รีบเช็คอิน! ก่อน Craftsman Roastery จะปิดบริการสิ้นปีนี้
เมื่อสถาปัตยกรรม กาแฟ และศิลปะ มาหลอมรวมอยู่ในที่เดียวกัน การเล่าเรื่องของ Craftsman Roastery คาเฟ่ในอาคารโรงพิมพ์เก่าสมัยรัชกาลที่ 5 อายุ 127 ปี จึงถูกนำกลับมาตีความอีกครั้ง ถึงแม้จะเหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่จะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ แต่ Craftsman Roastery ก็ยังคงเป็นพื้นที่ให้ผู้คนเข้ามาเสพความเก่าของสถาปัตยกรรมโบราณ ดื่มด่ำกาแฟหอมๆ และยลงานศิลป์ในวาระต่างๆ ทำให้ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี ที่นี่ไม่เคยหลับใหลเลยแม้แต่น้อย
คนคั่วกาแฟที่นิยมชมชอบตึกเก่า
Craftsman Roastery ก่อตั้งโดยคุณแวว-เนตรนภา นราธัศจรรย์ โดยมีคุณหนุ่ม-รังสรรค์ นราธัศจรรย์ นักออกแบบภายในมาดูเรื่องการตกแต่งร้านและเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด หลังจากหมดสัญญาเช่าที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง (บ้านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี) ทำให้ต้องมองหาพื้นที่ใหม่ จนมาเจออาคารเก่าแห่งนี้ที่เคยเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของไทยบนถนนบำรุงเมือง เป็นโบราณสถานขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรในชื่อ “อาคารบำรุงนุกูลกิจ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542
คุณหนุ่มเล่าถึงการมาเจอโรงพิมพ์เก่าแห่งนี้ว่า จาก Craftsman Roastery ที่บ้านอาจารย์ฝรั่งซึ่งเป็น ชอปที่ 3 ของ Craftsman ช่วงที่ใกล้หมดสัญญาทีม Craftsman จึงมองหาโลเคชันใหม่ ประกอบกับมีลูกค้าที่เป็นแฟนคลับ Craftsman เป็นอาจารย์สถาปัตย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรได้แนะนำตึกนี้ให้ พอมาดูเราก็ชอบเลยเพราะตัวอาคารมีความพิเศษมากๆ จากนั้นอาจารย์จึงกรุณาไปเกริ่นกับทางเจ้าของอาคารให้ ซึ่งเขาก็มาดูเราที่บ้านอาจารย์ฝรั่งและเห็นว่ามีแนวทางที่สอดคล้องกันเลยอนุญาตให้ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ พร้อมกับแจ้งว่ามีเวลาให้สั้นๆ เพราะที่นี่มีโปรเจ็กต์ที่จะพัฒนาเป็นโรงแรมในต้นปี พ.ศ. 2566
เมื่อโรงพิมพ์เปลี่ยนเป็นคาเฟ่
การเปิดร้านกาแฟชั่วคราวหรือ Pop-up Café จึงเริ่มต้นขึ้น โดยใช้พื้นที่ในสภาพที่เป็นอยู่เดิม “สำหรับเรากับเวลาหนึ่งปีที่นี่คือความเหมาะสมแล้ว เพราะคิดว่าวิธีการคิดแบบของเราไม่มีปัญหาอยู่แล้ว จริงๆ ตอนที่เข้ามาดูอาคารนี้ได้ถูกเคลียร์พื้นที่รอไว้หมดแล้ว เป็นพื้นโล่ง เวลาพิจารณาโจทย์จะเริ่มต้นจากข้อจำกัดว่าสิ่งที่ทำได้กับทำไม่ได้คืออะไรบ้าง ในมุมของ Craftsman เราไม่ได้เป็นแค่คาเฟ่ แต่เราเป็นคาเฟ่ที่นำเสนองานศิลปะกับงานฝีมือที่มาอยู่ในพื้นที่ของเรา จากการเริ่มทำที่บ้านอาจารย์ฝรั่งเราก็จะมีโปรเจ็กต์นำเสนอเรื่องราวของช่างปั้นดินเผา ช่างภาพ หรือคนที่ทำงานด้านศิลปะในพื้นที่ของเราอยู่แล้ว พอมาเห็นพื้นที่ตรงนี้ก็คิดว่าเหมาะมาก เพราะเป็นโอเพนสเปซ ด้วยความโล่งของพื้นที่และแสงของอาคารที่เข้ามานั้นเอื้อต่อสิ่งนี้อยู่แล้ว”
