Open “Modern Classic” House ไอเดียบ้านสไตล์โมเดิร์นคลาสสิก

พาทุกคนไปพูดคุยกับ ดร.ฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ผู้เชี่ยวด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติ พลังงานทดแทน และขนส่งแบบครบวงจร ถือเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ที่ ดร.ฤทธี เปิดบ้านต้อนรับให้เราได้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ รสนิยม ความชอบ ผ่านการออกแบบตกแต่งบ้าน นอกเหนือจากบทบาทการเป็นผู้บริหารและนักธุรกิจ

บ้านหลังนี้สร้างขึ้นบนที่ดินขนาด 1 ไร่ 1 งาน โดยใช้เวลาประมาณ 3 ปีกว่าบ้านจึงเสร็จสมบูรณ์สวยงามตามโจทย์ที่ต้องการ โดย ดร.ฤทธี เล่าให้ฟังว่า “คอนเซ็ปต์ของบ้านเริ่มจากภรรยาผมเขาชอบบ้านสไตล์ฝรั่งเศส มีความเป็นนีโอ-คลาสสิกหน่อยๆ ภาพรวมของบ้านเลยออกมากลิ่นอายประมาณนี้ ซึ่งไม่ได้คลาสสิกหรือดูสไตล์หลุยส์หรูหราจนเกินไป เราผสมผสานดีไซน์ที่มีความโมเดิร์นเข้ามา บวกกับเลือกโทนสีให้ซอฟต์ลงอย่างสีครีม สีโรสโกลด์ สีน้ำตาล”

พื้นที่ภายในบ้านออกแบบเป็นโถงสูงตรงกลาง ให้ความรู้สึกโอ่อ่า โปร่งโล่ง ขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยกลิ่นอายของความอบอุ่น อยู่สบาย โดยแบ่งฟังก์ชันใช้งานไว้อย่างเป็นสัดส่วนชัดเจน ชั้นล่างประกอบไปด้วยส่วนลิฟวิง ห้องดูหนัง ห้องออกกำลังกาย เพลย์รูมของลูกๆ นอกจากนี้ยังมีห้องครัวแพนทรี มุมกินข้าว และบาร์ที่ใช้งานได้ต่อเนื่องอยู่ในสเปซเดียวกัน ทั้งยังมีครัวไทยแยกไว้รองรับการทำอาหารหนัก ชั้นบนจะเป็นส่วนไพรเวต มีห้องพระ ห้องทำงาน และห้องนอน 

“เราให้ทีมสถาปนิกกับอินทีเรียเข้ามาคุยและทำงานไปพร้อมๆ กันตั้งแต่แรก ซึ่งผมจะไม่ใช้วิธีแบบอื่นคือสร้างบ้านเสร็จแล้วเอาเฟอร์นิเจอร์ชั่วคราวมาวางไว้ก่อน พอเข้ามาอยู่แล้วก็ค่อยๆ ปรับไปอีกที ถ้าทำอย่างนั้นผมมองว่า 10 ปีก็ยังทำไม่เสร็จ กว่าจะเจอเฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่ใช่ชิ้นที่ชอบเมื่อไรบ้านจะเสร็จสมบูรณ์ เพราะยังไม่มีชิ้นไหนที่ชอบสักที สำหรับผมคือต้องทำทุกอย่างให้เรียบร้อย เฟอร์นิเจอร์ครบ ทีวี อินเทอร์เน็ตติดตั้งพร้อมถึงจะย้ายเข้ามาอยู่”            

นอกจากนี้ ดร.ฤทธี ยังเล่าถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ การเลือกเฟอร์นิเจอร์ และพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านให้ฟังเพิ่มเติมว่า “จริงๆ ส่วนตัวผมชอบแต่งบ้านอยู่บ้างพอสมควร แต่ภรรยาจะชอบมากกว่า เราก็ช่วยกันออกไอเดีย ช่วยกันเลือก อย่างเฟอร์นิเจอร์สไตล์นี้ค่อนข้างหายากในไทย ส่วนใหญ่เลยจะมาจากอิตาลีกับสเปนเกือบทั้งหมด มียุโรปบ้าง อเมริกาบ้าง ผสมสานกัน ถ้าถามถึงแรงบันดาลใจน่าจะมาจากเวลาเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ เราเห็นอะไรแล้วชอบก็อยากแต่งบ้านให้มีบรรยากาศแบบนั้นบ้าง อย่างพวกเสาในบ้านเราก็วาดขึ้นมาให้บ้านมีมิติ ดูยุโรปๆ ส่วนทางอินทีเรียก็จะช่วยดูมู้ดแอนด์โทนให้ภาพรวมออกมาลงตัว”

