Lifestyle & Cooking News & Event

เบื้องหลังภาพยนตร์แอนิเมชันคุณภาพเยี่ยมทำรายได้เปิดตัวสูงสุดของปีในไทย Inside Out 2


เผยความน่ารักให้ชมกันไปแล้ว สำหรับ “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา พร้อมกับสร้างปรากฏการณ์ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชัน ที่ทำรายได้เปิดตัวสูงสุดของปีในไทย โดยภาคนี้ยกทีมตัวละครอารมณ์มาสร้างความปั่นป่วนอลเวงถึง 9 อารมณ์ นำทีมโดย ลั้ลลา (Joy), ฉุนเฉียว (Anger), เศร้าซึม (Sadness), กลั๊วกลัว (Fear) และ
หยะแหยง (Disgust) จากภาคก่อน เสริมทัพด้วยอารมณ์ใหม่อย่าง ว้าวุ่น (Anxiety), อิจฉา (Envy),เขิ้นเขินอ๊ายอาย (Embarrassment) และอองวีหรือเฉยชิล (Ennui) ซึ่งหากใครได้ชมแล้วจะต้องตกหลุมรักและประทับใจกับอารมณ์ทั้ง 9 อย่างแน่นอน เพราะพวกเขาไม่เพียงแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดีเท่านั้น แต่ยังมีภาพลักษณ์และบุคลิกภาพเป็นของตัวเองอย่างชัดเจนด้วย

EXPANDED HEADQUARTERS — Disney and Pixar’s “Inside Out 2” returns to the mind of newly minted teenager Riley, where headquarters expands to make room for new Emotions. Pictured from L-R: Joy (voice of Amy Poehler), Embarrassment (voice of Paul Walter Hauser), Envy (voice of Ayo Edebiri), Anxiety (voice of Maya Hawke), Disgust (voice of Liza Lapira), Anger (voice of Lewis Black), Fear (voice of Tony Hale) and Sadness (voice of Phyllis Smith). Directed by Kelsey Mann and produced by Mark Nielsen, “Inside Out 2” releases only in theaters June 14, 2024. © 2024 Disney/Pixar. All Rights Reserved.

วัยรุ่นที่มาพร้อมกับความว้าวุ่นและหลากหลายอารมณ์

ใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ไรลีย์ แอนเดอสัน โตขึ้นเป็นวัยรุ่นเต็มตัวแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่ภายนอกเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ภายในสมองและจิตใจของเธอก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ภารกิจที่เคยท้าทายเหล่าอารมณ์ทั้ง 5 ในการควบคุมศูนย์บัญชาการทางอารมณ์ของไรลีย์ให้อยู่ในโซนบวกอยู่เสมอเมื่อครั้งที่เธอยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อยกลายเป็นเรื่องเล็กไปเลย เมื่อเทียบภารกิจใหม่ที่พวกเขากำลังจะเผชิญในภาคนี้ รวมถึงการมาถึงของชุดอารมณ์ใหม่ๆ ที่ซับซ้อนขึ้น จนเกิดเป็นความบันเทิงครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมและปั่นป่วนยิ่งขึ้น

Pete Docter ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์หรือ Creative Director ของ Pixar เปิดเผยว่า “เมื่อครั้งที่ทำวิจัยเพื่อสร้าง Inside Out ภาคก่อน เรารู้อยู่แล้วว่าเด็กเล็ก ๆ นั้นมีมากกว่า 5 อารมณ์ เพราะแน่นอนว่าถึงจะเป็นเด็กก็รู้สึกอายและอิจฉาได้ แต่เพื่อลดความซับซ้อนของเรื่องราวและทำให้เข้าใจง่าย จึงลดทอนลงมาเหลือเพียง 5 อารมณ์อย่างที่เห็น พอมาถึง Inside Out 2 เราคิดว่าระดับความรุนแรงของอารมณ์เขินอายหรืออิจฉาในวัยรุ่นนับว่าอยู่ในช่วงกำลังดี จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอบางอารมณ์ที่ไม่ได้ใช้ในภาคแรก เพื่อให้เห็นพัฒนาการที่น่าสนใจของตัวละคร และนั่นคือหนึ่งในเหตุผลหลักที่เราตัดสินใจสร้าง Inside Out 2 ขึ้นมา” ด้าน Mark Nielsen ผู้อำนวยการสร้างเสริมว่า “แน่นอนว่าการก้าวสู่วัยรุ่นมาพร้อมอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงความว้าวุ่น
ซึ่งจริง ๆ แล้วว้าวุ่นหรือ Anxiety เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวมาตั้งแต่แรก แต่ช่วงวัยรุ่น
ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาที่ใช่ที่สุดที่จะพูดถึงเรื่องนี้” นั่นคือที่มาของเหล่าอารมณ์ใหม่ที่บุกเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับศูนย์บัญชาการอารมณ์ใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2”

