Santan บริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบินแอร์เอเชีย ธุรกิจในเครือ Capital A เดินหน้าสู่ความยั่งยืน ด้วยการประกาศเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุที่ย่อยสลายได้แทนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ถือเป็นก้าวสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งบนเที่ยวบินทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแก้ว ฝาปิด และอุปกรณ์รับประทานอาหาร จะผลิตจากวัสดุ Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพที่ได้จากแหล่งพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพดและมันสำปะหลัง
วัสดุ PLA ได้รับการพัฒนาร่วมกับบริษัท Rightway New Material โดยมีข้อได้เปรียบเหนือกว่าพลาสติกแบบดั้งเดิมคือสามารถย่อยสลายได้รวดเร็วกว่ามาก จากผลการศึกษาพบว่า PLA สามารถย่อยสลายได้มากกว่า 90% ในระบบปุ๋ยหมักเชิงอุตสาหกรรม ในขณะที่พลาสติกทั่วไปอาจต้องใช้เวลาหลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลายได้ แก้วกระดาษเคลือบ PLA ของ Santan ยังได้รับการรับรองว่าสามารถย่อยสลายได้ในระบบปุ๋ยหมักภายในครัวเรือน ซึ่งช่วยให้ผู้โดยสารสามารถกำจัดขยะได้อย่างง่ายดายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วในประเทศมาเลเซียและประเทศไทย พร้อมแผนขยายการดำเนินงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปครอบคลุมสายการบินทั้ง 7 แห่งในเครือภายใต้แบรนด์แอร์เอเชีย
การเลือกใช้วัสดุ PLA ของ Santan ถือเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนให้กับภาคธุรกิจการบิน แสดงให้เห็นว่า การมอบบริการคุณภาพสูงสามารถเดินควบคู่ไปกับแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว
แคทเธอรีน โกห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Santan กล่าวว่า “ที่ Santan เราเชื่อว่าทุกเที่ยวบินคือโอกาสในการมอบประสบการณ์อาหารบนเครื่องที่ยอดเยี่ยมและคุ้มค่า พร้อมทั้งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ PLA ที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ถือเป็นก้าวสำคัญในการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกในอุตสาหกรรมการบิน โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้แอร์เอเชียสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 500 ตันต่อปีในมาเลเซียและประเทศไทย และเราหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรมร่วมขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อโลกของเรา”
Santan ตระหนักถึงความท้าทายของการจัดการของเสีย โดยเฉพาะในบริบทที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวเพื่อรักษาสุขอนามัยและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน จึงได้เสริมความยั่งยืนด้วยการนำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรอาหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการพยากรณ์ความต้องการอย่างแม่นยำและลดการผลิตเกินความจำเป็น แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะอาหาร แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน นำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในระยะยาว