Lifestyle & Cooking People

จูน เซคิโน (JUNSEKINO) ความสัมพันธ์ของงานออกแบบและการใช้ชีวิตผ่านสายตาของสถาปนิก


เราจะพาทุกคนไปพูดคุยกับ คุณจูน เซคิโน จาก JUNSEKINO Architecture + Design สถาปนิกที่จะมาพูดถึงบริบทของงานออกแบบที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างโครงสร้าง สภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย ทำให้ผลงานของสตูดิโอออกแบบแห่งนี้มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น แตกต่าง ทว่าเรียบง่าย ผ่านกระบวนการคิดอย่างใส่ใจทุกรายละเอียดจนมีผลงานที่ได้รับรางวัลการออกแบบมากมาย อ่านจบแล้วเราเชื่อว่าหลายคนจะได้แรงบันดาลใจบางอย่างที่นอกเหนือจากเรื่องงานออกแบบไม่มากก็น้อย

11

เรื่องราวก่อนจะมาเป็นสถาปนิก

เราโตมากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพราะว่าพ่อเป็นคนญี่ปุ่น ท่านทำงานหนักแบบไม่มีวันหยุดเลย ตอนเด็กๆ ไม่ได้เป็นเด็กเกเรอะไรแต่ก็ไม่ใช่เด็กเรียนที่นั่งหน้าห้อง เรียนก็กลางๆ เมื่อเทียบกับน้องชายที่เรียนเก่งมาก แต่เราชอบอ่านการ์ตูนซึบาสะ เลยคิดว่าคนเราไม่ต้องเรียนเก่งก็ได้ มันยังมีทางให้เราไปได้ ตอนนั้นก็เล่นฟุตบอลจนได้เป็นเยาวชนทีมชาติไปแข่งจนได้แชมป์โลกเลยนะ เราก็ทำเต็มที่เรียกว่าสุดๆ กับการเตะบอลเลยก็ว่าได้

ช่วงมัธยมปลายพ่อกับแม่มาถามว่าจะเอาจริงกับการเตะฟุตบอลเลยหรือเปล่า ตอนนั้นต้องเลือกระหว่างจะไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพกับการเรียน เป็น 2 สิ่งที่เราทำคู่ขนานกันมาตลอด แล้วอยู่ดีๆ เราก็บาดเจ็บตอนฝึกซ้อมเพื่อจะไปเล่นอาชีพที่ญี่ปุ่น พอเจ็บเรื้อรังก็ไม่เป็นผลดีกับนักกีฬา เหมือนโลกแตกเลยนะเพราะตลอดระยะเวลา 10 ปีที่เราตั้งใจทำเพื่อสิ่งนี้ ถือว่าเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งเลย แต่เราทำอะไรไม่ได้นอกจากกลับมาเรียน

12
เมื่อออกเดินทางเลยได้เห็นโลก

ตอนมัธยมปลายเราเรียนที่โรงเรียนบดินทรเดชา สายวิทย์ เรารู้แน่ๆ ว่าคงไม่ได้ไปเรียนต่อเป็นหมอหรืออะไรทำนองนั้น แต่ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปเส้นทางไหน ตอนแรกเราสอบติดคณะหนึ่งแต่เรียนไปแล้วรู้สึกว่าไม่ชอบ เลยมาขอทุนเรียนที่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งก่อนหน้านี้เรามีโอกาสได้ไปประเทศญี่ปุ่น ได้เห็นผลงานของทาดาโอะ อันโดะ เลยมีความคิดว่าอยากเป็นสถาปนิก แต่ยังไม่รู้หรอกว่าสถาปนิกต้องทำอะไรบ้าง บวกกับตอนที่เราได้ไปแข่งฟุตบอลที่ต่างประเทศอย่างสวีเดน เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สนามฟุตบอลที่ประเทศเขาสวยมากเลยนะ เราได้ไปเห็นทั้งวัฒนธรรม งานสถาปัตยกรรมต่างๆ ของบ้านเมืองเขา ซึ่งไม่เหมือนกับที่เมืองไทยเลย ด้วยความเป็นเด็กก็ตื่นเต้นว่ามีแบบนี้ด้วยหรอ เป็นแบบนี้ได้ด้วยหรอ อยากให้ที่บ้านเรามีแบบนี้บ้าง เลยคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันส่งผลกับเราโดยไม่รู้ตัวตั้งแต่ตอนนั้นจนเรามาเป็นสถาปนิกตอนนี้เหมือนกันนะ เพราะเราได้ไปเห็นโลก