เปลี่ยนอารมณ์นามธรรมให้เป็นคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น

เพื่อให้ผู้ชมอินไปกับตัวละคร และเข้าถึงเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอมากที่สุด ทีมผู้สร้างจึงพยายามออกแบบและสร้างสรรค์ทุกคาแรกเตอร์ให้สื่อถึงแต่ละอารมณ์อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม ซึ่งกว่าจะออกมาเป็น
คาแรกเตอร์อารมณ์อันโดดเด่นแบบนี้ได้ ทีมงานได้ศึกษาหาข้อมูลจากการอ่านหนังสือมามากมาย รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และพูดคุยกับนักจิตวิทยาหลายท่านเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองของวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เรากำลังขยายกว้างขึ้น และซับซ้อนขึ้นด้วย

สำหรับการออกแบบและสร้างสรรค์ตัวละครใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” Ana Gabriela Lacaze ในฐานะ Character Supervisor เล่าว่า ไอเดียในการแปลงนามธรรมอย่างอารมณ์ให้ออกมาเป็นรูปธรรมนั้นทางทีมสร้างสรรค์ตัวละครไม่ได้ออกแบบให้เป็นตัวละครที่มีความเป็นเนื้อเป็นหนังเหมือนคนทั่วไปเสียทีเดียว แต่ตีความให้ทุกคาแรกเตอร์มีส่วนประกอบที่เป็นลักษณะกึ่งโปร่งใส ซึ่งแต่ละตัวละครก็มีความโปร่งใสแตกต่างกันไป “เราแปลงอารมณ์ให้เป็นรูปธรรมโดยออกแบบให้มี พื้นผิว (surfaces) มิติรูปร่างหรือปริมาตร (volumes) และอนุภาค (particles) ที่เป็นลักษณะพิเศษ ซึ่งอนุภาคในบางอารมณ์ เช่น เศร้าซึม (Sadness), เขิ้นเขินอ๊ายอาย (Embarrassment) หรือ อิจฉา (Envy) จะมีความนุ่มนวล โปร่งใสมากกว่า และหลอมรวมเข้ากับมิติรูปทรงของตัวละครนั้น ๆ อย่างกลมกลืน ในขณะที่บางอารมณ์ เช่น ฉุนเฉียว (Anger), ว้าวุ่น (Anxiety) และเฉยชิล (Ennui) อนุภาคของพวกเขาจะทึบแสงกว่าและเกือบจะเป็นเหมือนผลึกน้ำตาล ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่าว่าตรงขอบ ๆ จะเห็นไม่ค่อยชัดเท่าไร และจุดที่มองเห็นได้ชัดเจนบนตัวละครก็จะมีสีแตกต่างกันไปตามทิศทางของแสง อีกอย่างคือดวงตาของตัวละครอารมณ์จะมีประกายระยิบระยับ ยกเว้นแค่เศร้าซึม (Sadness) ตัวเดียว” Character Supervisor อธิบาย

ตัวละครอารมณ์ที่ช่วยฉายภาพสิ่งที่ Ana Gabriela Lacaze เล่ามาทั้งหมดได้ดีที่สุดคือ ลั้ลลา (Joy) ซึ่งส่องแสงเจิดจ้าตลอดเวลา เธอมีปริมาตรนุ่มนวลสีน้ำเงินขนาดใหญ่โอบล้อมรอบตัวเสมอ และยังเป็น
ตัวละครเพียงหนึ่งเดียวที่มีอนุภาคเล็ก ๆ ลอยตามหลัง ซึ่งอนุภาคเหล่านั้นจะร่วงหล่นลงและค่อย ๆ สลายไปเมื่อเธอเคลื่อนไหว นอกจากนี้สิ่งที่พิเศษอีกอย่างคือผมของลั้ลลาและทุกอารมณ์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างน่าสนใจ “ถ้ามองจากระยะไกล เส้นผมของตัวละครอารมณ์จะมีลักษณะเหมือนเส้นผมจริงในแง่การเปล่งประกาย แต่ถ้าสังเกตอย่างละเอียดจะเห็นว่าเส้นผมนั้นประกอบด้วยจุดเล็ก ๆ จุดเหล่านั้นมีประกายวาวและมีลักษณะคล้ายวงแสงออร่า ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ” เธอกล่าว

สีสันและลักษณะพิเศษของตัวละครอารมณ์ทั้ง 9

ด้านสีสันและรูปร่าง ตัวละครอารมณ์ต่างๆ ถูกออกแบบให้มีสีและรูปทรงที่เฉพาะเจาะจง พร้อมคาแรกเตอร์ที่สื่อถึงอารมณ์ต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน 

เริ่มจาก “ลั้ลลา” หรือ Joy ที่มีสีเหลืองและรูปร่างเหมือนดาว ซึ่งนอกจากความร่าเริงและมองโลกในแง่ดี ลั้ลลายังมีลักษณะเฉพาะตัวที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทพิเศษของเธอในจิตใจของไรลีย์ คือ “เธอส่องแสง หรือเรียกได้ว่าแผ่รังสี” Charu Clark หนึ่งใน Lighting Supervisor กล่าว นั่นทำให้เห็นว่าบทบาทหน้าที่ของลั้ลลาไม่ธรรมดาเลย

มาที่ “ฉุนเฉียว” หรือ Anger เขามีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดง ตัวเตี้ย ป้อม และค่อนข้างหนา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องท้าทายของทีมสร้างสรรค์ตัวละครมากทีเดียว ในการทำให้ฉุนเฉียวขยับตัวได้โดยไม่ทับซ้อนกับตัวมันเองจนดูไม่ลงตัว ส่วนบุคลิกนั้นแทบไม่ต้องอธิบาย เพราะฉุนเฉียวมักจะโมโหจนระเบิดขึ้นมาบ่อย ๆ เป็นปกติ

แตกต่างจาก “เศร้าซึม” หรือ Sadness ที่ตัวสีฟ้าสื่อถึงความเศร้าและรูปร่างเหมือนหยดน้ำตา บุคลิกของเธอถูกออกแบบให้เป็นตัวละครที่เรียบง่าย ด้วยความที่เธอหดหู่อยู่ตลอดจึงแทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อน ส่วนใหญ่จะเป็นการเคลื่อนไหวเท่าที่ร่างกายของเธอจะอำนวยเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การล้มลงกับพื้นจะเป็นการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่เราจะได้เห็นจากเศร้าซึม

หยะแหยง” หรือ Disgust เป็นสาวเปรี้ยวสีเขียวที่ทั้งเฉี่ยวและเฉียบแหลม เอกลักษณ์พิเศษของเธอที่ทำให้คนจดจำ คือขนตายาว
อันงอนงามที่ราวกับเป็นอณูหนึ่งในโลกของจิตใจ ซึ่งสามารถทะลุผ่านเส้นผมและสิ่งอื่น ๆ ได้ ที่สำคัญคือเธอมีรอยยิ้มมุมปากแบบเฉพาะตัวอันโดดเด่นไม่เหมือนใครด้วย 

ส่วน “กลั๊วกลัว” หรือ Fear มีรูปร่างเหมือนเส้นประสาทโค้งสีม่วง เขาตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สังเกตได้จากลูกตาที่เบิกกว้างมองหาอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ และพร้อมจะตอบสนองต่อทุกสิ่งในทันทีหากมีเหตุที่เขาคิดว่าร้ายแรงเกิดขึ้น