ของตกแต่งบางชิ้นไม่เพียงสวยงามสะดุดตา แต่ยังแฝงไปด้วยเรื่องราวน่าจดจำ “ของตกแต่งส่วนใหญ่จะเป็นของสะสมหรือของเก่า แจกันที่วางไว้ตรงหัวบันไดอายุน่าจะประมาณ 100 กว่าปี รูปปั้นน่าจะ 200-300 ปี เราประมูลมาจากวังเนเธอร์แลนด์ตอนเขาจะทุบทิ้งแล้วเอาของออกมาให้ประมูลกัน บางชิ้นก็มีประวัติเรื่องราวอย่างภาพที่มีลายเซ็นของซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) เราซื้อมาจากโรดีโอไดรฟ์ อเมริกา ช่วงทำบ้านเราก็หาของตกแต่งไปเรื่อยๆ อย่างงานศิลปะผมก็ชอบเหมือนกัน รูปติดผนังตรงมุมนั่งเล่นนี้เป็นรูปสีน้ำของอาจารย์บันชา ศรีวงศ์ราช ศิลปินสีน้ำคนไทยที่เก่งระดับโลก”

สำหรับฟังก์ชันจะเน้นพื้นที่โถงเป็นหลัก ออกแบบให้มีขนาดใหญ่ไว้รองรับแขกและนั่งเล่นได้หลากหลายมุม “เป็นความตั้งใจของเราที่อยากให้ในบ้านมีมุมนั่งเล่นได้หลายมุมหลายบรรยากาศ เน้นพื้นที่โถงค่อนข้างใหญ่ ใช้งานได้มัลติฟังก์ชัน มุมนี้ไว้รับรองแขก มองออกไปเห็นวิวสวนด้านนอก ถัดไปด้านหลังทำเป็นโซนเล็กๆ ไว้นั่งอ่านหนังสือ เปิดเพลงฟังเบาๆ ข้างกันจะมีโต๊ะที่วางรูปครอบครัวไว้เหมือนเป็นแกลเลอรีในบ้าน อย่างพื้นที่ใต้บันไดผมก็ทำเป็นอีกฟังก์ชันหนึ่ง ไว้เวลากลับจากทำงานมาเหนื่อยๆ นั่งเปิดจดหมาย ดูเอกสารต่างๆ จะได้ไม่ต้องเอาขึ้นไปบนห้องทำงานด้านบน

“และเราก็จะมีห้องให้เด็กๆ เล่นโดยเฉพาะ ผมมีลูก 3 คน วันไหนไม่ได้ไปโรงเรียนเขาก็จะเล่นกันอยู่ในนั้น ถ้าสังเกตบ้านไหนมีเด็กเยอะก็จะมีของเล่นเต็มไปหมดเลย แต่บ้านเราจะฝึกให้เขาเล่นเป็นที่ หรือบางทีถ้าเกิดพ่อกับแม่นั่งอยู่ข้างนอกแล้วเขาอยากออกมานั่งเล่นด้วยก็จะขออนุญาตก่อน พอเล่นเสร็จแล้วเด็กๆ เขาก็จะรู้ จะเอาของไปเก็บเข้าที่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้ก็จะมีห้องดูหนัง ห้องออกกำลังกายที่เชื่อมกันกับสระว่ายน้ำ”            

