Lifestyle & Cooking People

PHRAEVA Presents…งานผ้าและคุณค่าในแบบฉบับของแพรวา


ในบางช่วงชีวิตของคนเราอาจจะเคยตั้งคำถามกับ ตัวเองว่า เราชอบอะไร จะเลือกเรียนสาขาไหน หรือทำงานอาชีพอะไรดี คำถามยิบย่อยเหล่านี้ขมวดเป็นปมใหญ่ที่ว่า “แล้วเราจะมีความสุขกับมันหรือเปล่า” ดูเป็นคำถามที่ชวนปวดหัว แต่เชื่อว่าหลายคนคงมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่ในใจ เช่นเดียวกับ แพรวา รุจิณรงค์ หญิงสาวที่มีคาแรกเตอร์ห้าวๆ พูดจาห้วนๆ ตรงไปตรงมา แต่ดูอ่อนโยนทุกครั้งที่เธอพูดถึงเรื่องราวของ “ผ้า” สิ่ง เดียวที่ยึดโยงทุกอย่างในชีวิตของเธอเอาไว้ เส้นไหมทุกเส้นจึงถูกถักทอด้วยความประณีต ตั้งใจ และเต็มไปด้วยความรัก บางครั้งความสุขต้องลงมือทำ เธอบอกกับเราแบบนั้น

ณ เติมเต็มสตูดิโอ….ภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่นุ่งผ้าถุง สวมเสื้อสีพื้นธรรมดา แต่ทาปากสีสันสดใส วิ่งมาต้อนรับเราด้วยความตื่นเต้น เป็นภาพที่นึกถึงทีไรก็ต้องยิ้มออกมาทุกที บทสนทนาวันนั้นเต็มไปด้วยเรื่องราว เสียงหัวเราะ และรอยยิ้ม

เติบโต เรียนรู้ และซึมซับ
“เราเป็นคนไม่ได้หวือหวาอะไร พื้นเพครอบครัวเป็นคนต่างจังหวัด ในช่วงปิดเทอมก็จะมีโอกาสไปอยู่บ้านคุณพ่อคุณแม่บ้าง ซึ่งทางบ้านคุณแม่ส่วนใหญ่จะรับราชการ เราก็จะมีโอกาสได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ไปเล่นไปสนุก ตอนนั้นรู้สึกมีความสุข มันเป็นชีวิตที่ดีนะสำหรับเรา พอเวลาเปิดเทอมก็ต้องกลับมาเรียนที่กรุงเทพฯ แต่ก็ยังคิดถึงเวลาที่ได้ไปอยู่ต่างจังหวัดอยู่ตลอดเวลา เราชอบความเป็นต่างจังหวัด” เป็นการแนะนำตัวเองที่เรียบง่าย และเป็นกันเอง จากเด็กที่เติบโตและผูกพันกับการใช้ชีวิตต่างจังหวัด ก็ค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวของการทอผ้า

ต้องเท้าความเรื่องผ้าก่อนเลยว่า DNA เรื่องนี้เริ่มมาจากทวดของเรา ท่านชอบทอผ้าใส่เอง และในสมัยก่อนเวลารับราชการจะต้องนุ่งผ้าโจงกระเบน คุณทวดก็ต้องทอผ้าให้ลูกชายใส่ไปทำงาน  ในส่วนของคุณยายก็จะทำงานเกี่ยวกับผ้าไทยมาโดยตลอด คือทำงานถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ ในเรื่องผ้าไทยมาตั้งแต่ตอนที่เรายังไม่เกิด ซึ่งตอนที่เป็นเด็กเราก็ไม่รู้ว่าที่คุณยายทำนั้นมีความสำคัญอย่างไร แต่เราก็ชอบตามคุณแม่กับคุณยายไปร้านขายผ้า แม่ก็จะซื้อผ้ามาใส่เป็นผ้าถุงอยู่บ้านบ้าง เราก็ซึมซับสิ่งเหล่านี้มาเรื่อยๆ

พัสตราภรณ์ กับการค้นหาตัวเอง
ตอนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยก็คิดอยู่ว่าจะเรียน อะไร แต่สุดท้ายก็ติดพัสตราภรณ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนั้นคิดนะว่าแล้วแบบนี้ทำอย่างไรดีเพราะชีวิตเรามันไม่ได้โมเดิร์น งานทองานแรกเราก็ทอแบบดั้งเดิม ครูก็ถามว่าทำไมเราทอแบบนี้มันไม่โมเดิร์นเลย ตอนนั้นครูเขาอยากให้ใส่ดีไซน์เข้าไปเยอะๆ เพราะเราเป็นนักออกแบบ แต่เราไม่ถนัด ตอนนั้นก็เคว้งคว้างว่าจะทำอย่างไร

