Lifestyle & Cooking People

ความสุขบนเส้นทางสายเบเกอรี่ของภัทธิรา ยิ่งวัฒนา เจ้าของเบเกอรี่โฮมเมด Teatime Story’s


อีกหนึ่งบริบทแห่งความสุขบนเส้นทางการทำเบเกอรี่ของคุณติ๊ก-ภัทธิรา ยิ่งวัฒนา เจ้าของเบเกอรี่โฮมเมด Teatime Story’s คือการได้สร้างสรรค์งานศิลปะลงบนคุกกี้ที่ตัดด้วยคุกกี้คัตเตอร์เป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่งแต้มลวดลายด้วยรอยัลไอซิ่ง ที่พร้อมส่งต่อความสุขให้กับทุกๆ คน

15
ความสุขในห้องเบเกอรี่ที่คุณติ๊กทำชั้นและกล่องสำหรับจัดเก็บคุกกี้คัตเตอร์ไว้อย่างเป็นหมวดหมู่

จากการเริ่มลงเรียนเป็นคอร์สสั้นๆ กับครูผู้เชี่ยวชาญด้านรอยัลไอซิ่ง ตลอดจนมีโอกาสได้บินไปเรียนกับ Amber Spiegel สาวเก่งจากนิวยอร์คเจ้าของเว็บ SweetAmbs ที่สร้างชื่อเสียงจากการแต่งหน้าคุกกี้ซึ่งมาเปิดคอร์สสอนที่ไต้หวัน ทำให้ปัจจุบันคุณติ๊กเป็นหนึ่งในคนไทยไม่กี่คนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำรอยัลไอซิ่งและเธอก็ยังคงพัฒนาฝีมือของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

6
รอยัลไอซิ่งคุกกี้ที่กดจากพิมพ์รูปผีเสื้อและดอกไม้ชนิดต่างๆ

7
ผลงานรอยัลไอซิ่งคุกกี้ชิ้นแรก ที่เรียนกับ AmberSpiegel โดยมีซิกเนเจอร์เป็นลายดอกไม้

โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้คุณติ๊กรู้สึกสนุกและสร้างสรรค์งานรอยัลไอซิ่งคุกกี้ออกมาให้ทุกคนต่างหลงรักขนมชนิดนี้ตั้งแต่แรกเห็นคงเป็นความน่ารักของคุกกี้คัตเตอร์พิมพ์กดคุกกี้หลากหลายแบบ ซึ่งมีตั้งแต่ลายพื้นฐานไปจนถึงลายที่เป็นคอลเล็กชันต่างๆ ที่ไม่มีขายในเมืองไทยก็มี

11
ผลงานที่เรียนกับครูชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นภาพลักษณะ 3 มิติ ซึ่งลอกลายจากภาพที่คุณติ๊กวาด โดยน้องชานมสุนัขตัวโปรดเป็นแบบบนคุกกี้คัตเตอร์ ขนาด 7 นิ้ว

5

“เริ่มสะสมคุกกี้คัตเตอร์มาได้ปีกว่าแล้วค่ะ สำหรับคนที่ทำขนมก็จะมีของกุ๊กกิ๊กพวกนี้อยู่ในครัวบ้าง แต่พอมาทำรอยัลไอซิ่งคุกกี้อย่างจริงจังก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และพอติ๊กลงรูปรอยัลไอซิ่งคุกกี้ในเฟซบุ๊กอยู่ตลอด คุกกี้คัตเตอร์ ก็จะหลั่งไหลมาจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เวลาเขาไปต่างประเทศก็จะซื้อมาฝาก จากเยอรมนีบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง แล้วบางเซทก็มาจากอังกฤษ จริงๆ ของพวกนี้ในเมืองไทยยังมีน้อยและไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไร ติ๊กก็เลยมองว่างานประเภทนี้เป็นเหมือนงานศิลปะ เพราะส่วนตัวเองติ๊กมีพื้นฐานวาดภาพสีน้ำอยู่แล้ว ดังนั้นคุกกี้ก็เปรียบเสมือนแคนวาสชนิดหนึ่งที่เราสามารถได้จิตนาการสร้างความพิเศษให้กับชิ้นงานได้”