ด้านตัวละครใหม่อย่าง “ว้าวุ่น” หรือ Anxiety มีสีส้มจี๊ดและรูปร่างหน้าตาอันโดดเด่น ทั้งปากใหญ่ที่แทบจะกินพื้นที่ไปครึ่งหน้า แขนกลมบางราวกับท่อ ตาเบิกโพรงม่านตาหดจนแทบจะเห็นแต่ตาขาว และผมที่เหมือนขนนกซึ่งแสดงความรู้สึกได้ด้วย หากเศร้าผมของเธอก็จะดู
ห่อเหี่ยว และถ้าตื่นเต้นผมของเธอจะตื่นตัวมีชีวิตชีวา นั่นคือภาพของว้าวุ่นซึ่งเมื่อรวมกับบุคลิกคล่องแคล่ว แต่หลุกหลิก ลนลาน พูดเร็ว กรอกตารัว ๆ และคิดไปก่อนล่วงหน้าเสมอ ก็ทำให้เห็นถึงความกังวลว้าวุ่นได้ดีสุด ๆ

“เขิ้นเขินอ๊ายอาย” หรือ Embarrassment ตัวกลมใหญ่ สีชมพูเหมือนสีบลัชออน เขาเป็นอารมณ์ที่ตัวใหญ่ที่สุด เมื่ออยู่ร่วมกับอารมณ์อื่นจะเห็นได้เลยว่าเขิ้นเขินอ๊ายอายตัวใหญ่มาก สะท้อนถึงขนาดที่ใหญ่โตของความรู้สึกอายในตัวไรลีย์ โดยเวลาปกติเขาจะนิ่งเงียบและมัก
ซ่อนตัวอยู่ในฮูดดี้ แต่โชคไม่ดีที่แม้อยากจะแอบจนสุดใจ ก็ยังกลายเป็นที่สนใจอยู่ดี

สำหรับ “อิจฉา” หรือ Envy นั้น Keiko Murayama ตำแหน่ง Character Art Director เล่าว่า เป็นตัวละครที่ออกแบบค่อนข้างยากทีเดียว เพราะคาแรกเตอร์ที่ดีไซน์ออกมาในช่วงแรก ๆ ดูไม่น่าจะรักได้ลงเอาเสียเลย “เราคุยกันอยู่นานหลายเดือน กระทั่งวันหนึ่งผู้กำกับ Kelsey Mann ได้ให้ภาพร่างของอิจฉามา แล้วฉันก็ลองค้นดูรูปลูกหมาตัวเล็ก ๆ จนไปเจอเข้ากับรูปน้องหมาพันธุ์ค็อกเกอร์ สแปเนียล (Cocker Spaniel)
ที่เปียกปอนและดูเศร้าสร้อย ทุกคนก็ลงความเห็นตรงกันว่า นี่แหละ!ใช่เลย!” ภาพของอิจฉาจึงออกมาเป็นน้องน้อยตัวเล็กจิ๋ว รูปร่างคล้ายเห็ดกำลังบาน และมีสีเขียวคราม พร้อมแววตาเป็นประกายอย่างที่เห็น

สุดท้าย อีกหนึ่งตัวละครที่ท้าทายอย่างมากสำหรับทีมสร้างสรรค์คาแรกเตอร์คือ “เฉยชิล” หรือ Ennui เพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกเฉื่อยชาและขาดพละกำลังจริง ๆ ทางทีมจึงออกแบบให้เฉยชิลมีรูปร่างและท่าทางเหมือนก๋วยเตี๋ยวเส้นแบน รวมถึงมีผมที่ยาวจนเคลื่อนไหวไม่สะดวก เรามักจะเห็นเธอนอนบนโซฟาหรือเอนหัวไปทางข้างใดข้างหนึ่งตลอด และด้วยความที่เป็นคาแรกเตอร์ซึ่งเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ไม่สนโลก การเลือกสีให้เข้ากับบุคลิกดังกล่าวจึงเป็นเรื่องยาก “เฉยชิลเป็นอารมณ์สุดท้ายที่ได้รับสีประจำตัว เพราะไม่มีสีใดเหมาะกับเขาเลย ท้ายที่สุดเราจึงเลือกใช้เฉดสีเทาน้ำเงินเข้มที่มีความอิ่มตัวต่ำ ซึ่งถ้าให้บอกว่าเป็นสีอะไร เรียกว่าเป็นสีที่ ‘ไร้ชีวิตชีวา’ น่าจะเหมาะที่สุด”
Jason Deamer ผู้รับหน้าที่ Production Designer กล่าว