พอดีตอนปีสามได้มีโอกาสไปฝึกงานกับอาจารย์วีรธรรม ที่จังหวัดสุรินทร์ ตอนนั้นอาจารย์สอนเราตั้งแต่กระบวนการย้อมเส้นไหม การขึ้นเส้นยืน การทอ และทุกกระบวนการที่เกี่ยวกับการทอผ้าทั้งหมด การขิด การยก การตกตะกอน รายละเอียดเล็กน้อยสอนเราหมด อีกทั้งยังมีแม่ครู (คนสอนทอผ้า) มาสอนเราโดยตรงตามความถนัดของแม่ครูแต่ละคนว่าใครเก่งด้านไหน ซึ่งสิ่งที่ได้จากการไปฝึกงานนอกจากความรู้ที่ครูให้มาแล้ว ยังได้ความอดทน ถ้าเราอยากไปให้สุดทางคือต้องมีความพยายาม และตั้งใจจริงๆ

พอเล่าถึงตรงนี้เธอหันมาสบตาเราแล้วพูดว่า “ตอนนั้นถึงรู้ว่าสิ่งนี่แหละมันโคตรใช่เราเลย”

เติมเต็มสตูดิโอ กับ บทบาทข้าราชการ
ใครจะเชื่อว่าแพรวา ผู้หญิงที่มีบุคลิกเป็นนักออกแบบจ๋าขนาดนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่าทาง การแต่งตัว และคาแรกเตอร์ที่ห้าวๆ แบบนี้จะทำงานรับราชการในส่วนงานของกรมหม่อนไหม “นั่นนะสิ ใครๆ ก็พูดกับเราแบบนี้แหละว่าเราเนี่ยนะจะไปทำงานรับราชการ”

ในส่วนของงานที่รับผิดชอบคือเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ดูแลโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ส่งเสริมเกษตร ช่างทอ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มคนเหล่านี้ เหมือนกับว่าเราเป็นหมอ ตรงไหนเป็นโรคเราก็จะไป ต้องการให้ไปซ่อมผ้า ไปช่วยเยียวยาลวดลาย ต้องการให้ช่วยกลุ่มคนทอผ้า โดยนำความรู้ของการเป็นนักออกแบบไปช่วยแนะนำดีไซน์ใหม่ๆ อีกทั้งเรายังต้องเก็บความรู้ข้อมูลเก่าแก่เอาไว้ด้วย ช่วยค้นข้อมูลทางวัฒนธรรม ถอดลวดลายจากผืนผ้าเดิม สืบหาประวัติจากในพื้นที่นั้นๆ เหมือนเป็นทั้งนักออกแบบแล้วต้องเป็นนักวิจัยไปพร้อมๆ กัน

สิ่งที่ทำให้ยังทำงานตรงนี้อยู่ เพราะรู้สึกว่าการได้ทำเพื่อคนอื่นนั้นมันทำให้เรารู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง เวลาไปเห็นคนทอผ้าในต่างจังหวัดทั้งๆ ที่ชีวิตพวกเขามีปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องครอบครัวหรือความยากจน แต่พอขึ้นกี่ทอผ้าหน้าตาเขามีความสุขมาก พอคุยเรื่องผ้าทุกคนยิ้มแย้ม เรารู้สึกว่านี่แหละคือความสุขจริงๆ เพราะเขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เราก็คิดว่าถ้าต่อไปไม่มีใครซื้อผ้าแล้วเขาจะทำมันไปเพื่ออะไร นี่แหละคือสิ่งที่เรายังคงต้องทำต่อไป ไม่ใช่แค่เพื่อเราแต่เพื่อให้คงไว้ซึ่งคุณค่าของงานฝีมือและงานวัฒนธรรมเอาไว้

เติมเต็มสตูดิโอนี้ เป็นความคิดของเราตั้งแต่เด็กว่าอยากจะมีที่สอนเรื่องงานทอผ้าเป็นของตัวเอง ถ่ายทอดสิ่งที่เราไปเรียนรู้มาเพื่อให้คนอื่นนำไปต่อยอด อย่างน้อยๆ มันก็ยังมีคนที่สนใจและยังทำสิ่งเหล่านี้อยู่เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนรู้ สืบทอด ไม่ให้คุณค่าเหล่านี้มันหายไป จริงๆ กระบวนการทอผ้านี้ต้องบอกก่อนว่าผ้ามันเป็นวัฒนธรรมคนไทย ผ้ามีหลายชาติพันธ์ หลายวัฒนธรรม หลายศาสนา หลายชนเผ่า ผ้ามันบอกคาแรกเตอร์ของวัฒนธรรมเหล่านั้นได้ดี ผ้าของคนภาคต่างๆ ก็จะบอกเล่าเรื่องราวที่ต่างกันออกไปด้วย มันสะท้อนให้เห็นถึงการไหลของวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น และมันเป็นสิ่งที่ยึดโยงพวกเราเอาไว้ด้วยกัน

ในขณะที่เรากำลังปิดต้นฉบับอยู่นี้ ผู้หญิงที่ชื่อว่า แพรวา รุจิณรงค์ กำลังลงพื้นที่เกี่ยวกับงานทอผ้าที่ จังหวัดชัยภูมิ หลังจากที่เธอเพิ่งกลับจากจังหวัดบุรีรัมย์เมื่อไม่กี่วัน ภาพของแพรวา กี่ทอผ้า และเส้นไหม จึงเป็น 3 สิ่ง ที่สะท้อนวิธีการคิด การใช้ชีวิตเพื่อเชื่อมโยงสิ่งที่ตัวเองรักเอาไว้ได้อย่างงดงามในแบบของเธอเอง


You Might Also Like...