6
7
เส้นทางของการเป็นสถาปนิก

ช่วงที่เข้าไปเรียนตอนแรกเรายังไม่เข้าใจเรื่องของการออกแบบเท่าไร คือเราเรียนวิทยาศาสตร์มา แต่ชอบวาดรูป ไม่เหมือนกับเวลาแก้โจทย์คณิตศาสตร์ที่ทำออกมาแล้วต้องได้คำตอบเดียว แต่โลกของการออกแบบคือเป็นอะไรก็ได้ที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง หลังจากนั้นเราก็ปรับตัวจากที่เคยได้เกรด C D+ เราก็ A มาตลอด เพราะเริ่มเข้าใจว่าการออกแบบคืออะไร

เราโตมาในยุค 80s-90s ยังมีความเป็นแมนนวลอยู่ สมัยที่เรียนเพิ่งมีอินเทอร์เน็ตเข้ามา โชคดีที่ได้เรียนตอนที่ทุกอย่างยังเป็นอะนาล็อกอยู่ อย่างทำโมเดล ดราฟต์งาน เขียนแบบ ทุกวันนี้ในออฟฟิศเรายังทำโมเดลอยู่เลย แต่ก็เป็นช่วงที่ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวตลอดเวลา ในช่วงที่เราเรียนจบเป็นช่วงฟองสบู่แตกพอดี หางานทำยากมาก มีความคิดว่าอยากไปเรียนต่อ แต่วันงานปัจฉิมนิเทศ ผมมีโอกาสได้คุยกับพี่ด้วง-ดวงฤทธิ์ เขาถามเราว่าอยากเป็นสถาปนิกจริงๆ หรือเปล่า ถ้าอยากเป็นจริงๆ ต้องไปเป็นสถาปนิกอย่าไปเป็นอย่างอื่น คือสถาปนิกเป็นอาชีพเสริมหรือฟรีแลนซ์ไม่ได้ เราจำคำนี้ได้เลย ต้องฝึกทักษะอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราอยากเป็นต้องเอาตัวเองไปอยู่ในการเป็นสถาปนิก เลยตัดสินใจไม่ไปเรียนต่อ

3
อยากเป็นอะไรให้พาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น

ผมเริ่มต้นทำงานในบริษัทรับเหมา ทำทุกอย่างที่เขาให้ทำ งานแรกๆ เขียนสเกลเพี้ยนหมดเลย เพราะเราอยากให้มีแบบนี้เป็นแบบนั้น แต่ขาดความเป็นธรรมชาติหรือสิ่งที่ควรจะมีไป เลยต้องเรียนรู้ใหม่ว่าควรเขียนแบบให้ผู้รับเหมาอย่างไร แบบก่อสร้างเขียนอย่างนี้นะ เรียนรู้มาเรื่อยๆ จนเข้าใจ ทำได้ประมาณ 1 ปี เราก็ไปทำงานในโครงการสนามบินหนองงูเห่า เป็นการทำงานร่วมกับฝรั่ง คล้ายๆ กับ Co-Project ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องติดต่อประสานงานและงานเอกสารอย่างข้อกำหนดผู้ว่าจ้าง ซึ่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนเรื่องนี้ นอกจากนี้ก็ได้เรียนรู้เรื่องมาสเตอร์แปลน และการออกแบบที่เป็นระบบมาตรฐานต่างๆ

หลังจากนั้นเราก็ไปสมัครงานบริษัทออกแบบที่เป็น Conceptual Architecture เป็นออฟฟิศของคุณเมธา บุนนาค ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ เรียนรู้เรื่องการทำ Villa เป็นช่วงเวลา 2 ปีที่เราได้อะไรจากที่นี่เยอะมาก  และสุดท้ายเราไปทำงานในออฟฟิศที่เกี่ยวกับงานอินทีเรีย ตอนนั้นเหมือนเราเป็นเมล็ดพืชที่โตในสถานที่ที่แปลก คือมีสถาปนิกอยู่แค่ 2 คนเอง เราทำงานที่นี่นานที่สุดประมาณ 5-6 ปี การทำงานตรงนั้นเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานของเรามากเหมือนกัน คือบางทีงานสถาปัตยกรรมไม่จำเป็นต้องมองจากมุมที่เราเป็นยักษ์แล้วค่อยหันมามองสิ่งเล็กๆ แต่อาจจะเริ่มมองจากสิ่งใกล้ตัวอย่างเก้าอี้ตัวหนึ่งก่อนที่จะไปออกแบบอาคารก็ได้ ตรงนี้เองทำให้สตูดิโอออกแบบของเรามีส่วนดีพาร์ตเมนต์ที่เป็นอินทีเรียด้วย