เปิดประตูสู่ Craftsman Roastery
อาคารโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจแบ่งเป็นชั้นบนและชั้นล่าง โดย Craftsman Roastery ตั้งอยู่ในส่วนชั้นล่าง แบ่งเป็น 2 โซน คือในส่วนของคาเฟ่ และส่วนที่จัดสรรเป็นพื้นที่สำหรับแสดงงานและจัดกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ
“ด้วยความที่เป็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือข้อจำกัดที่เป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไป โดยดูแลไม่ให้เป็นการรบกวนตัวอาคารหรือทำให้เกิดความเสียหาย อย่างการติดตั้งไฟ สิ่งที่เราทำคือจะไม่มีการเจาะพื้นโครงสร้างใดๆ เลย นับเป็นการดีเพราะง่ายต่อการรื้อถอน และของก็ไม่เสียหายสามารถนำกลับไปใช้ได้ด้วย สอดคล้องกับแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนของกำแพงผนัง ในความเลอะเทอะจากการพ่นสี หรือแม้กระทั่งรอยของสีที่ลอกหลุดก็ดูเป็นสิ่งที่นำมาเล่นได้ด้วยการจัดองค์ประกอบให้เกิดประโยชน์ โดยวิธีการเลือกเฟอร์นิเจอร์ของเราจากการได้ศึกษาถึงยุคสมัยก่อน อาคารจะมีหน้าตาแบบฝรั่ง ระบบการก่อสร้างก็เป็นแบบฝรั่ง รูปแบบของอาคารนี้เป็นอาคารช่วงยาวจึงใช้เสากลมเหล็กหล่อและคานเหล็กเพื่อรับน้ำหนักพื้นชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นเสาอิมพอร์ตจากอังกฤษที่เป็นบริษัททำชิ้นส่วนประเภทนี้โดยเฉพาะ
“เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจว่าตัวอาคารมีพื้นฐานอย่างไร เราจึงสร้างสภาพแวดล้อมอย่างอื่นที่เอื้อต่อกันเป็นภาษาเดียวกัน เช่น เฟอร์นิเจอร์ อาร์มแชร์ที่เลือกมาก็เป็นงานในยุค 30-40 ภาษาในวงการเรียกกันคือ French Club Chair ที่ใช้ในคลับ ในเลานจ์ วัสดุทำจากหนังซึ่งเป็นยุคที่ล้อไปกับอาคารที่มีอายุ 127 ปีในขณะที่เฟอร์นิเจอร์บางตัวก็เป็นภาษาแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเกินไป เพราะที่นี่จะเป็นอาคารกึ่งๆ พับบลิกที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ เป็นสถานที่ที่คนงานสมัยก่อนผลิตสิ่งพิมพ์ มีการตั้งแท่นเครื่องพิมพ์ เราก็คิดว่าภาษาของเฟอร์นิเจอร์ต้องดูง่ายๆ มีความเป็นตะวันตกและดูมีอายุ เฟอร์นิเจอร์พวกนี้เราได้มาด้วยความบังเอิญซึ่งได้มาก่อนที่จะมีโปรเจ็กต์ทั้งหมด พอไปเจอแล้วชอบก็ซื้อเก็บไว้ทั้งหมด 90 กว่าตัว เก็บมาเรื่อยๆ พอถึงเวลาก็มีที่ไปของมัน
“อย่างโคมไฟก็เป็นภาษาที่ถูกใช้ในอินดัสเตรียลสมัยก่อน ถ้าไปย้อนดูภาพถ่ายเก่าในยุคตั้งต้นของอาคารตอนที่ทำเป็นโรงพิมพ์ก็มีการใช้โคมตะเกียงน้ำมันห้อยอยู่อย่างสวยงาม เป็นตะเกียงที่มาจากฮอลแลนด์ ส่วนที่มาของแชนเดอเลียร์เกิดขึ้นในช่วงทำงาน Bangkok Design Week กันที่นี่ คุณสุวรรณเจ้าของแบรนด์โยธกา มาแนะนำว่าว่าที่นี่ยังขาดอะไรบางอย่าง เขาจึงนำแชนเดอเลียร์มาให้ยืม พอแขวนไปเลยกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้วสำหรับร้านนี้ ตอนหลังคุณแววไปหาได้มาจากตลาดของเก่าแทนแชนเดอเลียร์ที่คุณสุวรรณให้ยืมมา
