นับเป็นความโชคดีของวงการออกแบบที่มีดีไซเนอร์สายเลือดไทยไอเดียกระฉูดเข้ามาสร้างสีสันให้โลกแห่งงานดีไซน์ดูสนุกและคึกคัก ด้วยการผลิตชิ้นงานแปลกใหม่ที่ไม่มีใครเหมือน ภายใต้แบรนด์ “This Means That” เป็นของแต่งบ้านที่เรียกได้ว่าจะเข้ามาช่วยเพิ่มบรรยากาศให้บ้านหรือสถานที่แห่งนั้นดูน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
This Means That เริ่มต้นขึ้นจากไอเดียของคุณนก-ธันย์ชนก ยาวิลาศ และคุณไผ่-ปัญจพล กุลปภังกร ซึ่งเขาทั้งคู่มีความสนใจในเรื่องของการสื่อสาร จึงหยิบเอาเรื่องราวที่พวกเขาพบเจอ สิ่งที่คุ้นเคยรวมถึงบริบทรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของหรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างชิ้นงาน แล้วนำกลับมาตีความใหม่ให้กลายเป็นของแต่งบ้าน โดยใส่ดีไซน์และเอกลักษณ์เฉพาะที่ชัดเจนของพวกเขาลงไปในงานแต่ละคอลเล็กชัน
“เราวางคอนเซ็ปต์ไว้แต่แรกว่าอยากทำของแต่งบ้าน ก็เริ่มคุยกันว่าจะเอาอะไรเป็นธีมให้กับของแต่งบ้านดี เลยคิดถึงคำว่า Welcome เหมือนการเชื้อเชิญ ต้อนรับ เพราะเป็นคอลเล็กชันแรกด้วย แรงบันดาลใจเกิดจากตอนนั้นเราไปเดินแถวๆ เสาชิงช้า ย่านนั้นขายพระเยอะมาก สังเกตว่าแทบทุกร้านมีนางกวักอยู่หน้าร้าน เราเลยรู้สึกว่านางกวักนี่เป็นวัตถุชนิดหนึ่ง ถ้าเราตัดเรื่องความเชื่อออกไปมันจะเป็นของแต่งบ้านที่มีฟังก์ชันของการเชื้อเชิญคนเข้ามา เลยตัดสินใจทำนางกวักเป็นคอลเล็กชันแรก แล้วนำมาปรับให้เข้ากับยุคสมัยแล้วเล่าเรื่องราวใหม่ ณ ช่วงปี 2014 และค่อยๆ เปลี่ยนดีไซน์มาเรื่อยๆ จนถึงปี 2017
เราคิดว่าประเด็นความเชื่อของคนไทยนั้นน่าสนใจ เพราะบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยได้ นอกจากจะดึงเอาความเชื่อเข้ามาแล้วก็ปรับดีไซน์โดยลดรายละเอียดให้น้อยลง ลองเปลี่ยนชุดของนางกวักให้มีความเรียบเพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น ใช้โทนสีเป็นสีเดียว เอากระเป๋าแบรนด์เนมแล้วใส่แว่นตากันแดดเข้ามาเป็นลูกเล่นมีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น”
นอกจากคอลเล็กชันแรกที่เป็นนางกวักแล้วก็ยังมีเซ็ตหมูสองหัว โดยนำเอาความเชื่อเข้ามาเล่นกับชิ้นงานอีกเช่นกัน เป็นความเชื่อในเรื่องโชคลาภ เพราะเวลามีสัตว์ที่เพิ่งออกลูกแล้วมีความผิดปกติ ดูผิดรูปผิดร่างไปจากเดิม คนไทยก็จะคิดว่าเป็นโชคลาภ เดินทางไปขอเลขเด็ด ขอหวย ซึ่งพวกเขาก็สามารถสร้างสรรค์ของตกแต่งโดยดีไซน์เป็นหมูสองหัวออกมาได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีคอลเล็กชัน Feel Like a Home มีทั้งโคมไฟ หมอน พาน แจกัน เป็นของตกแต่งที่เกิดจากการที่พวกเขาไปพบเจอผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกตามท้องถนนพยายามทำสเปซเหล่านั้นให้เป็นพื้นที่ส่วนตัวของเขาเอง แล้วนำมาต่อยอดให้กลายเป็นของแต่งบ้านที่มีดีไซน์โดยเน้นไปที่ฟังก์ชันใช้งานแต่ก็ยังมีเรื่องราวที่พวกเขาพบเจอสอดแทรกอยู่ในงานเหล่านั้น
งานดีไซน์อาจไม่ได้สำคัญที่รูปแบบหรือสไตล์ แต่เรามองไปถึงแนวคิดของนักออกแบบมากกว่าว่าสามารถนำสิ่งที่พบเห็นรอบตัวมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นชิ้นงานใหม่ได้อย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับของแต่งบ้านแบรนด์ This Means That ที่หยิบเอาสิ่งเก่าๆ มาตีความใหม่ที่สามารถสร้างสีสันและความสนุกให้กับโลกของเราและโลกของงานดีไซน์ได้น่าประทับใจ
เว็บไซต์ : www.thismeansthatstudio.com
เบอร์ติดต่อ : 08-0920-2224
บทความจากคอลัมน์ ” Interior Gallery ” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 127 ประจำเดือนมีนาคม 2560