2
JUNSEKINO Architecture + Design

พอออกจากงานประจำเราก็มาทำงานอยู่บ้านได้ประมาณ 2 ปี เริ่มรู้สึกว่าไม่มีแรงผลักหรือแรงบันดาลใจในการทำงาน ตื่นมาทุกวันทำอะไรเหมือนเดิม เลยไปขอเช่าพื้นที่ในออฟฟิศเพื่อนนั่งทำงานกับลูกน้องอีก 2 คน พองานเริ่มเยอะขึ้น มีคนมาทำงานกับเรามากขึ้นก็ค่อยๆ ขยับขยายจนเกิดเป็นสตูดิโอ JUNSEKINO Architecture + Design นี้ขึ้นมา

สำหรับการทำงานเราเชื่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับการใช้ชีวิต Architecture กับ Building ต่างกันคือเวลาเรียนสถาปัตย์เขาจะสอนเราทำ Building ให้ดีก่อน สามารถตอบสนองฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ แต่ถ้าเริ่มมีการให้ Meaning มีอะไรที่มากกว่าการใช้งาน เป็นมากกว่าสิ่งก่อสร้าง เริ่มมีผลต่อจิตใจ นั่นคือสถาปัตยกรรม ถ้าเรามุ่งไปที่การเลือกใช้วัสดุที่ดี เราจะได้โครงสร้างตัวอาคารที่แข็งแรง แต่ถ้าเรามุ่งไปที่การออกแบบให้สัมพันธ์กับบริบทอื่นด้วย งานออกแบบก็จะมีความเป็นไลฟ์

8

ถ้าถามว่าบ้านกับคอนโดให้ความรู้สึกต่างกันไหม คำตอบบางคนอาจจะต่างหรือไม่ต่างก็ได้ แต่ผมมองว่าคอนโดเป็นเรื่องของ Building มีโครงสร้างแข็งแรง ตกแต่งสวยงาม แต่ถ้าตัดภาพมาที่บ้านของเราอาจจะสวยไม่เท่าเก่าบ้างตามกาลเวลาที่ผ่าน แต่ทุกเช้าตอน 8 โมง จะมีนกคู่หนึ่งบินมาเกาะที่หน้าต่างแล้วส่งเสียงร้องดังมากเลยทุกวัน ตรงนี้คือความเป็นไลฟ์ สุดท้ายเดี๋ยวนกคู่นี้ก็จะบินไป แล้วถ้าเป็นคอนโดสูงจะมีนกบินมาส่งเสียงร้องแบบนี้ไหม

สิ่งเหล่านี้บางครั้งอาจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่เรารู้สึกได้ว่าบ้านต้องเป็นแบบนี้นะ ต้องอบอุ่นมีชีวิต และงานที่สตูดิโอของเราทำ ส่วนใหญ่จะเป็นการออกแบบบ้าน ที่อยู่อาศัย เราก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับงานแต่ละชิ้นที่เราทำ ความเป็นไลฟ์เลยซ่อนอยู่ในทุกงาน แต่ถ้าจะให้บอกว่างานของเราเป็นสไตล์ไหนก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน เพราะแต่ละโปรเจ็กต์ก็มีความต่างกันออกไป เราก็ชอบผลงานทุกชิ้นที่ทำ เพราะงานทุกงานจะมีมิติของมัน

86-89_Professional-1

ผลงานออกแบบโรงเรียนบ้านหนองบัว จังหวัดเชียงราย ในโครงการห้องเรียนพอดีพอดี
(ขอขอบคุณภาพจาก www.archdaily.com)

