ครั้งแรกที่เห็นผลงานของ Dhammada Garden เรามีความสงสัยอยู่สองอย่างด้วยกัน หนึ่งคือทำมาจากวัสดุอะไร สองคือทำไมต้อง “ธรรมดา การ์เด้น” ซึ่งคนที่จะตอบสองคำถาม(หรือมากกว่า)นี้ได้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณบาส-ศิรวิชญ์ ชัยอภิสิทธิ์ ที่เป็นทั้งคนออกแบบและเจ้าของแบรนด์นั่นเอง
เพราะว่าชอบทำสมุดใช้เอง
ตั้งแต่ตอนเรียนผมชอบทำสมุดใช้เอง เวลาไปหาซื้อตามท้องตลาดทั่วไปจะไม่มีแบบที่เราอยากใช้ พอทำเพื่อนก็บอกว่าสวยดี แต่ว่าตอนนั้นไม่ได้ทำขายแค่ทำใช้เอง หลังจากเรียนจบก็ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ต้องติดต่อประสานงานด้วย แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ เวลาทำงานกราฟิกเราต้องอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แล้วสร้างอะไรสักอย่างขึ้นมา จับต้องไม่ได้ คิดว่าถ้าได้ทำอะไรที่จับต้องได้เราน่าจะถนัดมากกว่า ลองทำ ลองตัดเย็บ อะไรแบบนี้ เอามาทำนู่นทำนี่เอง ได้ทดลองทำเองน่าจะดี จึงตัดสินใจลาออกมาทำอะไรที่ตัวเองถนัด เริ่มจากทำสมุดนี่แหละ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าทำแล้วจะเป็นยังไง คิดแค่ว่าอยากทำ ก็เลยทำ แค่นั้นจริงๆ พอทำออกมาผลตอบรับดีเราเลยทำต่อมาเรื่อยๆ แล้วเริ่มมองหาวัสดุรอบๆ ตัวเพื่อนำมาใช้เป็นปกสมุด โจทย์คือสามารถนำมาใช้งานได้ง่ายแต่ต้องสวยด้วย ผมไม่อยากทำสมุดที่ต้องพิมพ์ลายขึ้นมาใหม่เหมือนสมุดทั่วไป อยากให้มีความเป็นตัวของตัวเอง คือเป็นวัสดุที่สวยงามในตัวมันเองอยู่แล้ว
เกิดจากสิ่งธรรมดารอบตัว
Dhammada Garden มาจากคอนเซ็ปต์ตั้งแต่แรกที่เริ่มทำสมุด คือเรามองหาสิ่งรอบตัวที่หาได้ง่าย นำมาสร้างเป็นสิ่งใหม่ขึ้นมา จากของที่ไม่มีค่า ดูธรรมดา นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยงานออกแบบดีไซน์ มองเห็นความธรรมดาเหล่านั้นให้เป็นสิ่งที่ดูน่าสนใจ เพิ่มลูกเล่นโดยออกแบบเป็นคอลเล็กชันต่างๆ สะท้อนเรื่องราวความเป็นไปของสังคม คล้ายกับบันทึกความเป็นไปต่างๆ ลงในผลงานที่เราออกแบบ เหมือนที่เราบอกว่ามันเป็นตัวแทนของขยะจากอุตสาหกรรมพลาสติก อยากให้คนอื่นได้เห็นมุมมองตรงนี้ด้วยว่าขยะในเมืองมันมีเยอะนะ ถ้าลองเอาสมุดมาวางต่อๆ กัน จะให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเมืองๆ หนึ่ง แล้วถุงกระสอบคือขยะในเมืองเหล่านั้น แต่เราก็นำขยะนั้นกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ได้
