เมื่อคนเราหลงใหลอยู่กับอะไรสักอย่างหนึ่ง เรามักใช้ตัวแปรนั้นนำไปสู่วิถีทางที่ทำให้เราเกิดความพึงพอใจ เช่นเดียวกับคุณอิง-สุกัญญา ก้าวสัมพันธ์ ซึ่งมีความรักและชื่นชอบในงานศิลปะ ดังนั้นศิลปะจึงไม่เพียงแต่มีอิทธิพลต่อชีวิต แต่ยังแผ่ขยายมาถึงบ้าน
“บ้าน” ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างตามกระแสนิยม
แค่นำสิ่งที่ชอบมาหลอมรวมก็กลายเป็นบ้านที่บ่งบอกความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน
บทสนทนากว่าหนึ่งชั่วโมงทำให้เราค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างคุณอิงและบ้าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการรีโนเวทบ้านจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์และได้อยู่ในพื้นที่ของตัวเอง นอกจากคำตอบที่ได้ของคำถาม เรายังสัมผัสถึงความรู้สึก…ทั้งความใส่ใจและความรักกับสิ่งที่ทำอย่างพิถีพิถัน โดยผลตอบแทนจากการลงลึกทุกรายละเอียดที่สะท้อนกลับมานั่นคือ รอยยิ้มและความสุขที่ยังคงคละคลุ้งอยู่ในบ้านหลังนี้
คุณอิงไม่ใช่แค่ชอบศิลปะแต่ยังเป็นผู้หญิงรักสวยรักงาม ทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับศาสตร์โยคะใบหน้าซึ่งมีที่เดียวในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ Y’s Organic Facial Yoga สาขาแรกพระราม 3 (โครงการ Tree on 3) และสาขาเดอะคริสตัล (ถนนเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา) ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจว่าการรีโนเวทบ้านครั้งนี้เธอจะตั้งใจทำทุกขั้นตอนเพื่อให้ทุกพื้นที่ใช้สอยตรงกับความต้องการและดูสวยงามที่สุด
คุณอิงเล่าให้ฟังว่า
“เดิมบ้านหลังนี้เป็นของสามี คุณต้น – สุรจักษ์ จิรปัญจวัฒน์ เขาอยู่ตั้งแต่สมัยเรียน เป็นบ้านเก่าอายุหลายสิบปีแล้ว พอแต่งงานเราตั้งใจจะรีโนเวทเพื่อเข้ามาอยู่ คงโครงสร้างเดิมไว้ แต่เราทุบภายในออก เพราะฟังก์ชันเดิมมีผนังกั้นห้องเต็มไปหมด การจัดสรรเนื้อที่ไม่ค่อยดี ดูอึดอัด เลยอยากรีโนเวทให้เป็นเนื้อที่ที่เรามีความรู้สึกว่าอยากกลับมาอยู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะรองรับชีวิตหลังแต่งงานแล้ว ยังเอาไว้สำหรับญาติพี่น้องมาพักผ่อนเพื่อให้เรามีพื้นที่อยู่ร่วมกัน”
แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์เป็นบ้านในฝันอย่างที่คุณอิงตั้งใจใช้เวลาอยู่นานพอสมควร เจอปัญหาจากผู้รับเหมาและการทำงานระหว่างก่อสร้าง รวมถึงการเลือกของตกแต่ง “อิงเรียนจบเภสัชไม่ได้มีความรู้มากมาย แต่ว่าชอบด้านศิลปะและรู้สไตล์ที่ตัวเองชอบ เลยอาศัยจากการหารูปใน pinterest เพราะออกแบบเองไม่เป็น ใช้วิธีปะติดปะต่อในหัวเอาเอง มุมไหนอยากได้แบบไหนก็เสิร์ช มุมนี้สไตล์นี้ ที่กั้นห้องเป็นกระจกกรอบอลูมิเนียม ห้องครัวปูกระเบื้องแบบไหน เราพยายามหาไอเดียให้ได้มากที่สุดแล้วไปคุยกับสถาปนิก
จริงๆ ช่วงแรกบ้านหลังนี้โดนผู้รับเหมาทิ้งมาก่อน บ้านถูกปล่อยร้างอยู่พักหนึ่ง เป็นความผิดพลาดของอิงเองที่ไม่ทำสัญญา เพราะคิดว่ารู้จักกัน พอช่างเข้ามาทำงานเริ่มทุบด้านในปูกระเบื้องแล้วหลังจากนั้นก็ทิ้งงานไปเลย กระเบื้องผนังในห้องครัวควรที่จะวางเป็นอิฐแบบสับหว่างเขาก็ปูเป็นลายตรงเท่ากันหมด จะแก้ก็ไม่ได้ต้องรื้อใหม่ กระเบื้องพื้นที่ปูก็ปูดๆ คือทำให้เราไม่ดีเลย เหมือนทำทุกอย่างใหม่สองรอบ พอเกิดปัญหาอิงก็ต้องไปหาบริษัทสถาปนิก เสิร์ชจากอินเตอร์เน็ต ไล่ดูประสบการณ์การทำงาน ดูผลงานที่ผ่านมา ดูว่าเราชอบแนวที่เขาทำหรือเปล่า แล้วก็อินบ๊อกซ์ไปคุยกับเขาว่าเรามีงบประมาณเท่านี้ทำให้ได้ไหม ซึ่งที่นี่เป็นบริษัทที่ออกแบบและดูแลเรื่องการก่อสร้างทั้งหมด