“ด้วยอาคารเป็นพระเอกอยู่แล้ว ฟังก์ชันต่างๆ ที่เติมเข้ามาเราก็ทำให้ไม่ดูขัดเขิน อย่างตู้เค้ก ด้วยความบังเอิญช่วงที่ตกแต่งร้านก็พยายามมองหาเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นภาษาเดียวกันก็ไปได้ตู้นี้มา ส่วนประตูเป็นของเดิม เป็นความโชคดีที่ก่อนหน้านี้ประตูได้ถูกถอดเก็บไว้แล้วเปลี่ยนเป็นประตูม้วนแบบโรงพิมพ์ ซึ่งหลังจากยุคโรงพิมพ์ก็ถูกดัดแปลงชั้นบนเป็นที่พักอาศัย และมีคนมาเช่าต่อเติมเป็นส่วนของร้านอาหารต่อเชื่อมไปอีกฝั่งหนึ่งด้านหลัง ส่วนชั้นล่างร้านสังฆภัณฑ์มาเช่าที่สำหรับเก็บองค์พระ ก็จะเห็นร่องรอยการพ่นสีองค์พระที่เป็นเรื่องราวผ่านกาลเวลา
“ส่วนพื้นที่อีกด้านหนึ่งที่ผ่านมาก็มีจัดนิทรรศการ Bangkok Design Week นิทรรศการของ VERNADOC และอีกหลายๆ กิจกรรมในเชิงศิลปะที่มีประโยชน์กับคนทั่วไปหรือมีความเชื่อมโยงกับคาแรกเตอร์ของพื้นที่ก็ถูกจัดขึ้นที่นี่ โดยปลายปีนี้ที่นี่จะมีเอ็กซ์ซิบิชันใหญ่ของนักออกแบบผ้า นักทอผ้า กับช่างภาพขาวดำที่มาร่วมมือกันภายใต้โจทย์ของตัวอาคาร นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอาคารผ่านกระบวนการบางอย่าง ถือเป็นนิทรรศการส่งท้ายในเดือนธันวาคม ซึ่ง Craftsman Roastery จะเปิดให้บริการถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้ หลังจากนั้นพื้นที่นี้จะถูกปิดลงเพื่อปรับปรุงเป็นโรงแรมเชิงอนุรักษ์ต่อไป” คุณหนุ่มกล่าวทิ้งท้าย
เมนูย้อนสมัยในรัชกาลที่ 5-6
คุณแววตั้งใจสร้างสรรค์เมนูและเบเกอรีของที่นี่ให้เป็นแบบผสมผสานระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ โดยนำมาปรับสูตรและพัฒนา มีเชฟเช้า-คุณต่อจันทน์ แคทริน บุณยสิงห์และคุณหนูนา-มัทนา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มาช่วยกันแกะสูตร และหาวิธีการนำเสนอจากตำราขนมที่คุณแววได้มาซึ่งเป็นของหม่อมเจ้าสิบพันพารเสนอ โสณกุล ปีพ.ศ. 2483
นี่คือ หน้าตาของเมนู “ปายไก่” หรือก็คือพายไก่ แป้งพายหอมๆ กับไก่เนื้อนุ่มชุ่มฉ่ำ กินกับผักดอง เพื่อตัดเลี่ยน
“ปายมันฮ่อ” พายวอลนัท ได้กลิ่นเครื่องเทศ หนุบหนับกับเนื้อวอลนัทที่อัดแน่นมาแบบเต็มๆ
เครื่องดื่มซิกเนเจอร์ Bamrungmueng Summer ข้าวเหนียวมะม่วงครีมโซดา หอมสดชื่นด้วยรสชาติมะม่วงแท้ๆ ผสมกับกลิ่นกะทินวลๆ ในข้าวเหนียวมูน ด้านลนราดด้วย milk cream ทอปด้วยถั่วเขียวซีกอบกรอบ ให้เคี้ยวเพลินๆ
Spiced Latte คืออีกเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ สำหรับคอกาแฟที่ไม่ควรพลาด เป็นกาแฟนมเย็นหอมเครื่องเทศอ่อนๆ จาก Spiced Syrub ซึ่งทางร้านทำเอง ด้านบนทอปด้วยฟองนมหนานุ่ม เพิ่มกลิ่นหอมด้วยก้านอบเชยเผา
นอกจากกาแฟแล้วยังมีคอกเทลสูตรพิเศษอย่างเมนู Grace มีส่วนผสมประกอบด้วย เก๊กฮวย, สับปะรด มะนาว นม ไซรัปน้ำผึ้งมะนาว และไวท์รัม ส่วนอีกตัวคือ Tommy ประกอบด้วย craftsman coffee, สับปะรด, มะนาว, นม, ไทม์ และสไปซ์รัม
Craftsman Roastery
ถนนบำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เปิดบริการทุกวัน 07.30-18.00 น.
Facebook : craftsmanroastery