Design Kitchen & Home

Minimal Kitchen ครัวนี้สวยลงตัว เพราะเราออกแบบเอง


เมื่อบ้านหลังเดิมไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต ครอบครัวของคุณปุ้ย-ใจรัก เสริมสุข จึงตัดสินใจซื้อบ้านหลังใหม่ โดยเลือกโครงการที่มีบรรยากาศเงียบสงบ ร่มรื่น เป็นส่วนตัว และมีทำเลไม่ไกลจากบ้านเดิมมากนัก สามารถเดินทางได้สะดวกสบาย แต่ถึงจะซื้อบ้านหลังใหม่คุณปุ้ยก็ยังเลือกใช้ครัวจากแบรนด์ DKBB ด้วยเชื่อใจในเรื่องคุณภาพและมีดีไซน์สวยงาม โดยนำประสบการณ์จากห้องครัวเก่ามาปรับใช้และออกแบบฟังก์ชันให้ลงตัวกับการใช้งานในบ้านหลังนี้มากที่สุด

เราออกเดินทางในเช้าวันที่อากาศไม่ร้อนมากนัก มีลมพัดเย็นสบายๆ ซึ่งคุณปุ้ยเจ้าของบ้าน และคุณพงศธร ทีฆธนานนท์ (ผู้ก่อตั้งแบรนด์ DKBB) รอต้อนรับพวกเราอยู่ก่อนแล้ว “ก่อนหน้านี้เราอาศัยอยู่ตึกแถว แล้วตอนกลางคืนจะมีซุ้มร้านอาหารมาเปิด เสียงค่อนข้างดังทำให้เรานอนไม่ค่อยหลับ จึงเริ่มมองหาบ้านหลังใหม่ ขับไปดูตามโครงการต่างๆ จนมาเจอที่นี่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากละแวกบ้านเดิม ตอนแรกเราจองไว้แค่ 1 หลัง พอโครงการเริ่มเปิดโซนใหม่จึงซื้อเพิ่มอีกหนึ่งหลังที่อยู่ตรงกับหลังบ้านพอดี

ชุดครัวรุ่น Elegance Plus เรียบง่ายทว่าอบอุ่น มิกซ์แอนด์แมตช์หน้าบานไฮกลอสโทนสีขาวและลายไม้ธรรมชาติ ดูสวยงามลงตัวกับทอปเคาน์เตอร์ที่เลือกใช้เป็นหินควอตซ์ลายหินอ่อน ทั้งยังแข็งแรงทนทาน และดูแลรักษาง่าย

“จากนั้นก็ทุบกำแพงออกแล้วต่อเติมพื้นที่ตรงกลางให้เชื่อมถึงกัน เรามีลูกชาย 2 คนจึงคิดเผื่ออนาคตไว้ บวกกับลูกๆ เองเขาก็อยากมีสเปซเป็นของตัวเอง เราซื้อที่นี่ไว้ประมาณ 5-6 ปี ก่อนจะเริ่มทำบ้านและย้ายเข้ามาอยู่ ไอเดียการออกแบบตกแต่งเราคิดกันเองกับแฟนว่าอยากได้ประมาณไหน สไตล์อะไร โดยตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกเลยว่าสเปซตรงกลางที่เชื่อมระหว่างบ้านทั้ง 2 หลังเราจะออกแบบเป็นห้องครัว มีส่วนลิฟวิงให้ทุกคนได้มาใช้เวลาด้วยกัน ทำอาหาร นั่งเล่น ทานข้าว ดูทีวี”

สเปซตรงกลางที่เชื่อมระหว่างบ้าน 2 หลัง ออกแบบเป็นห้องครัว มีส่วนลิฟวิงที่ทุกคนสามารถใช้เวลาร่วมกัรได้ ทำอาหาร นั่งเล่น ทานข้าว ดูทีวี

ภายในบ้านตกแต่งอย่างเรียบง่าย ให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายๆ ชั้นล่างแบ่งพื้นที่ใช้งานออกเป็นส่วนรับแขก ลิฟวิงและห้องครัวที่อยู่ในสเปซเดียวกัน ออกแบบให้ใช้งานได้ต่อเนื่องกับมุมนั่งเล่นเอาต์ดอร์ที่รายล้อมด้วยต้นไม้สีเขียวและมุมสวนที่ถูกจัดไว้อย่างสวยงาม ทั้งยังมีแปลงผักสวนครัวเล็กๆ ที่ปลูกไว้กินเอง โดยเลือกใช้ประตูกระจกบานเลื่อนที่สามารถเปิดรับลมและแสงสว่างได้อย่างเต็มที่ สามารถออกไปเห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอก สร้างความรู้สึกเชื่อมโยงถึงกันระหว่างสเปซภายในและภายนอกบ้าน            