พอคุยกับเจ้าใหม่ก็ต้องคุยคอนเซ็ปต์กันอีกรอบบอกว่าอยากได้บ้านที่มีบรรยากาศสบายๆ เหมือนนั่งอยู่ในร้านกาแฟ เอาจริงๆ อิงไม่ค่อยรู้ว่ามีสไตล์อะไรบ้าง แต่เรารู้รูปแบบที่เราชอบมากกว่า อย่างสีก็ต้องเป็นสีที่ไม่ฉูดฉาด ชอบสีขาว ชอบไม้ พอทุบผนังที่เคยกั้นเป็นห้องๆ แล้วด้านในก็เลยเป็นสเปซโล่งๆ ทำให้บ้านดูโปร่ง สว่างมากขึ้น เพราะทำช่องหน้าต่างบานใหญ่ ประตูกระจก หรือแม้แต่รายละเอียดของการเดินสายไฟในบ้านเราก็เลือกแบบร้อยท่อโชว์ให้เห็น ตอนแรกญาติๆ เขาก็ไม่เห็นด้วยกับองค์ประกอบเหล่านี้ กลัวอันตรายและเรื่องความปลอดภัย แต่สุดท้ายพอออกมาสวยทุกคนก็แฮปปี้”
ความน่าสนใจของบ้านหลังนี้อยู่ที่สไตล์การออกแบบและการตกแต่งที่ค่อนข้างชัดเจน รวมถึงการจัดสรรเนื้อที่ใช้สอยภายในก็ถูกคิดมาเป็นอย่างดี เมื่อเดินเข้าไปภายในเราจะเจอกับห้องนั่งเล่น เชื่อมต่อกับห้องครัว ทางด้านขวาที่ติดกับห้องนั่งเล่นเป็นห้องทำงานซึ่งกั้นด้วยผนังกระจกกรอบอลูมิเนียม
กำหนดแปลนครัวเป็นรูปตัว I แบบแถวตรง เลือกใช้หน้าบานครัวสีขาวนอกจากเข้ากับสไตล์การแต่งบ้านแล้วยังต้องการให้ครัวดูสะอาดตา “สถาปนิกออกแบบชุดครัวโดยดีไซน์รูปแบบและฟังก์ชันใช้งานตามที่อิงอยากได้ มีตู้และลิ้นชักสำหรับเก็บของ เพราะไม่ต้องการให้บ้านรก ตำแหน่งไหนวางอะไรเราเป็นคนกำหนด อย่างตู้เย็นอยู่ทางซ้ายสุดเพราะถูกฟิกซ์ตำแหน่งเอาไว้แล้ว เราก็ต้องไปเลือกตู้เย็นที่สามารถสลับฝาได้โดยเปิดทางด้านขวาเพื่อความสะดวก อ่างล้างจานต้องอยู่ห่างจากเตา เพราะเป็นเรื่องของฮวงจุ้ย น้ำไฟต้องแยกจากกัน คือพอมีโอกาสทำบ้านอิงก็อยากทำให้บ้านดีและน่าอยู่และถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิศ ตำแหน่งห้อง คือสวยแล้วต้องถูกหลักด้วย”
“ห้องครัวเป็นเหมือนเดคอเรทส่วนหนึ่งของบ้านอิง เอาจริงๆ เราเป็นคนไม่ทำครัว แต่จำเป็นต้องมีเพราะว่าแม่แฟนทำกับข้าว อิงจะให้รายละเอียดกับการตกแต่งมาก อย่างผนังห้องครัวขอติดกระเบื้องเพราะทำความสะอาดง่าย อ่างล้างจานเป็นเซรามิก เลือกก๊อกน้ำให้ดูวินเทจนิดหนึ่ง ชั้นโปร่งซื้อมาติดเองเพราะถ้าทำเป็นตู้แขวนจะดูอึดอัดเกินไป หรืออย่างโต๊ะกินข้าวใช้เวลาเลือกนานมาก เราจะคุยกับสถาปนิกก่อนที่จะสั่งทำ ต้องได้ขนาดใหญ่หน่อยเพื่อให้บาลานซ์กับห้องครัว รวมถึงรูปแบบของโคมไฟ
อิงว่ามันยากตอนหาของตกแต่งจะทำอย่างไรให้ดูสวย เราคิดทุกอย่างเอง เลือกเฟอร์นิเจอร์ที่เข้ากับบ้าน ต้องวัดขนาด กว้างเท่าไหร่สูงพอไหม วางแล้วต้องเป๊ะนะ สั้นไปหรือยาวไปก็ไม่ได้ เราให้รายละเอียดกับตรงนี้มากๆ มันคือความทุ่มเทที่อยากทำให้บรรยากาศภายในบ้านออกมาดี แม้จะใช้เวลากับตรงนี้เยอะและเหนื่อยก็ยอม ซึ่งโซนรับแขกและห้องครัวเป็นฟังก์ชันแรกที่ทำเสร็จก่อนห้องอื่นๆ ถึงแม้อิงจะใช้พื้นที่อยู่ในห้องครัวน้อย แต่ถ้าทำอะไรแล้วต้องทำให้ดี เพราะทุกมุมทุกห้องมันก็คือพื้นที่ของเรา เราอยากใช้ชีวิตอยู่ในบ้านในแบบที่เราอยากอยู่และอยากให้เป็น…นี่คือดีที่สุดแล้ว”
เจ้าของ คุณอิง-สุกัญญา ก้าวสัมพันธ์ และคุณต้น – สุรจักษ์ จิรปัญจวัฒน์
พื้นที่ใช้งานครัว 16 ตารางเมตร