โดยปกติเราเป็นคนประหยัด อย่างเรื่องทรัพยากรต่างๆ ถ้าใช้แค่นี้แล้วอยู่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปใช้เยอะ สมมุติจะทำอะไรขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งอย่างสมุด แล้วต้องไปเริ่มทำใหม่ทั้งหมด เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วถ้าเอากระดาษที่เหลือใช้มาทำมันสามารถใช้งานได้เหมือนกัน เราทำให้มันสวยได้ ดีไซน์ให้สวยงามน่าใช้ พอเมื่อนำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ก็เหมือนช่วยลดขยะในเมืองไปด้วย อย่างตัวกระดาษที่เลือกเพื่อนำมาใช้ทำส่วนด้านในของสมุด ก็เลือกจากโรงงานที่ทำกระดาษรีไซเคิล 50% และเป็นโรงงานที่ไม่ได้ใช้พลังงานถ่านหินในการทำกระดาษ แต่ใช้พลังงานน้ำ ส่วนนี้คือกระบวนการการทำงานของโรงงานผลิตกระดาษที่นำมาใช้กับงานของ Dhammada Garden เป็นกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ทำมาจากถุงกระสอบใส่เม็ดพลาสติก
ผมไปเจอวัสดุตัวนี้ตอนนั่งอยู่บนรถไฟ เห็นคนใช้ถุงกระสอบที่เขาใช้ใส่เม็ดพลาสติก อยู่ที่หัวลำโพงซึ่งมีเยอะมาก เห็นพนักงานทำความสะอาดเอามาใส่ของ ใส่ไม้กวาด มองแล้วมันให้ความรู้สึกต่างจากกระสอบทั่วไป แต่ว่ารูปทรงเหมือนกันเท่านั้นเอง ข้างนอกเป็นกระดาษ แต่พอพลิกดูด้านในจะเป็นพลาสติก ประกอบกับเราพยายามหาวัสดุที่จะนำมาทำเป็นปกอยู่แล้ว เป็นความบังเอิญที่พอดิบพอดี จึงได้โอกาสลองนำมาทำเป็นปกสมุดดู
ความน่าสนใจของถุงกระสอบใส่เม็ดพลาสติกนี้คือ ด้านนอกเป็นเหมือนกระดาษแต่ด้านในเป็นพลาสติก ทำให้มีความแข็งแรง อีกอย่างคือเราไม่ต้องนำไปพิมพ์ลาย เพราะแต่ละกระสอบจะมีลายเฉพาะตัวอยู่แล้ว เพียงแต่เราต้องมาคัดลายเพื่อเพิ่มลูกเล่นให้มากขึ้น บางครั้งก็นำส่วนที่มีสันมาเย็บต่อๆ กัน หรือเลือกสีโทนเดียวกันมาออกแบบเป็นคอลเล็กชันต่างๆ อย่าง City Collection ที่ออกแบบมานั้น เรามองถึงที่มาของตัวกระสอบที่ใช้ใส่เม็ดพลาสติกในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อนำไปทำสินค้าพลาสติกต่างๆ ถ้ามองจริงๆ จะเห็นว่าถุงกระสอบพวกนี้เหมือนเป็นตัวแทนขยะในกระบวนการอุตสาหกรรมในเมือง จึงนำไอเดียนี้มาดีไซน์ให้เป็นคอลเล็กชันที่สะท้อนถึงขยะในเมือง โดยนำถุงกระสอบพวกนี้ที่ใช้แล้วกลับมาใช้อีก แล้วเพิ่มมูลค่าด้วยงานดีไซน์
นอกจากสมุดแล้ว เรามองว่าวัสดุนี้ยังสามารถนำมาดีไซน์เป็นโปรดักต์อย่างอื่นได้ด้วย เนื่องจากมีความแข็งแรง จึงดีไซน์เป็นถุงใส่ต้นไม้ที่สามารถวางตกแต่งในบ้านได้ ออกแบบให้มีหูหิ้วเพื่อสะดวกต่อการใช้งานด้วย ไม่ได้อยากให้มองว่าเป็นของแต่งบ้าน แต่อยากให้รู้สึกว่าสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยคือหิ้วไปมาได้ เลยนำไอเดียตรงนี้มาดีไซน์เป็นกระเป๋าถือรูปทรงต่างๆ ด้วย ของบางอย่างเช่นถุงกระสอบที่ผมเลือกใช้ จริงๆ มันเป็นแค่วัสดุธรรมดา แต่ถ้าเรามองเห็นและเพิ่มคุณค่าให้กับของที่เหลือใช้แล้ว ก็จะเป็นอะไรที่ธรรมดาแต่พิเศษ และยังใช้งานได้ดีอีกด้วย
ขอขอบคุณภาพผลงานจาก: Dhammada Garden
เนื้อหาจากนิตยสาร @kitchen คอลัมน์ Professional ฉบับที่ 136