ออกแบบให้มีช่องสำหรับจัดวางถังขยะ เพื่อความเรียบร้อยสวยงาม และมีลิ้นชักใต้ไอส์แลนด์ไว้จัดเก็บช้อนส้อม และจานชามที่ใช้งานบ่อยๆ

ภายในตู้สูงติดตั้งชั้นให้เก็บของได้อย่างเป็นหมวดหมู่

“สไตล์ของบ้านจริงๆ เราชอบอะไรที่ดูเรียบง่าย สไตล์มินิมอล เน้นโทนสีขาวกับงานไม้ รวมถึงส่วนของห้องครัวด้วย เราให้สเปซกับส่วนลิฟวิงเป็นส่วนใหญ่เพราะทุกคนต้องใช้งาน จะเรียกว่าเป็นห้องหลักของบ้านเลยก็ว่าได้ ห้องครัวของบ้านหลังนี้จึงกว้างกว่าบ้านเก่าเยอะอยู่เหมือนกัน” คุณปุ้ยอธิบายเพิ่มเติม

ถึงจะเป็นบ้านหลังใหม่แต่คุณปุ้ยก็ยังเลือกใช้ครัวของแบรนด์ DKBB เช่นเดิม “บ้านเก่าเราก็ใช้ชุดครัวของ DKBB ตอนนี้ผ่านเวลาไปเป็น 10 ปีแล้วยังสามารถรองรับการใช้งานได้ดี คือเรามองว่าครัวนอกจากดีไซน์สวยแล้วยังต้องมีความแข็งแรง ทนทาน เพราะเป็นส่วนที่เราต้องใช้งานจริงๆ ซึ่งชุดครัว DKBB เลือกใช้วัสดุที่ดีมีคุณภาพ และส่วนที่สำคัญคือการติดตั้งค่อนข้างเรียบร้อย ระหว่างการออกแบบทาง DKBB ก็ค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ            

เลือกใช้ประตูกระจกบานเลื่อนเปิดรับลมและแสงสว่างได้เต็มที่

“ส่วนโจทย์ที่เราให้กับทาง DKBB คือตอนเริ่มทำบ้านเรากับแฟนมีภาพในหัวแล้วว่าห้องครัวจะเป็นประมาณไหน สไตล์อะไร จะเรียกว่าออกแบบเองก็ได้ (หัวเราะ) เราบอกความต้องการซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่เริ่มทำแปลนต่อเติม ไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือตำแหน่งของหน้าต่างประตู ฟังก์ชันใช้งานในครัวอยากให้มีอะไรบ้าง เครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์จะอยู่จุดไหน ตู้ ชั้น ลิ้นชักในครัวจะจัดเก็บอะไร ไปจนถึงดีไซน์หน้าบานและการเปิด แล้วยังมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เรานำประสบการณ์จากครัวเก่ามาปรับให้ลงตัว บางอย่างใช้งานไม่ถนัดก็ออกแบบให้ใช้งานได้สะดวกคล่องตัวมากขึ้น จากนั้นทาง DKBB ก็ช่วยดูช่วยปรับให้อีกที”

วัสดุโครงสร้างของชุดครัวเป็น VI.PLUS ที่ทาง DKBB คิดค้นขึ้นมาเอง มีความทนทาน กันน้ำ กันปลวก แบบที่สามารถใช้งานได้เป็น 10 ปีโดยไม่ต้องกังวลใจ นี่ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่คุณปุ้ยเลือกใช้ชุดครัวของแบรนด์ DKBB

ตู้แขวนและลิ้นชักมุมคุกกิงไว้จัดเก็บอุปกรณ์และเครื่องปรุงสำหรับทำอาหาร

คุณพงศธรช่วยคุณปุ้ยอธิบายเพิ่มเติมว่า “ชุดครัวนี้คุณปุ้ยเองมีประสบการณ์และพื้นฐานจากการทำครัวมาแล้วจึงมีความต้องการที่ชัดเจน และมีดีเทลการออกแบบค่อนข้างละเอียดมาให้เราตั้งแต่แรก เช่น เวลาเลื่อนหน้าต่างเปิดแล้วอยากให้ก๊อกน้ำของซิงก์อยู่ตรงกลางหน้าต่างนะ เครื่องชงกาแฟอยากให้วางไว้มุมนี้พอดีกับช่องหน้าต่างที่ออกแบบไว้แล้ว มีอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรบ้าง เช่น ตู้เย็น ไมโครเวฟ เตาอบ เตาไฟฟ้า เตาแก๊ส เครื่องดูดควัน            

