ใครกำลังวางแผนหรือคิดจะรีโนเวททำห้องครัวใหม่อยู่ล่ะก็ ครั้งนี้เรามีแบบแปลนครัวยอดนิยมมาให้ดูเป็นไอเดีย โดยเลือกจากขนาดของพื้นที่ที่มีความใหญ่-เล็กไม่เท่ากัน เพราะไม่ว่าจะเป็นครัวในคอนโดมิเนียมหรือครัวในบ้านต่างก็มีการจัดสรรเนื้อที่ใช้สอยแตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับพื้นที่และความต้องการของเจ้าของบ้านด้วยว่า ใช้งานครัวบ่อยครั้งแค่ไหน ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกได้มากก็คือ การจัดวางแปลน เพราะจะทำให้การใช้งานในครัวนั้นมีความคล่องตัวและเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
1. เนื่องจากพื้นที่ในคอนโดมิเนียมนั้นค่อนข้างจำกัด การจัดวางแปลนชุดครัวจึงออกแบบให้เป็นรูปตัว I จัดครัวชิดผนังด้านหนึ่งในแนวตรง เรียงลำดับการใช้งานจากส่วนเตรียม ส่วนล้าง แล้วเพิ่มฟังก์ชันใช้งานให้มากขึ้น ด้วยการออกแบบไอส์แลนด์ให้เป็นพื้นที่ส่วนปรุง ส่วนใต้เคาน์เตอร์ทอปก็ทำเป็นลิ้นชักไว้สำหรับจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ในครัว
ไอเดียจาก : บ้านคุณสหพัฒน์ วงศ์ชัยสุเวช
2. เจ้าของบ้านหลังนี้ขยายห้องครัวใหม่ให้กว้างกว่าเดิม จึงตั้งใจสร้างเป็นครัวเปิด โดยมีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างห้องนั่งเล่น และส่วนรับประทานอาหาร ดังนั้นเมื่อมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นการจัดวางชุดครัวรูปตัว L จึงเหมาะสมที่สุด ซึ่งเป็นแปลนที่นิยมใช้กันค่อนข้างมาก เพราะมีการติดตั้งตู้ผนังสองทั้งด้านให้มีความต่อเนื่องกัน ส่วนไอส์แลนด์ที่ทำเพิ่มขึ้นมานั้นใช้เป็นทั้งส่วนปรุงและทานอาหารไปด้วยในตัว
ไอเดียจาก : บ้านคุณวาสนา จันทรัช
3. ไลฟ์สไตล์ของเจ้าของบ้านหลังนี้ชอบเข้าครัวทำอาหาร แถมยังมีญาติและเพื่อนๆ แวะเวียนมาสังสรรค์กันอยู่บ่อยครั้ง จึงสร้างห้องครัวขนาดใหญ่ เพราะนอกจากจะรองรับจำนวนคนได้ครั้งละมากๆ แล้ว ยังตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย การติดตั้งชุดครัวรูปตัว U จึงเหมาะกับห้อง ขนาดใหญ่ สามารถใช้พื้นที่ทั้งสามด้านได้อย่างเต็มที่ ทั้งยังปรับรูปแบบฟังก์ชันได้ตามขนาดและตามความถนัดของเจ้าของบ้าน แต่โดยหลักๆ แล้วควรคงความต่อเนื่องในการใช้งานจะดีที่สุด
ไอเดียจาก : บ้านคุณพิเสฐ จึงแย้มปิ่นและคุณทวีลาภ โอสถหงส์
4. ชุดครัวแบบสองแถวตรง เป็นชุดครัวที่แบ่งการใช้งานแยกกันเป็นสองส่วน มีทางเดินคั่นกลางระหว่างผนังทั้งสองข้าง แต่ก็ยังมีผังการทำงานที่เชื่อมโยงและต่อเนื่องกันในแบบสามเหลี่ยม ด้านหนึ่งเป็นส่วนปรุงที่อยู่ติดผนัง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นส่วนเตรียมและส่วนล้าง โดยออกแบบเป็นช่องหน้าต่างบานเลื่อนขนาดใหญ่ เพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทั้งยังเพิ่มแสงสว่างโดยไม่จำเป็นต้องเปิดไฟในเวลากลางวัน
