PLERN DU ถูกสร้างขึ้นจากความหลงใหลและรักในงานไม้ โดยเลือกใช้เวลาว่างหลังจากการเป็นนักออกแบบตกแต่งภายในและภูมิทัศน์มาสรรค์สร้างงานฝีมือ โดยหวังให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์และความสุขนั้นร่วมกัน PLERN DU จึงคือ “Stationary Come to Life” ที่สามารถตกแต่ง ปรับเปลี่ยนตำแหน่งของบ้านไม้ ก้อนหิน ต้นไม้ ได้ตามความต้องการ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Design Your Space” ผู้ใช้อาจตกแต่งเองหรือจะชวนครอบครัวมาช่วยกันตกแต่งด้วยก็จะทำให้เกิดความเพลิดเพลินมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปวางตกแต่งไว้ได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นบนโต๊ะทำงาน, Workshop, ใช้ตกแต่งบ้านหรือมุมโปรดได้อย่างลงตัว ทั้งสีและรูปทรงของไม้ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินชวนดู เข้าได้กับทุกสไตล์
คุณอ้อ-ปาริชาติ ศรีธัญญา นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์งานคราฟต์เพลินดู (PLERN DU CRAFT)ผู้ผ่านประสบการณ์ มุมมองความคิด และการทำงานกับผู้คนที่หลากหลาย คุณอ้อบอกว่าเวลาทำงานจะรู้สึกสนุก เพราะได้เจอคนมากมาย และเธอก็ชื่นชอบงานคราฟต์ที่บรรจงทำเองทีละชิ้นด้วยสองมือของเธอเอง
PLERN DU งานคราฟต์ที่ชวนเพลิดเพลิน
PLERN DUมาจากตอนทำงานคราฟต์ ความรู้สึกเราก็จะเพลินๆ เวลามองดูงานก็ยิ่งเพลินเข้าไปอีก เลยนำมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ซึ่งพี่ทำงานออกแบบบ้านอยู่แล้ว เริ่มต้นจากการเป็นอินทีเรีย หลังๆ ก็มีงานรีโนเวต จากนั้นก็มาออกแบบบ้าน อาคาร ปัจจุบันก็ยังทำอยู่ และทำแบรนด์งานคราฟต์ควบคู่ไปด้วย จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากการที่เราเสียดายวัสดุที่มันเป็นโจทย์ในงานออกแบบของเรา วัสดุเหล่านี้มาจากสิ่งของที่เหลือจากการทำบางสิ่งอยู่แล้ว ก็นำเอามาสร้างสรรค์เป็นบุคลิกใหม่ๆ ให้คนรู้สึกว่าทำมาจากสิ่งนี้ได้ด้วย
สำหรับวัสดุที่นำมาออกแบบเป็นพวกเศษไม้ อิฐมวลเบาจากงานก่อสร้างทั้งหลาย งานจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามคอนเซ็ปต์ที่คิดขึ้นมา ซึ่งโปรดักต์ดีไซน์ของเราจะเน้นให้คนเล่นสนุก ปรับเปลี่ยนได้ มีความโฮมมี่ โดยใช้วัตถุดิบที่ต้องการให้คนได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่ถูกทิ้งไป เช่น อิฐที่ทำผนังส่วนที่ถูกตัดออกจากไซต์งานเราก็นำมาสร้างสรรค์ทำเป็นของแต่งบ้านต่อ ส่วนไม้จะเป็นไม้วงกบและไม้ที่สั่งเพิ่มเข้ามา แต่เป็นไม้ระบบเลี้ยงที่ไม่ยุ่งกับไม้อนุรักษ์ บางทีก็เป็นไม้ที่รื้อจากบ้านเก่า เป็นการนำของเก่ามารียูส เพื่อสร้างคุณค่าให้ของเก่าดั้งเดิมดูดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็มีเพื่อนที่ทำงานออกแบบโปรดักต์ดีไซน์ มีเศษหนังที่เหลือทิ้งจากการทำงานคราฟต์ก็นำเอามาใช้ในงานของเรา หรือเศษไม้เก่าๆ ก็นำมาสร้างสรรค์ให้เกิดฟอร์มขึ้นมาใหม่ บางทีเราได้เศษวัสดุจากย่านที่ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ เช่น ย่านบางโพ เขาก็จะมีเศษไม้เหลือๆ จากงานกลึงกองไว้ เราก็ได้วัสดุจากแหล่งพวกนี้แล้วนำมาผสมกับวัสดุที่เรามีอยู่ งานบางชิ้นเราก็จะทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็นว่ามันมาจากเศษวัสดุจริงๆ เพื่อสื่อให้เห็นว่าของพวกนี้มีคุณค่า สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยงานแต่ละชิ้นจะเป็นแฮนด์เมด ทำคนเดียวไปเรื่อยๆ ที่สำคัญทำให้ตัวเองมีสมาธิที่ดีด้วย
วัสดุเหลือทิ้งที่สร้างคุณค่า ทั้งความน่ารักและดีต่อใจ
วัสดุบางอย่างที่เราได้มาก็ปล่อยฟรี เป็นเศษทรงไหนมาก็ปรับจากสิ่งที่เขาเป็นให้เรียบลื่นขึ้น ทุกอย่างต้องเอาไปแช่น้ำก่อนและนำมาขัดเกลา ผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน วันหนึ่งทำได้ไม่เกิน 5-10 ชิ้น จริงๆ เสียงกระดาษทรายที่ขัดอิฐมวลเบามันจะเพลินมาก พี่มองว่างานพวกนี้เหมือนมนุษย์ เราอย่าไปฝืนอะไรมาก รูปทรงมาแบบไหนเราก็ค่อยๆ ขัดเกลาไป มันก็จะเรียบลื่นไปเอง โดยฟังก์ชันของงานจะมีหลายรูปแบบ เช่น เป็นที่วางโทรศัพท์ที่ทำจากอิฐมวลเบา หรือเป็นอะโรมาตัวกระจายกลิ่น และงานบางอันคนซื้อก็สามารถดีไซน์งานของตัวเองได้ เราจะมีบอดี้ให้ คุณก็สามารถเพิ่มเติมองค์ประกอบต่างๆ เข้าไปเพื่อเปลี่ยนบุคลิกใหม่ และอาจจะมีบางสิ่งเพิ่มเข้ามาเป็นลูกเล่น เหมือนแต่งตัวให้กับเขา บางชิ้นงานก็ทำเป็นหมู่บ้านก็จะมีต้นไม้ให้ ตกแต่ง หรืออย่างผลงาน “ใจเบา” ที่ถูกประกอบร่างจากหลายสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นอิฐมวลเบาที่ไม่สามารถนำไปก่อเป็นผนังบ้านได้แล้ว หรือไม้จามจุรีที่เหลือจากการตัดออกจากไม้แผ่นใหญ่ที่นำไปทำเฟอร์นิเจอร์ ที่สำคัญส่วนมงกุฎน้อยๆ บนหัวของน้องยังเป็นหินแคลไซต์ (Calcite) ที่ว่ากันว่าเป็นหินแห่งปัญญาญาณ ถ้าวางไว้ใกล้ตัวจะส่งผลให้จิตใจเราสงบ จะก่อให้เกิดปัญญา ช่วยให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยให้ออกจากความสับสน หดหู่ ซึมเศร้า โกรธ บำบัดได้ทั้งร่างกายและจิตใจ
คุณค่าของงานคราฟต์
ความหมายของงานคราฟต์คือ สิ่งที่เราลงมือทำทุกชิ้น ทุกอย่าง ประกอบออกมาเป็นชิ้นงาน แล้วเราทำด้วยความรู้สึกผูกพัน ถ้าเราอารมณ์ไม่ดีก็ไม่อยากทำ เพราะรู้สึกว่าใส่อารมณ์ไม่ดีเข้าไปในงาน คนที่ได้รับเขาอาจจะรู้สึกไม่ดีก็ได้ ในช่วงระยะเวลาที่ทำงานเราได้ความรู้สึกดีๆ กับการทำงานแล้วส่งต่อไปกับงานคราฟต์ และเราก็อยากให้คนทำงานคราฟต์ทำไปด้วยความรู้สึกรักในงานก่อนที่จะส่งต่อไปให้ผู้อื่น
ติดตามงานคราฟต์ที่ชวนเพลินตาเพลินใจได้ที่
Facebook : plernducraft
Instagram : @aorplerndu