News & Event

CPF ชูโมเดลโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา หนุนประโยชน์สู่ชุมชน


ซีพีเอฟ เดินหน้าบริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดตลอดกระบวนการผลิตควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม ชูโมเดลโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก นำเปลือกไข่บดที่เหลือจากกระบวนการผลิต แบ่งปันให้เกษตรกรในพื้นที่ทำปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหาร และเน้นผลผลิตอาหารปลอดภัย  สอดรับเป้าหมายความยั่งยืนขององค์กร ลดขยะและขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ใน ปี 2030 และเดินตามเป้าหมาย SDGs

ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรตลอดกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ ขณะเดียวกัน บริษัท ฯ เดินตามเป้าหมายความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือเครือซีพี ลดขยะและขยะอาหารสู่หลุมฝังกลบ ให้เป็นศูนย์ใน ปี 2030  (Zero Food Waste to Land Fill) โดยตั้งคณะทำงาน “สร้างคุณค่า ไร้ขยะ… Waste to Value”ขึ้น เพื่อบริหารจัดการด้านลดการสูญเสียอาหาร (Food Loss) , ขยะอาหาร (Food Waste) และบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน (Sustainable Packaging) ขับเคลื่อนการดำเนินการภายใต้กรอบแนวปฏิบัติสากลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) :  food loss and waste protocol (FLW)

ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว ในส่วนของโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก  มีการบริหารจัดการเปลือกไข่จากกระบวนการผลิต ปีละเฉลี่ย 1,000 ตัน โดยดำเนินโครงการ”ปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด” ตั้งแต่ปี  2557 นำเปลือกไข่บดกระจายให้เกษรกรในพื้นที่นำไปหมักทำปุ๋ย หรือนำไปผสมเตรียมดินเพื่อใช้ปลูกต้นไม้  โรยที่โคนต้นไม้ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับสถานีพัฒนาที่ดินนครนายก อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อให้คนในชุมชนและเกษตรกรนำปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ สามารถช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี

สร้างความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน และเป็นการส่งเสริมชุมชนบริโภคผลผลิตที่ปลอดภัย เป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ตัดวงจรการนำเปลือกไข่ไปทิ้งสู่หลุมฝังกลบ (Waste to Landfill)สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ชุมชนและสังคมโดยรอบ และยังเป็นโครงการที่สอดรับตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals :SDGs) อาทิ ขจัดความอดอยากและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ส่งเสริมความยั่งยืนในระบบนิเวศบนบก และการสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2563  โรงงานฯมีปริมาณเปลือกไข่จากกระบวนการผลิตทั้งหมด 1,302 ตัน  จัดสรรให้เกษตรกร  65 % และอีก 35 %  นำไปใช้ปรับพื้นที่ในโรงงาน   ขณะที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564  (ม.ค.-เม.ย.64) มีปริมาณเปลือกไข่ 520 ตัน  ปัจจุบันมีเกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 80 รายที่ได้รับประโยชน์ และมีการขยายสู่กลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง


You Might Also Like...