3

2

ในวันนี้คุณติ๊กมีคุกกี้คัตเตอร์ รูปแบบต่างๆ ที่จัดเก็บใส่กล่องไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อความสะดวกในการนำมาใช้งาน เช่น รูปสัตว์ต่างๆ รูปตัวหนังสือ ตัวเลข รูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ชุดของเล่นเด็ก เช่น ลิปสติก รองเท้า เครื่องบิน ,รูปหัวใจก็จะมีหลายแบบ รูปดอกไม้ ใบไม้ ชุดคริสต์มาส เป็นต้น ซึ่งชุดที่ชอบเป็นพิเศษคือพิมพ์กด Snowflake ของฝากจากนอตติงแฮม เพราะในคริสต์มาสความเป็น Snowflake จะให้ความรู้สึกที่ดูนุ่มนวล น่ารัก ซึ่งพิมพ์กดแบบนี้ในเมืองไทยยังค่อนข้างหายาก และชุดที่เพื่อนซื้อมาฝากนี้ก็สวยถูกใจเธอมากๆ ด้วย

10

8
คุกกี้คัตเตอร์ชุด Snowflake

นอกจากนี้คุณติ๊กยังบอกอีกว่าคุกกี้คัตเตอร์ในแต่ละแบบก็ยังมีข้อดีข้อด้อยที่แตกต่างกันไป อย่างถ้าเป็นวัสดุโลหะก็อาจขึ้นสนิมง่ายตามซอกต่างๆ วิธีทำความสะอาดและดูแลรักษาเมื่อเราใช้งานเสร็จแล้วให้รีบล้างและทำความสะอาดด้วยแปรงแล้วซับน้ำนิดหนึ่งแล้วนำไปผึ่งแอดอ่อนๆ โดยพิมพ์ที่เป็นสเตนเลส เวลาตัดจะคมได้ลวดลายที่ชัดเจน ถ้าเป็นแบบเคลือบด้วยความที่ขอบบางก็ทำให้งานออกมาค่อนข้างเนี้ยบ แต่ถ้าเป็นพลาสติกจะมีข้อดีตรงที่ว่าสามารถกดลายได้โดยไม่มีรอยต่อ ทำความสะอาดง่าย แค่ผสมน้ำอุ่น น้ำส้มสายชู ล้างก็สะอาดแล้ว แต่ข้อด้อยของพลาสติกเวลาที่กดพิมพ์ออกมาแล้วขอบจะไม่ค่อยเรียบจึงต้องใช้ตะไบในการตกแต่ง

13
คุกกี้คัตเตอร์รูปสัตว์ต่างๆ

4

ความสุขในวันนี้นอกจากจะทำให้คุณติ๊กรู้สึกสนุกกับการทำขนมที่ผสมผสานทักษะทางศิลปะของเธอลงบนคุกกี้รูปแบบต่างๆแล้ว เธอบอกว่าถ้าเปรียบเทียบกับการทำงานทุกอย่างที่เคยทำมาในชีวิตนั้นแตกต่างไปจากงานรอยัลไอซิ่งคุกกี้โดยสิ้นเชิง เพราะงานนี้คือสิ่งที่ทำให้เธอสามารถลงลายเซ็นต์ไปในงานของตัวเองได้

14

“ต่อไปถึงแม้ไม่มีเราคนก็จะจดจำได้ว่าขนมหน้าตาแบบนี้เป็นงานที่เราทำ อาจจะเป็น 1 ใน 10 ของเมืองไทยที่คนจะนึกถึง ซึ่งคนที่ทำงานตรงนี้แต่ละคนก็เป็นเหมือนนักวาดภาพที่มีคนชื่นชอบแนวของแต่ละคนอยู่แล้ว อย่างคุกกี้ผีเสื้อหนึ่งตัวสามารถที่จะวาดลายนูนต่ำนูนสูงจะประดับอะไรลงไปก็ได้ ให้สิบคนมาทำก็จะได้ผีเสื้อน่ารักๆ สิบแบบ อย่างติ๊กเองไม่ได้ทำผีเสื้อที่เป็นลายแปลก ๆ แต่ติ๊กเลือกทำผีเสื้อที่มีสีพื้นแล้วมีดอกไม้ประดับตามตัวผีเสื้อเต็มไปหมด โดยที่ออกแนวแอบสแตรกมากกว่าก็ถือเป็นกำไรแก่คนที่เห็นและชื่นชอบงานด้านนี้ด้วย” สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับรอยัลไอซิ่งคุกกี้ คุณติ๊กก็มีกิจกรรมดีๆ เปิดเวิร์กชอป ถ่ายทอดวิชาและเคล็ดลับการทำคุกกี้และทำไอซิ่งวาดลายต่างๆ เข้าไปดูรายละเอียดที่ teatimestorythai

บทความจากคอลัมน์ ” Decollector ” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 126 ประจำเดือนกุมภาพนธ์ 2560


You Might Also Like...