ไอเดียจาก : บ้านคุณเทาเทา – หม่า เยี้ยนเทาและคุณหู เฉิน
5. เจ้าของบ้านหลังนี้ชอบเข้าครัวทำอาหารกับลูกสาวมาก ดังนั้นเมื่อสร้างบ้านหลังใหม่ จึงตั้งใจให้มีพื้นที่ในครัวมากเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่จึงออกแบบชุดครัวเป็นรูปตัว L เพราะมีการติดตั้งตู้ผนังสองด้านต่อเนื่องกัน แต่ก็มีการเพิ่มเคาน์เตอร์ครัวออกมาอีกด้าน เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นนั่นเอง เช่น ใช้เป็นมินิบาร์ หรือส่วนรับประทานอาหารเล็กๆ ก็ได้
ไอเดียจาก : บ้านคุณคุณวิเชียรและคุณพรพิมล จิตใจฉ่ำ
6. อีกหนึ่งรูปแบบการจัดวางชุดครัวแบบสองแถวตรง นอกจากจะมีทางเดินคั่นกลางแล้ว สำหรับบางบ้านมีพื้นที่ครัวยาวหรือมากหน่อยก็สามารถเพิ่มไอส์แลนด์ตรงกลาง เพื่อให้ใช้งานครัวได้มากขึ้น อาจจะใช้พื้นที่บนทอปไอส์แลนด์ให้เป็นส่วนของเตา ส่วนเตรียมอาหาร หรือแม้แต่ ใช้ทานอาหารมื้อง่ายๆ ก็ได้ ส่วนใต้เคาน์เตอร์ก็ทำเป็นตู้และลิ้นชักไว้สำหรับเก็บของ
ไอเดียจาก : บ้านคุณสุรสิทธิ์-คุณสุรางค์ ศรีอรทัยกุล
7. เนื้อที่ของบ้านหลังนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับสี่เหลี่ยมผืนผ้า จึงมีข้อจำกัดในการออกแบบห้องครัวพอสมควร แต่เจ้าของบ้านก็สามารถจัดวางชุดครัวให้เข้ากับพื้นที่และตรงกับความต้องการได้ด้วยการวางแปลนชุดครัวแนวตรง แล้วติดตั้งไอส์แลนด์และโต๊ะรับประทานอาหารให้ยาวต่อเนื่องกัน นอกจากจะทำให้ส่วนเคาน์เตอร์ครัว ไอส์แลนด์ และโต๊ะรับประทานอาหารดูสวยงามกลมกลืนกันแล้วยังใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่า
ไอเดียจาก : บ้านคุณสุรัฐชัย-นุตร์ เชนยะวณิช
8. แนวคิดของบ้านหลังนี้ดีไซเนอร์ตั้งใจออกแบบให้แต่ละห้องมีพื้นที่ใช้สอยเปิดโล่งถึงกัน ตั้งแต่ห้องนั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร และห้องครัวซึ่งจัดวางแปลนเป็นรูปตัว L มีพื้นที่ส่วนล้างอยู่ติดผนัง เพิ่มตู้แขวน ชั้นวางของแบบไม่มีหน้าบาน และตู้ใต้ใต้เคาน์เตอร์เพื่อรองรับการจัดเก็บได้เต็มที่ ส่วนไอส์แลนด์ใช้เตรียมอาหาร ผนังอีกด้านยังเพิ่มบิลต์อินสำหรับวางเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เตาอบขึ้นโดยเฉพาะ นอกจากนี้พื้นที่ส่วนปรุงก็ถูกแยกออกจากพื้นที่เตรียมอาหาร ด้วยการดีไซน์ด้านหนึ่งเป็นขาโต๊ะ ส่วนอีกด้านหนึ่งทำเป็นตู้ใต้เคาน์เตอร์ ซึ่งตอบโจทย์เจ้าของบ้านได้ตรงตามความต้องการได้ดีมากๆ
ไอเดียจาก : บ้านกรุงกวีถนนรังสิต-นครนายก (คลอง4)