ทั้งยังมีส่วนของครัวแพนทรีไว้สำหรับเป็นพื้นที่จัดเตรียมอาหารง่ายๆ ช่วยเติมเต็มฟังก์ชันภายในบ้านให้ใช้งานได้สะดวกสบายและคล่องตัวมากขึ้นอีกด้วย “ครัวแพนทรีหลักๆ คือใช้เป็นพื้นที่ไว้พักจัดเตรียมอาหารก่อนเสิร์ฟ เน้นพื้นที่จัดเก็บเพราะเรามีจานชามของใช้ของสะสมที่ไปซื้อมาเก็บไว้ค่อนข้างเยอะ บางชิ้นมองแล้วโทนสีลวดลายดูไม่เข้ากันเลย แต่เวลาเอามาจัดวางรวมกันก็ออกมาสวยงามลงตัว ถึงจะไม่ได้ทำอาหารหนักแต่ครัวนี้เราก็มีฟังก์ชันครบ ทำอาหารได้จริง เน้นเมนูง่ายๆ อย่างอาหารฝรั่ง สปาเกตตี แต่ถ้าเป็นอาหารไทยต้ม ผัด แกง ทอด ที่มีกลิ่นกับควันเยอะๆ เราก็ใช้ครัวไทยด้านนอกเป็นหลักอยู่แล้ว”

โดยดีไซน์ชุดครัวออกแบบให้กลมกลืนไปกับสไตล์ของบ้าน เลือกใช้โทนสีขาว เพิ่มลูกเล่นด้วยหน้าบานลูกฟักตัดกับทอปเคาน์เตอร์สีน้ำตาลและกระเบื้องผนังที่โดดเด่นด้วยการเลือกใช้สีขาวกับสีดำตัดสลับกัน “นอกจากแพนทรี ในโซนนี้ก็ยังมีมุมกินข้าวกับห้องบาร์ด้วย ตกแต่งสไตล์เดียวกันแต่จะค่อยๆ ไล่สเตปโทนสี เริ่มจากครัวที่เป็นโทนสีขาวเบส โต๊ะกินข้าวโทนจะเข้มขึ้น จนมาถึงห้องบาร์จะเป็นสีน้ำตาลไปเลย เพื่อให้บ้านดูไม่เรียบเป็นโทนเดียวเหมือนกันหมด”            

นอกจากพื้นที่ในบ้านแล้ว ดร.ฤทธี ยังออกแบบให้มีโรงรถติดแอร์เพิ่มเติมอีกด้วย “ด้วยที่จอดรถเดิมไม่เพียงพอ เลยสร้างโรงรถติดแอร์เพิ่ม จากนั้นก็มาคิดว่าเราจอดรถแค่คันเดียว ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่เพิ่มฟังก์ชันให้สามารถใช้งานอย่างอื่นได้ด้วย เลยเอาโต๊ะทำงานเข้ามา มีทีวี เป็นห้องรับรองแขก ประชุม หรือใช้งานได้จิปาถะ บางทีภรรยาให้ช่างมาแต่งหน้า หรือเวลาลูกเรียนไวโอลิน เรียนเชลโลก็ใช้งานห้องนี้ ส่วนรถเราก็จอดไว้เป็นเหมือนพรอป มีป้ายทะเบียนรถหายากที่เราสะสมมาติดผนังตกแต่งก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่ง”

หลังจากเดินชมบ้านเรียบร้อยแล้ว ก่อนการพูดคุยในครั้งนี้จะจบลง เราเอ่ยถามถึงแนวคิดในการทำงานของ ดร.ฤทธี “โดยส่วนตัวผมจะเป็นคนที่วางแผนในทุกๆ เรื่อง หลักในการทำงานจริงๆ ผมจะบอกทุกคนเสมอว่าเราต้องคิดให้ครบวงกลม ทำทุกอย่างให้เป็นระบบ ไม่ได้นึกถึงแค่ผลลัพธ์อย่างเดียว ถ้าระบบดีทุกอย่างจะสามารถรันต่อไปได้แม้ว่าคุณจะไม่อยู่หรือขาดคนใดคนหนึ่งไป นั่นคือความยั่งยืนของการทำธุรกิจ ถ้าระบบดีแล้วเราก็ต้องคอยเช็กผลลัพธ์ด้วยว่ามันออกมาดีไหม ถ้าทำตามระบบทุกอย่างแล้วยังไม่ดีอันนี้ก็ต้องมาปรับมาแก้ไขกันเพื่อให้บริษัทหรือธุรกิจเติบโตต่อไปได้” ดร.ฤทธี บอกทิ้งท้าย