table กับ 4 เมนูแสนอร่อยจากวัตถุดิบในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นใบชะคราม เนื้อปู และปลาสดๆ แม้แต่ขนมหวานที่มีส่วนผสมของน้ำตาลโตนด ของจังหวัดเพชรบุรี และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  

ในวันที่ 2 เรารับอรุณยามเช้าด้วยด้วยการใส่บาตรของแห้ง ต่อด้วยการออกกำลังเบาๆ ด้วยการรำไทชิ พอให้ได้เหงื่อ  แล้วก็มานั่งพักจิบเครื่องดื่ม Healthy Drink ที่ทางโรงแรมเตรียมไว้ให้ ซึ่งสูตรนี้ช่วยในเรื่อง Detox ได้เป็นอย่างดี  โดยนำน้ำส้มผสมน้ำแครอต ไปผสมกับน้ำขิงคั้นสด น้ำมะพร้าว  และน้ำมะขามเปียก สำหรับอัตราส่วนนั้นทางเจ้าหน้าที่บอกตามชอบได้เลย  แต่จะให้ดีควรผสมให้ได้รสเปรี้ยวอมหวานชื่นใจ  หรือ ใครชอบ infuse water  ก็เลือกได้ โดยทางโรงแรมใช้แตงกวา  หัวบีทรูท และ ขิงสไลซ์ใส่ลงไป  ก่อนที่จะแยกย้ายไปทานอาหารเช้าตามอัธยาศัย

ได้เวลาเราก็ออกเดินทางไป ชุมชนถ้ำรงค์  ที่เป็นการรวมตัวของชาวบ้านเพื่ออนุรักษ์การดำเนินชีวิตและอาชีพของชาวบ้านให้คงอยู่  โดยเราต้องเปลี่ยนเป็นนั่งรถสองแถวเดินทางไปสวนตาลลุงถนอน  ที่นี่น่าจะเป็นสวนตาลแห่งเดียวที่ปลูกต้นตาลเรียงเป็นแถวแบบเดียวกับการปลูกต้นยางพารา เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำน้ำตาล วิธีการทำน้ำตาลที่ต้องใช้เวลาเตรียมงวงตาลถึง 7 วัน (ที่ต้องปีนขึ้นปีนลงจากยอดตาล) กว่าจะเริ่มการเก็บน้ำตาล  โดยเราได้เห็นว่าคนที่ขึ้นตาลเป็นอาชีพนั้นการปีนขึ้นต้นตาลสูง 3-4 เมตร ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเขาใช้เวลาไม่ถึง 30 วินาทีก็ขึ้นไปถึงยอดตาลแล้ว  แน่นอนว่ามีการเชิญชวนสมาชิกในคณะขึ้นไปชมวิวบนยอดตาลด้วยกันแต่ส่วนใหญ่ขอชมวิวข้างล่างก็พอ

จบจากดูการทำน้ำตาลก็ก็ต่อด้วยกิจกรรม เวิร์คช็อป การทำขนมตาล  ขนมหม้อแกง  แกงหัวตาล และเครื่องดื่ม 3 รสจากน้ำตาลสด  โดยเริ่มจากการสอนทำขนมหม้อแกง ของฝากขึ้นชื่อจากเมืองเพชร ที่วัตถุดิบมีแค่ ไข่เป็ด น้ำตาลปึก และกะทิเท่านั้นนำมาขยำรวมกัน กรอง 2 ครั้ง แล้วเทใส่พิมพ์ที่หยอดหัวกะทิไว้ที่ก้นพิมพ์  ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ ในขณะที่ขนมตาลนั้นมีวิธีที่ต่างออกไป  เพราะเราต้องนำลูกตาลสุกลอกเปลือกออกจนเห็นเนื้อสีเหลืองแล้วนำมาขยำกับน้ำเอาเนื้อตาลออกจนหมดแล้วเทใส่ถุงผ้าดิบแขวนไว้  1 วันให้ได้เนื้อตาลก่อนนำมาผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ตอนขยำเนื้อตาลกับน้ำนั้นจะได้กลิ่นหอมของลูกตาลสุกตลอดเวลา  เมื่อได้เนื้อตาลแล้วก็จะนำไปผสมส่วนผสมตัวขนมตาลแล้วต้องพักไว้ให้ขึ้นฟูก่อนที่จะหยอดในพิมพ์ใบตอง ที่คุณป้า คุณยายจับมือสอนทำระหว่างรอขนมตาล บอกเลยว่าไม่ง่ายที่จะทำกระทงใบตองสวยๆ ตามแบบที่คุณยายทำให้ดู

ต่อจากทำขนมเราก็มาได้เรียนรู้การทำกับข้าวขึ้นชื่ออย่างแกงหัวตาล เป็นการนำยอดอ่อนของต้นตาล (แบบเดียวกับยอดมะพร้าว) มาสไลซ์บางๆใส่ลงในแกงคล้ายๆ กับแกงเผ็ดใส่ยอดมะพร้าวอ่อนนั้นเอง ซึ่งเราได้เรียนรู้กันตั้งแต่การตำเครื่องแกงกันเลยที่เดียว แน่นอนว่าหน้าที่ตำยกให้หนุ่มๆ ในคณะรับหน้าที่ไป โดยการตำเครื่องแกงนั้นจะตำ 2 รอบคือ ตำเครื่องแกงอย่าง กระเทียม พริกแห้ง ข่า กะปิ ฯลฯ จนแหลกเขาด้วยกันแล้ว นำไปตำกับเนื้อปลาต้ม และปลาเค็มอีกรอบหนึ่ง แล้วถึงเริ่มทำแกง เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่อิ่มท้องกันเต็มที่ เพราะมีครบทั้งอาหารคาว หวานและเครื่องดื่มก่อนที่จะไปทานอาหารกลางวันกัน

และจุดสุดท้ายที่ทาง TCEB พาเราไปแวะคือร้านสุคันธา ร้านขายของฝากขึ้นชื่อของชาวเพชรบุรี ที่นี้เราได้ลงมือทำข้าวตังพระอาทิตย์ สินค้าดังของทางร้านที่ นำข้าวตังมาทาด้วยน้ำปรุงรสสูตรเฉพาะโรยด้วยธัญพืชก่อนนำไปอบไฟอ่อนจนได้ที่  งานใครชอบธัญพืชตัวไหน อยากทำเป็นลวดลายอะไรก็จัดกันไปเต็มที่ ระหว่างรอข้างตังเราก็นั่งทานข้าวแช่เมืองเพชร ที่เครื่องเคียงจะมี 3 อย่างคือ ลูกกะปิ  ปลาและหัวไชโป๊วหวาน ซึ่งต่างจากข้าวแช่ทางภาคกลางที่เครื่องจะเยอะกว่า 

นอกจากขนม และของฝากที่นำกลับมาด้วยแล้ว ก็มีความสนุก ความทรงจำ ความประทับใจในสถานที่แต่ละสถานที่ที่เราได้ไปเยี่ยมชม รวมไปถึง รสชาติอาหารจานต่างๆ ที่ได้ชิม และขอสัญญาว่าจะพาครอบครัวและเพื่อนๆ กลับไปเที่ยวตามเส้นทางที่เราได้ไปอีกแน่นอน

ขอขอบคุณ
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (Thailand Convention and Exhibition Bureau – TCEB )


You Might Also Like...