Lifestyle & Cooking Place

พาไปชมนิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์


พาไปชมนิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์

ทวี รัชนีกร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปีพุทธศักราช 2548 เป็นศิลปินอาวุโสคนสำคัญของไทย ร่วมรุ่นกับศิลปินที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย เช่น ดำรง วงศ์อุปราช, ชวลิต เสริมปรุงสุข, อินสนธิ์ วงศ์สาม, ปรีชา อรชุนกะ, มานิตย์ ภู่อารีย์, ลาวัณย์ ดาวราย, สันต์ สารากรบริรักษ์, พิชัย นิรันต์, ถวัลย์ ดัชนี เป็นต้น

ทวีเป็นนักศึกษารุ่นสุดท้ายที่ได้ศึกษากับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร มีประสบการณ์จัดแสดงนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นกลุ่มศิลปินหัวก้าวหน้าผู้บุกเบิกการจัดแสดงนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ในยุคสมัยที่หอศิลป์ขาดแคลนและตลาดศิลปะในประเทศเพิ่งเริ่มต้นก่อร่างปักหลักฐาน

หลังจบการศึกษาไม่นาน ทวีได้รับโอกาสให้ไปบุกเบิกการสอนศิลปะที่วิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) จากความทุ่มเทและแนวคิดล้ำสมัย การเรียนการสอนศิลปะในนครราชสีมาถึงแม้จะเป็นหัวเมืองห่างไกลกรุงเทพฯ แต่กลับมีบรรยากาศที่สร้างสรรค์และเปิดกว้างเป็นอย่างยิ่ง มีทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับศิลปินต่างประเทศและกับครูช่างพื้นบ้าน โดยเฉพาะด้านเครื่องปั้นดินเผา ผลิตศิลปิน นักออกแบบ และผู้รักในศิลปะให้กับท้องถิ่นมากมาย

แนวคิดของการศึกษาศิลปะดังกล่าวบางส่วนยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ทวี รัชนีกร จึงเปรียบเสมือนรากฐานและปราชญ์ทางศิลปะคนสำคัญของไทย มีบทบาทและเป็นที่รักอย่างยิ่ง สร้างแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบในการเป็นศิลปินผู้ขับเคลื่อนวงการศิลปะทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลามากกว่า 50 ปี

ทวี รัชนีกร เกิดเมื่อ พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดราชบุรี ก่อนจะย้ายตามครอบครัวมาที่แม่กลอง สมุทรสงคราม จบการศึกษาจากโรงเรียนเพาะช่างในปี พ.ศ. 2499 แล้วจึงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานศิลปะของทวี รัชนีกร ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจวบจนถึงปัจจุบันมีมากมายหลากหลายรูปแบบและเทคนิควิธีการ ทั้งในลักษณะจิตรกรรม ภาพพิมพ์ ประติมากรรม และสื่อผสม ในภาพรวมมักได้รับแรงบันดาลใจจากสถานการณ์ทางสังคมรอบๆ ตัว โดยเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับยุคสงครามเย็น สงครามเวียดนาม การปกครองแบบเผด็จการ ประเด็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เช่น แรงบันดาลใจจากการตั้งฐานทัพอเมริกัน ปัญหาโสเภณี นักการเมืองคอร์รัปชัน ความทุกข์ยากของชาวบ้าน เป็นต้น

ผลงานศิลปะของทวีสะท้อนอุดมการณ์ที่มุ่งมั่นแสวงหาความเป็นธรรมให้กับประชาชน บอกเล่าถึงเหตุการณ์และวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ผ่านรูปทรงและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อัดแน่นอยู่ในผลงานศิลปะ ในปี พ.ศ. 2516 ทวี “ได้ถ่ายทอดอุดมการณ์รักความเป็นธรรมให้แก่ลูกศิษย์ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ทางสังคม มีการจัดสัมมนาทางศิลปะและความถูกต้องทางการเมืองเป็นประจำ โดยเชิญวิทยากรหลากหลายสาขามาแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาตื่นตัวทั้งในเรื่องศิลปะและการเมือง ถือได้ว่าทวีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อกำเนิดศิลปะเพื่อชีวิตของศิลปินสายอีสานโคราช หลังจากเหตุการณ์ม็อบย่าโม ทวีถูกปลดจากตำแหน่งหัวหน้าแผนก สถานการณ์ที่โคราชรุนแรงและวุ่นวายไม่ต่างจากกรุงเทพฯ อาจารย์ถูกยิง นักศึกษาถูกฆ่า ลูกศิษย์หลายคนต้องหนีเข้าป่า ทวีถูกจับเข้าคุก แต่ถูกขังไม่นาน ทวีต้องเผาทำลายผลงานเมื่อได้รับการปล่อยตัว”[1] ภายหลังเหตุการณ์คลี่คลาย ทวีกลับมาสร้างสรรค์งานศิลปะอีกครั้งตามอุดมการณ์ของตน และพัฒนาไปสู่ผลงานในแนวทางสื่อผสม ใช้วัสดุท้องถิ่นมาทำงาน รวมไปถึงการวาดภาพลงบนสมุดข่อย เป็นต้น

นิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ รวบรวมผลงานศิลปะย้อนหลัง ครอบคลุมทุกชุดผลงานสำคัญของศิลปิน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 11 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ ชั้น 7 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือกับหอศิลป์ ทวี รัชนีกร มีภัณฑารักษ์คือ ผศ. วุฒิกร คงคา และคุณณรงค์ศักดิ์ นิลเขต ผลงานที่จัดแสดงมากกว่า 60 ชิ้น บางส่วนเป็นสมบัติของศิลปิน และบางส่วนมาจากผลงานสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ และนักสะสมคนสำคัญ “เปรียบเสมือนอัตชีวประวัติที่บันทึกเรื่องราวชีวิตของศิลปิน และขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนจดหมายเหตุ บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย”[2]

[1] ข้อมูลประกอบนิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหอศิลป์ทวี รัชนีกร
[2] ข้อมูลประวัติศิลปิน นิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหอศิลป์ทวี รัชนีกร

นิทรรศการ ทวี รัชนีกร : ปรากฏการณ์แห่งอุดมการณ์ รวบรวมผลงานศิลปะย้อนหลัง ครอบคลุมทุกชุดผลงานสำคัญของศิลปิน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะจนถึงปัจจุบัน จัดแสดงระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม ถึง 11 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ ชั้น 7 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


You Might Also Like...