พาทุกคนไปชมห้องครัวทำขนมแสนอบอุ่น และพูดคุยกับ คุณอุ๋ม-นภัทร ศรีวะรมย์ อาจารย์สอนทำขนมประจำวิทยาลัยดุสิตธานี อีกทั้งยังเป็นเจ้าของร้าน Ar Cake และร้านมานะถึงเรื่องราวการออกแบบบ้านหลังนี้ที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ และอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของเมนู French Toast ที่คุณอุ๋มตั้งใจทำให้ทุกคนได้ลองลิ้มชิมความอร่อย และต้อนรับพวกเราอย่างเป็นกันเอง
คุณอุ๋ม เปรียบบ้านหลังนี้เหมือนการสร้างกล่องหนึ่งใบแล้วค่อยๆ หยิบนู่นหยิบนี่แต่งเติมลงไป ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่ง ตลอดจนจัดสรรพื้นที่ใช้งานให้เหมาะสมลงตัว โดยตั้งใจออกแบบให้มีห้องครัวทำขนมเป็นส่วนใช้งานหลักของบ้าน แม้ว่าฟังก์ชันบางอย่างจะไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าที่ควร แต่คุณอุ๋มมองว่าการทำครัวนั้นไม่มีอะไรถูกหรือผิด เพียงแต่เราจะปรับใช้ให้เกิดความคุ้นเคยและลงตัวได้อย่างไร
“เราย้ายมาอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 3 ปี ส่วนนี้เป็นส่วนที่ต่อเติมแยกออกมาจากบ้านหลัก คือเราคิดไว้แต่แรกว่าอยากมีห้องครัวสำหรับทำขนมอย่างเดียว เพราะบ้านหลังเก่ามีพื้นที่ครัวค่อนข้างเล็ก อีกทั้งเวลาทำขนมในบ้านหลักที่เราอยู่คงไม่ค่อยสะดวกเท่าไร บ้านก็ควรให้ความรู้สึกเป็นบ้านมากกว่าเป็นโรงงานทำขนม (หัวเราะ) เราจึงต่อเติมพื้นที่ส่วนนี้ขึ้นมาโดยมีข้อจำกัดในการต่อเติมของหมู่บ้านว่าอยากให้มีดีไซน์และโทนสีกลมกลืนกันกับบ้านหลังเดิมของโครงการ”
“นอกจากครัวแล้ว โจทย์ที่ให้กับสถาปนิกเพิ่มเติมคือเราอยากมีห้องหนังสือด้วย พื้นที่ในส่วนของชั้น 2 จึงออกแบบให้เป็นชั้นลอยสำหรับเป็นมุมนั่งอ่านหนังสือ ต่อเนื่องกันกับส่วนของระเบียงหน้าบ้านที่ทำไว้เป็นมุมรองรับเวลาเพื่อนๆ มาปาร์ตี้สังสรรค์กันที่บ้าน แต่ยังไม่มีใครมาเลยจนตอนนี้ (หัวเราะ) ถัดไปคือเราอยากให้มีห้องนอนอยู่ชั้นล่าง ตั้งใจอยากทำไว้ให้พ่อกับแม่ จะได้สะดวกไม่ต้องเดินขึ้น-ลงบันได ปรากฏว่าพ่อกับแม่ก็ไม่มาเพราะไม่อยากย้ายบ้าน (หัวเราะ) ห้องนอนนี้เลยไว้ใช้สำหรับรับรองแขกแทน”
สำหรับพื้นที่ด้านในเป็นส่วนการใช้งานหลัก ถูกออกแบบให้เป็น Double Space สูงโปร่งและเปิดโล่ง รับแสงจากธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ด้วยการเลือกใช้หน้าต่างบานใหญ่ที่มีความสูงจรดเพดานแทนการกรุผนังทึบ มองออกไปเห็นต้นไม้สีเขียวของสวนด้านนอก ทำให้สเปซในส่วนของห้องครัวดูกว้างขวาง ไม่อึดอัด อีกทั้งยังสร้างความรู้สึกสบายตาด้วยโทนสีขาวและงานไม้แสนอบอุ่น เข้ากันกับดีไซน์ของชุดครัวที่มีกลิ่นอายวินเทจได้อย่างลงตัว