เทคโนโลยีล่าสุดของ Disney และ Pixar มอบความสมจริงให้กับเหล่าตัวละคร

นอกจากรายละเอียดในการออกแบบตัวละคร งานสร้างสรรค์ภาพก็มีความพิเศษเช่นกัน โดย “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ใช้ระบบ Hexport ในการสร้างสรรค์ ระบบนี้“เป็นการรวมกันของสายการผลิตที่รู้วิธีการเคลื่อนย้ายข้อมูล รวมถึงเป็นอินเทอร์เฟซที่เชื่อมการทำงานกับ Houdini ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จากบริษัทอื่นที่เราใช้งานอยู่” Patrick Coleman ในฐานะ Global Technology Supervisor ของ Pixar เล่าถึงระบบที่ใช้สร้างสรรค์ตัวละครให้มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งเขาบอกว่าระบบดังกล่าวทำให้ศิลปินสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งการสร้างตัวละครอารมณ์ใหม่ๆ และการปรับปรุงตัวละครเดิมที่ถูกออกแบบไว้เมื่อ 9 ปีก่อนหน้านี้ให้ดียิ่งขึ้น  

ความยากอย่างหนึ่งของงานภาพคือตัวละครอารมณ์ต่าง ๆ ประกอบขึ้นด้วยพื้นผิว (surfaces) มิติรูปร่างหรือปริมาตร (volumes) และอนุภาค (particles) อย่างที่กล่าวไป ซึ่งอาจมีความซับซ้อนในการเคลื่อนไหว ดังนั้น Pixar จึงนำซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า Presto เข้ามาช่วย “เมื่อแอนิเมเตอร์ออกแบบท่าทางให้กับตัวละคร พวกเขาจะไม่สามารถเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าตัวละครกำลังทำท่าทางนั้น ๆ อย่างไร เราจึงนำตัวอย่างคร่าว ๆ ของตัวละครและท่าทางต่าง ๆ ไปไว้ใน Presto ซอฟต์แวร์แอนิเมชันของเรา เพื่อให้แอนิเมเตอร์ทดลองทำท่านั้นท่านี้ให้เห็นภาพว่าเมื่ออยู่ในท่าทางนั้น ๆ ตัวละครจะดูเป็นอย่างไร” Patrick Coleman แจกแจง ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญที่ทำให้เหล่าคาแรกเตอร์อารมณ์ใน “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ดูมีมิติที่สมจริงมากขึ้น

ด้านการถ่ายทำ Adam Habib ตำแหน่ง Director of Photography หรือ Layout ให้ข้อมูลว่า ทีมผู้สร้างใช้เทคนิคกล้องที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมและเข้ากับแต่ละสถานการณ์ที่สุด ตัวอย่างเช่น การเจาะจงไปที่ว้าวุ่น  ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในประสบการณ์ของไรลีย์ ทีมผู้สร้างจึงต้องการหาวิธีระบุว่าเมื่อใดที่อารมณ์กำลังเป็นใหญ่ “ในขณะที่ผู้ชมอยู่กับไรลีย์ในโลกความเป็นจริง และว้าวุ่นกังวลเป็นตัวนำในความรู้สึกของเธอ กล้องจะมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นและถือแบบแฮนด์เฮลด์ เพื่อให้ผู้ชมรู้สึกคลาดเคลื่อน ไม่สมดุล อีกทั้งยังเรายังใช้เลนส์มุมกว้างเพื่อบิดมุมมองให้ผิดเพี้ยนไปบ้าง เพราะเมื่ออยู่ในสภาวะวิตกกังวล บางครั้งเรื่องเล็กๆ ก็อาจทำให้รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่โตได้ ดังนั้นเราจึงแสดงให้เห็นด้วยมุมมองที่บิดเบี้ยวและกว้างเกินจริง” Habib อธิบาย

