“งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการ
ส่งเสริมอัจฉริยภาพของศิลปินแล้ว ยังสร้างเกียรติให้แก่ชาติ และ
อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนโดยส่วนรวมให้มีโอกาสใฝ่ใจในสิ่งที่
สวยงาม เจริญตา และเจริญใจ เป็นผลให้เกิดนิสัยรักความประณีต
วิจิตรบรรจง มีความรู้สึกละเอียดอ่อนเกิดความคิดในทางที่ดีงาม
เป็นการยกระดับทางจิตใจของประชาชนในชาติให้สูงขึ้น”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในพิธีเปิดงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๕
ผลงานศิลปกรรมของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเริ่มปรากฏให้ประชาชนได้ชื่นชมตั้งแต่ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๔ ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เข้าร่วมแสดง จำนวน ๖ ภาพ ได้แก่ กุหลาบไทย มือแดง ชอบเขียน วัฏฏะ ต่อสู้ และเขียนที่ภูพิงค์ ต่อมาได้มีการจัดนิทรรศการจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕ ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ และในการจัดแสดงนิทรรศการอัครศิลปิน ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ มีผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จัดแสดงเผยแพร่จำนวน ๔๗ ภาพ และในปีพุทธศักราช ๒๕๔๒ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบมหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดนิทรรศการศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ขึ้น และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่ไม่เคยเผยแพร่จัดแสดงจำนวน ๖๐ ภาพ
ต่อสู้
จิตรกรรม (Painting) คือผลงานศิลปะภาพวาดที่ศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นด้วยประสบการณ์และแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม สภาพแวดล้อม และเรื่องราวอื่น ๆ ที่สอดคล้องสัมพันธ์กับทัศนะแนวความคิดของศิลปินผู้สร้างสรรค์ ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น ส่วนใหญ่พระองค์จะทรงสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีนํ้ามันบนผ้าใบ มีที่ทรงวาดบนไม้บ้างแต่ไม่มากนัก
กุหลาบไทย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระอุปนิสัยในทางศิลปะมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๘๐ – ๒๔๘๔ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าพระราชทานไว้ในหนังสือในหลวงกับงานช่าง ว่า
“สมัยที่ท่านอยู่ประถมต้นที่สวิตเซอร์แลนด์นั้น เขามีวิธีการสอนเด็กยกตัวอย่างเช่น การวาดรูปภาพเพื่อให้เข้าใจเรื่องเส้น เรื่องฟอร์มของรูปนั้น มีแบบฝึกหัดอยู่อันหนึ่ง ครูจะวาดรูปทรงกลม ทรงรี หรือรูปต่าง ๆ บนกระดาษแล้วลบทิ้ง แล้วให้เด็กจำแล้ววาดตาม เริ่มจากง่ายแล้วยากขึ้น ๆ ทุกที เวลายาก ๆ ท่านบอกว่าเพื่อนทั้งชั้นทำไม่ได้ แต่ท่านทำได้ เพราะมีนิสัยในด้านนี้”
เขียนที่ภูพิงค์
การเริ่มต้นทรงวาดภาพอย่างจริงจังของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชน่าจะเป็นช่วงที่มีพระชนมพรรษาประมาณ ๑๘ พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยทรงใช้อุปกรณ์การวาดภาพที่มีผู้นำมาถวายสมเด็จพระราชชนนี ดังที่พระองค์ทรงเล่าให้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ฟัง และสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ ได้ทรงบันทึกไว้ในหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่อง เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ ว่า
“ท่านชิ้น (หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์) นำเครื่องเขียนครบชุดมีแปรง สี ผ้าใบ ฯลฯ มาจะให้แม่เขียนให้ได้ รู้สึกรำคาญเลยเอามาเขียนเสียเอง”
ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงงานจิตรกรรม อย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปีพุทธศักราช ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ ดังภาพผลงานจิตรกรรมที่ทรงลงพระนามและปีพุทธศักราชไว้ พระองค์ทรงศึกษาศิลปะด้วยพระองค์เอง ทรงฝึกเขียนจากตำราที่ทรงซื้อและมี ผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย ในขณะประทับอยู่ต่างประเทศ เมื่อพระองค์สนพระราชหฤทัยผลงานของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก มีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตรวิธีการทำงาน จนเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี มีศิลปินอาวุโสหลายคนในวงการศิลปะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายงานด้านศิลปะ เช่น เหม เวชกร,เขียน ยิ้มศิริ, จำรัส เกียรติก้อง, เฟื้อ หริพิทักษ์, ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์, อวบ สาณะเสน, เฉลิม นาคีรักษ์,จุลทัศน์ พยาฆรานนท์, พิริยะ ไกรฤกษ์ และหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เป็นต้น
บทความจากคอลัมน์ ” Artroom ” โดย ศาสตราจารย์ วิโชค มุกดามณี นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 126 ประจำเดือนกุมภาพนธ์ 2560