“ส่วนมากเราจะอยู่โซนนี้เพราะบ้านหลังใหญ่ไว้นอนอย่างเดียวเลย วันเสาร์-อาทิตย์ ตื่นมาทำอะไรเรียบร้อยก็จะลงมาวุ่นวายกับการลองสูตรใหม่ๆ ฝึกมือ ทำขนม และจัดพร็อปถ่ายรูปเพราะเรามีหน้าร้านขายขนมด้วย พื้นที่ส่วนนี้จึงกลายเป็นเหมือนกึ่งสตูดิโอถ่ายภาพขนมของตัวเอง ถ้าจะบอกว่าเป็นสตูดิโอเลยคงไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้น เพียงแต่เรารู้ว่ามุมไหนแสงสวย ชอบแสงช่วงเวลาประมาณนี้ก็จะมาถ่ายรูปกัน ข้อดีของการเลือกใช้กระจกบานใหญ่คือเราได้แสงสว่าง แต่ข้อเสียคือทำให้บ้านร้อนมาก”
ด้วยลักษณะของบ้านเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมู แปลนครัวจึงมีการแบ่งเป็น 2 ส่วน ในส่วนด้านแคบที่กรุผนังทึบกำหนดฟังก์ชันเป็นพื้นที่ส่วนปรุง ติดตั้งเตาเตาแก๊ส เครื่องดูดควัน และเตาอบให้ใช้งานได้ต่อเนื่องกันกับไอส์แลนด์ขนาดใหญ่กลางห้องครัวซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ส่วนเตรียม และสามารถนั่งเล่น นั่งทานขนมได้ในตัว อีกทั้งยังติดตั้งอ่างล้างจานขนาดใหญ่เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน ถัดไปอีกส่วนหนึ่งออกแบบให้เป็นเคาน์เตอร์เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย และพื้นที่จัดเก็บสำหรับใส่ข้าวของเครื่องใช้และอุปกรณ์เบเกอรี่ต่างๆ โดยติดตั้งอ่างล้างจานขนาดเล็กไว้เป็นส่วนล้างอีกมุมหนึ่งของครัวเพื่อความคล่องตัวในการใช้งาน
แม้จะมีประสบการณ์ทำครัวจากบ้านหลังเก่า แต่คุณอุ๋มมองว่าต่างไปจากการทำครัวบ้านหลังนี้ “คือบางทีเรามองว่ามันเป็นเรื่องของโชค เป็น Destiny และเป็นเรื่องจังหวะว่าเราซื้ออะไรมา แล้วจัดเข้าที่ได้พอดีลงตัว บ้านหลังเก่าให้ความรู้สึกเหมือนการต่อจิ๊กซอว์ไปเรื่อยๆ เริ่มจากห้องนอน มีห้องครัวเล็กๆ พอพื้นที่ไม่พอก็ให้พ่อช่วยต่อขยายเพิ่มให้ แล้วบอกว่าเราอยากได้ฟังก์ชันแบบไหน แต่บ้านหลังนี้ด้วยความที่พื้นที่มันกว้างทำให้เราไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน เลยคิดว่าสร้างกล่องเปล่าๆ ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยหยิบนู่นหยิบนี่ใส่ลงไป อาจจะพอดีบ้างไม่พอดีบ้างแต่ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ เพิ่มกันไป”
“การทำบ้านก็เหมือนคู่แต่งงานที่ต้องลองมาอยู่ด้วยกันก่อน จะได้รู้ว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร พอไม่ได้ลองก็ไม่รู้ว่าอันนั้นควรมีหรืออันนั้นไม่ควรมี ดีไซน์ชุดครัวเราเป็นคนเลือกเอง ทอปเคาน์เตอร์เราเลือกใช้เป็นสีขาวตัดกับหน้าบานไม้ โทนสีไม่เข้มไม่อ่อนจนเกินไป ทำลายลูกฟักและเลือกมือจับที่ดูวินเทจเพราะเป็นสไตล์ที่เราชอบ เฟอร์นิเจอร์ส่วนอื่นๆ ในบ้านก็จะมีกลิ่นอายประมาณนี้ รวมไปถึงชุดจานชาม อุปกรณ์ทำเบเกอรี่ และของตกแต่งที่ชอบซื้อสะสมไว้”