นอกจากนี้เรื่องแสงก็สำคัญ Rona Liu ในฐานะ Lighting Art Director กล่าวว่า การจัดแสงของเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงรูปแบบสีที่หลากหลายซึ่งอาจส่งผลต่อพลังของตัวละครในโลกของจิตใจได้ “ใน Inside Out 2 มีตัวละครค่อนข้างเยอะ แต่ละตัวก็มีสีจำเพาะของตัวเอง ดังนั้นแสงจึงต้องเป็นแบบกระจายและนุ่มนวล เพื่อให้สีของแต่ละตัวละครส่องประกายออกมาได้” เขาเล่าถึงการทำงาน ซึ่งปัญหาที่ทำให้ทีมงานด้านแสงต้องทำงานหนักขึ้นคือการที่หน้าจอควบคุมอารมณ์ในศูนย์บัญชาการอัพเดตให้เปลี่ยนแสงสีตามอารมณ์ที่ควบคุมอยู่
“เราต้องระมัดระวังในการใช้แสงว่าแสงสีนั้น ๆ จะส่งผลกระทบต่อตัวละครอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน เช่น ถ้าแสงสีเขียวตกกระทบบนตัวละครสีแดงมากเกินไปก็จะไม่ดูน่ามอง เลยต้องลดระดับแสงสีนั้นลง อาจจะประมาณสัก 50% เพื่อหาผลลัพธ์ที่น่าพอใจที่สุด” Rona Liu กล่าว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความกลมกล่อมลงตัวทั้งเรื่องของการออกแบบตัวละคร เทคนิคการสร้างสรรค์ ตลอดจนด้านมุมกล้อง และการจัดแสงสีต่าง ๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2”  และเหล่าตัวละครอารมณ์ทั้ง 9 ลั้ลลา (Joy), ฉุนเฉียว (Anger), เศร้าซึม (Sadness), กลั๊วกลัว (Fear), หยะแหยง (Disgust), ว้าวุ่น (Anxiety), อิจฉา (Envy), เขิ้นเขินอ๊ายอาย (Embarrassment) และอองวีหรือเฉยชิล (Ennui) เข้าไปยึดครองหัวใจผู้ชมทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ว่าใครที่ได้เห็นศูนย์บัญชาการใหญ่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนอลเวงยิ่งกว่าเดิม เพิ่มเติมความสมจริงของตัวละครสุดน่ารัก ต่างก็ตกหลุมรักจนบอกต่อแบบปากต่อปากว่า ต้องไปดูในโรงภาพยนตร์เท่านั้น เพื่อความอินและประทับใจขั้นสุด

ส่วนใครดูแล้วอิน หรือคนที่กำลังจะไปดูแล้วอยากรู้ว่า เอ..ในตัวเรามีอารมณ์ไหนเป็นอารมณ์หลักกันนะ “Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” มีควิซสนุก ๆ มาให้เล่นกันด้วย ที่ Facebook @ Walt Disney Studios ไปร่วมค้นหาอารมณ์ที่ใช่ในตัวคุณ แล้วอย่าลืมแชร์และติดแฮชแท็ก #InsideOut2TH #มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง2 ให้เพื่อน ๆ ตามไปเล่นกันด้วยนะ แม่นไม่แม่นต้องพิสูจน์! ที่ลิ้งค์นี้ https://www.facebook.com/WaltDisneyStudiosTH/posts/pfbid0DRwa9fkuwPF5gDU5aeyP48ysrxrMGVWx5zvqz4pKHfa9Z4Wozg5EBYBTPP6xyyotl

“Disney and Pixar’s Inside Out 2 มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง 2” ภาพยนตร์ภาคต่อของแอนิเมชันเรื่องเยี่ยม Inside Out เจ้าของรางวัลรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมประจำปี 2015 เข้าฉายแล้ววันนี้ ไปลุ้นกับปฏิบัติการของเหล่าอารมณ์ในสมองของวัยรุ่นป้ายแดงอย่างไรลีย์กันได้ ในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ

โซเชียลมีเดีย:

YouTube: @WaltDisneyStudiosTH

Facebook: @WaltDisneyStudiosTH

Instagram: @DisneyStudiosTH

X: @DisneyStudiosTH

Hashtag: #InsideOut2TH #มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง2


You Might Also Like...