ภายในติดตั้งรางลิ้นชักและแบ่งช่องจัดเก็บช่วยให้หยิบใช้งานง่าย

“แต่บางอย่างก็จะมีข้อจำกัดในการออกแบบอยู่บ้างในส่วนที่เป็นเสาบ้านซึ่งเชื่อมระหว่างบ้านทั้ง 2 หลัง เราต้องดีไซน์เป็นตู้สูงผ่านหน้าเสาไปเพื่อช่วยแก้แปลนให้ปิดเสาไว้ให้มีความสวยงามและดูกลมกลืน ส่วนด้านหลังครัวจะมีห้องแทงก์น้ำกับงานระบบ คุณปุ้ยก็จะฟิกมาแล้วว่าหน้าต่างอยู่ตำแหน่งนี้ เพราะส่วนที่เป็นผนังทึบด้านหลังก็คือห้องแทงก์น้ำ เวลามองออกไปจะดูเรียบร้อยสบายตา เป็นรายละเอียดที่เจ้าของบ้านค่อนข้างใส่ใจ ถ้าคุณปุ้ยไม่ได้คิดเผื่อไว้แต่แรก เราอาจจะออกแบบให้หน้าต่างอยู่ตรงกลางแล้วสเปซในครัวคงไม่เป็นแบบนี้ก็ได้ แต่ทั้งหมดถูกคิดและวางแผนมาก่อนแล้วจึงทำให้ได้ครัวในแบบที่ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านจริงๆ”

หน้าต่างและซิงก์ที่ถูกกำหนดไว้ในตำแหน่งที่ลงตัวกันอย่างพอดิบพอดี

เพิ่มลูกเล่นให้ครัวดูมีมิติด้วยการติดตั้งไฟใต้ตู้แขวน

ในส่วนของฟังก์ชันใช้งานคุณปุ้ยบอกกับเราว่า “นอกจากฟังก์ชันใช้งานหลักๆ ชุดครัวนี้เราเน้นการจัดเก็บ คือถ้าออกแบบเป็นหน้าบานเรียบเฉยๆ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร เลยบอกคุณพงศ์ว่าขอให้เก็บของได้ทุกชั้นทุกลิ้นชัก แต่ละหน้าบานก็จะเปิดปิดไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความถนัดและความสูงว่าแบบนี้เราเปิดได้ไหม หยิบของถึงหรือเปล่า นอกจากนี้ก็มีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราบอกว่าปรับมาจากการใช้งานครัวเก่า เช่น ดีไซน์ให้มีช่องใส่ถังขยะใต้ไอส์แลนด์เพื่อให้ดูเรียบร้อย ภายในตู้ติดตั้งรางลิ้นชักสำหรับแขวนหม้อกับกระทะ จากปกติจะเป็นตู้โล่งๆ พอเราวางซ้อนๆ กันไว้ บางทีหม้อกับกระทะขูดกันไปมาเป็นรอยไปหมด หยิบใช้งานก็ยาก พอติดตั้งรางลิ้นชักแบบดึงออกมาได้ช่วยให้หยิบใช้งานสะดวกมากขึ้น”

ด้านหน้าไอส์แลนด์ออกแบบให้นั่งเล่นนั่งทานอาหารได้ในตัว

“ด้วยขนาดของครัวนี้ค่อนข้างกว้าง คุณปุ้ยเลยบอกว่าอยากมีไอส์แลนด์ตรงกลางไว้เป็นพื้นที่ส่วนเตรียม วางของ ด้านหน้าสามารถนั่งเล่นนั่งทานอาหารง่ายๆ ได้ ถ้าสังเกตจะเห็นว่าภายในครัวเหมือนแบ่งสเปซใช้งานเป็น 2 ส่วน ด้านหนึ่งใช้งานเป็นแพนทรีเตรียมของ เตรียมเครื่องดื่ม ชงกาแฟ ถัดไปอีกด้านหนึ่งเป็นมุมคุกกิงมีส่วนเตรียม ปรุง ล้าง ที่ใช้งานได้ต่อเนื่องลงตัวพอดิบพอดี” คุณพงศธรช่วยคุณปุ้ยอธิบายทิ้งท้าย

สอบถามหรือดูข้อมูลเพิ่มเติม decorschoice.co.th


You Might Also Like...