แม้ว่าคุณป่อง-ปฐมา หรุ่นรักวิทย์ จะไม่อยากให้จำกัดความว่าเธอคือสถาปนิกชุมชน แต่ด้วยรูปแบบการทำงานตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งยังก่อตั้ง CASE Studio : Community Architects for Shelter and Environment ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า สถาปนิกชุมชนเพื่อที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม หลายคนจึงรู้จักและคุ้นเคยที่จะเรียกกันสั้นๆ อย่างนั้น แต่นอกจากสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับชุมชนแล้ว คุณป่องยังมีมุมมองในการทำงานและการออกแบบที่น่าสนใจในอีกหลายแง่มุม
“ถ้าจะให้เล่าย้อนกลับไปก็ผ่านมานานมากแล้วนะ แต่รู้สึกเหมือนตัวเองเพิ่งเรียนจบมา (หัวเราะ)” เหมือนเป็นสูตรสำเร็จของเด็กที่เรียนสายวิทย์และชอบวาดรูป เลยตั้งใจจะเอนทรานซ์เข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจึงเดินทางไปศึกษาปริญญาโทสาขา Development Practices ที่ Oxford Brookes University ประเทศอังกฤษ โดยเราเริ่มจากไปเรียนภาษาอังกฤษที่ Oxford ก่อนประมาณ 1 ปี แล้วรู้สึกชอบเมืองนี้ จึงลองหาข้อมูลว่ามีมหาวิทยาลัยที่สอนสถาปัตยกรรมในระดับปริญญาโทหรือเปล่า พอเรารู้ว่ามีก็เลยไปสมัครแล้วเลือกเรียนหลักสูตรนี้ เพราะคิดว่าน่าจะเหมาะกับประเทศเรา”
เมื่อเข้าไปเรียนเรารู้สึกตกใจ เพราะปริญญาโทของเขาค่อนข้างมีความเฉพาะทาง หลักสูตร Development Practices จะมีคอร์สหลักอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ Housing The Poor เกี่ยวกับการออกแบบ สร้างที่อยู่อาศัยคนยากจน ชุมชน สลัม, Emergency Planning การออกแบบในภาวะฉุกเฉิน ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม ไฟไหม้หรือสงครามการเมือง และ Refugee Study เรื่องของผู้อพยพ และเปิดกว้างสำหรับคนที่ไม่มีพื้นฐานด้านสถาปัตยกรรมก็สามารถเรียนได้ เน้นเรื่องของการคิดวิเคราะห์มากกว่าเรื่องการออกแบบดีไซน์ จะเห็นได้ว่าคอร์สแบบนี้ต่างประเทศเขาให้ความสำคัญมานานแล้ว อย่างเรื่องของ Emergency Planning ถือเป็นเรื่องที่สำคัญนะ แต่ในบ้านเรายังไม่มีสอนเรื่องนี้เลย
CASE Studio
การทำงาน Housing โดยส่วนตัวเราชอบงานที่เป็น Housing อยู่แล้ว แต่ไม่เคยลงพื้นที่สลัมอย่างจริงจัง ตอนเรียนได้ลงสลัมครั้งแรกในวิชา Housing ที่เปรู และช่วงที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ก็เลือกกลับมาทำรีเสิร์ชที่ประเทศไทย ตอนนั้นมีโอกาสได้เจอกับคุณสมสุข บุญญะบัญชา เพื่อขอคำแนะนำในการทำโครงการเพื่อเก็บข้อมูลการปรับปรุงชุมชนบ้านบ่อหว้า จังหวัดสงขลา พอได้เริ่มทำงานจริงจังเรารู้สึกได้ว่า สิ่งสำคัญในการทำงานสถาปัตยกรรมด้านนี้คือการทำงานร่วมกับคน ซึ่งถ้ามองในเชิงสถาปัตยกรรมทางกายภาพก็มีความน่าสนใจและซับซ้อนในตัวเองสูง
ถึงแม้จะเป็นการออกแบบพื้นฐานของที่อยู่อาศัยทั่วไป แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดสูงมากในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการเงิน การดำรงอยู่เชิงสังคม การถูกดูแคลน ความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันไป เราต้องใช้วิธีคิดมากมายเพื่อแก้ปัญหา และออกแบบกระบวนการทางสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นการรื้อทิ้งสร้างใหม่ในที่เดิม การปรับปรุงพื้นที่เดิม หรือย้ายไปสร้างที่อยู่ใหม่ซึ่งมีความหลากหลายมาก การที่ต้องหาวิธีคิดแก้ไขสิ่งเหล่านี้ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการทำงานภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ
บ้านหลังนี้คุณป่องตั้งใจออกแบบให้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำงาน
คนในชุมชนจะรู้ปัญหาดีที่สุด เราต้องใช้เวลาในการลงชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ความต้องการ แล้วนำมาออกแบบกระบวนการอย่างมีส่วนร่วม เขาจะรู้ปัญหาดีที่สุดและรู้วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องที่สุดว่าพวกเขาจะทำอย่างไร ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด ประหยัด ทำให้เขามีที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและสิ่งแวดล้อมโดยรอบน่าอยู่ สะอาด ปลอดภัยมากขึ้น เรามองว่างานสถาปัตยกรรมก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้ชุมชนและสังคมมั่นคงเข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความร่วมมือกันในชุมชน หลังจากนั้นเราก็เริ่มทำงานเกี่ยวกับชุมชนมาเรื่อยๆ โดยมีคุณสมสุข ชักชวนให้มาทำงานด้วยตั้งแต่ยังเรียนไม่จบปริญญาโท จนเกิดเป็น CASE Studio ขึ้นมา
ตอนที่เราทำโครงการปรับปรุงชุมชนเก้าเส้ง จังหวัดสงขลา ถือเป็นโครงการที่ใช้เวลายาวนานกว่า 3 ปี ต้องใช้เวลาในการสำรวจพื้นที่ ปัญหาต่างๆ จัดทำแผนที่ใหม่ทั้งหมด เมื่อเราลงชุมชนทุกวันจะเริ่มมองเห็นกลุ่มเชิงสังคมต่างๆ มีการแบ่งระดับกัน บางคนก็ไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเวลาเรียกประชุม เราเลยจัดเป็นประชุมเป็นกลุ่มเล็กๆ แทน เพื่อให้ทุกคนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยเฉพาะคนชนชั้นล่างที่เขาไม่ค่อยกล้าพูด เราจะได้ข้อมูลที่เป็นความจริงมากที่สุด เพื่อนำไปแก้ไขปรับปรุงบ้านและชุมชนของเขาให้ดีขึ้นได้อย่างตรงจุดที่สุด อย่างบางครั้งชาวบ้านเขาไม่ได้มองว่าบ้านโย้หรือหลังคารั่วเป็นปัญหา แต่เขาอยากได้ทางระบายน้ำ ความสะอาด ทางเดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งเราก็ต้องฟังเขา
พอเราทำงานเกี่ยวกับชุมชนมาสักระยะหนึ่ง เราเริ่มมองเห็นบริบทของประเทศในแง่ของคนชนชั้นกลางว่ามีความน่าสนใจ อย่างคนในชุมชนเขามีทางเลือกนะ มีรัฐบาล หน่วยงาน องค์กรต่างๆ คอยช่วยเหลือ เราไม่ต้องไปมองที่ไหนไกลเลย ตอนช่วงที่เราอายุ 30 ยังไม่มีบ้านกันเลย ส่วนใหญ่อยู่กับพ่อแม่ คือเราไม่ได้รู้สึกว่าเรื่องบ้านเป็นปัญหา บางคนอาจจะเช่าหออยู่ แต่ถ้ามาคิดกันจริงๆ ถามว่า ถ้าจะซื้อบ้านสักหลังต้องมีเงินเก็บเท่าไร และใช้เวลานานแค่ไหน โดยเฉพาะบ้านในเมืองไม่ได้มีราคาแค่ 1-2 ล้าน แต่มากกว่านั้น คอนโดราคาเริ่มต้นที่ 7-8 ล้าน ตรงนี้เป็นเรื่องของความไม่พอดี ความไม่สมดุล เราจึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขามีบ้าน จนเกิดเป็นโปรเจ็กต์บ้าน TEN ขึ้นมา เพื่อทดลองหาทางออกให้กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งผลออกมาเราถือว่าบ้าน TEN ประสบความสำเร็จในแง่ของสถาปัตยกรรม
ในช่วง 10 ปีหลังของการทำงาน เรารับทำบ้านสำหรับคนทั่วไปตามงบที่เขามี ถ้ามองในเรื่องของโครงสร้าง คนชนชั้นกลางเขามีต้นทุนทั้งเรื่องการศึกษาและรายได้อยู่แล้ว เราตั้งใจว่าอยากให้อาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่สำหรับ Developer หรือคนที่มีฐานะทางสังคม ร่ำรวย ถ้าคนหันมาให้สถาปนิกออกแบบมากขึ้น นอกจากเขาจะได้บ้านที่ตอบโจทย์ มีคุณภาพ ดีไซน์สวยงาม เรายังมองเรื่องของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
ขอขอบคุณภาพเพิ่มเติมจาก CASE Studio