86-89_Professional-3

ได้รับรางวัลการออกแบบจากหลายเวทีระดับนานาชาติ รวมไปถึงรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นแห่งปี Building of The Year และรางวัล Gold Winner ประเภท B3 Public Amenity Buildings ในงาน ARCASIA Awards for Architecture 2018 (AAA) ที่ประเทศญี่ปุ่น
(ขอขอบคุณภาพจาก www.archdaily.com)

อย่างโปรเจ็กต์ “ห้องเรียนพอดีพอดี” ที่เป็นโครงการออกแบบอาคารเรียนให้กับโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย เราก็ได้เข้าไปช่วยออกแบบ ข้อจำกัดคือมีเวลาให้เราประมาณ 10 วัน เป็นการออกแบบอย่างตรงไปตรงมาเลย เลือกใช้วัสดุที่หาง่าย ประหยัด และก่อสร้างได้รวดเร็ว อย่างโครงสร้างเหล็ก ไม้ไผ่ แผ่นซีเมนต์บอร์ด เมื่อเวลามีน้อยเราก็ออกแบบอย่างซื่อๆ บ้านๆ ให้ตรงกับการใช้งาน ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย กลายเป็นว่างานชิ้นนี้ทำให้เราได้ไปทั่วโลก ได้รับรางวัลจากนิวยอร์ก เยอรมัน อิตาลี หลังจากทำโปรเจ็กต์นี้เรามองโลกการออกแบบเปลี่ยนไปพอสมควร ก่อนหน้านี้เราอาจจะคิดว่ามีงบเท่านี้ทำงานแบบนี้ไม่ได้หรอก แต่เราเปลี่ยนมุมมองว่าถ้าเป็นเราจะทำอย่างไรให้ได้งานออกมาภายในงบเท่านี้ คือทำให้เรารู้สึกถ่อมตนมากขึ้น มองโจทย์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องแก้ ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา ทำให้เราเข้าใจโลกเข้าใจคนมากขึ้น

86-89_Professional-5
Ngamwongwan Brick House (ขอขอบคุณภาพจาก Spaceshift Studio)

5
Ngamwongwan Brick House (ขอขอบคุณภาพจาก Spaceshift Studio)

นอกจากโปรเจ็กต์ “ห้องเรียนพอดีพอดี” แล้ว ยังมีผลงานอีกมากมายที่เราเชื่อว่าเคยผ่านสายตาทุกคนมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Nature House, Bridge House, K22 House, Bang Sa Ray House,  Ngamwongwan Brick House คุณจูนบอกกับเราทิ้งท้ายว่า “ถ้าถามว่าเราประสบความสำเร็จหรือยัง เราไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเลย เพียงแต่ว่าเรามีสารที่อยากส่งออกไปแล้วมีคนเห็นและเข้าใจ สิ่งนั้นก็คืองานออกแบบของเรา แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว สนุกไปกับการที่ยังมีโอกาสได้ทำงานทุกวันก็พอแล้ว”

ส่วนเราก็เข้าใจสารที่คุณจูนส่งออกมาตั้งแต่เดินก้าวแรกเข้ามาในสตูดิโอ JUNSEKINO Architecture + Design แห่งนี้ ทั้งอบอุ่น เป็นกันเอง และดูมีชีวิต สมกับเป็นสตูดิโอออกแบบที่อยู่อาศัยเลยล่ะ

“เราทำงานยังไงก็อยากอยู่ในที่แบบนั้น และมันทำให้เราเป็นเราแบบนั้นเอง อย่างพอมีคนเดินเข้ามาแล้วบอกว่าออฟฟิศที่นี่น่าอยู่จัง ไม่ใช่ว่าสวยหรือแพงแต่มันน่าอยู่ เพราะนี่คือบ้านไง เรารีโนเวทบ้านเก่าให้เป็นออฟฟิศ ทุกคนมาทำงาน มีคนมาคุยงานก็ให้ความรู้สึกสบายๆ สมมติทำงานไปเรื่อยๆ มีงานเครียดก็เดินออกไปมองท้องฟ้า นั่งเล่นหลังบ้าน สิ่งเหล่านี้ก็มาเชื่อมกับการทำงานของเราอีก คือมันมีชีวิต”

เรื่อง: หนูเสงี่ยม
ภาพ: พี่แหลม 


You Might Also Like...