เพราะบ้านคือที่ที่ทำให้เราหายเหนื่อยและอบอุ่นใจเสมอ “บ้าน” ในที่นี้อาจหมายถึงใครสักคน สถานที่สักแห่ง ไม่จำเป็นต้องดีที่สุด สะดวกสบายหรือกว้างขวางที่สุดก็ได้ แค่อยู่ (ด้วยกัน) แล้วมีความสุขก็เพียงพอแล้ว ตามเราเดินลัดเลาะเข้าซอยไปพูดคุยกับคุณแจง-ศิวะมาส แสงจันทร์ และคุณโอม-วทัญญู แสงจันทร์ ถึงไอเดียออกแบบบ้านพรานนก ด้วยกันเลย!
“เดิมเราอยู่บ้านหลังข้างๆ ซึ่งเป็นบ้านพ่อแม่แจง หลังจากแต่งงานแล้วเราก็ยังอยู่บ้านเดียวกันกับพ่อแม่ พอผ่านเวลาไปสักพักเลยอยากมีบ้านของตัวเอง ตอนแรกคิดว่าจะไปซื้อบ้านจัดสรรที่เป็นโครงการ ลองไปดูแล้วรู้สึกว่าพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ไม่ได้ขนาดที่เราต้องการ แล้วพอทำเลอยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ราคาก็ค่อนข้างสูง บวกกับแจงโตมากับบ้านที่มีพื้นที่ มีบริเวณหน้าบ้าน อย่างที่นี่เข้าซอยมาจะเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลตั้งแต่บ้านแจงเข้าไปด้านในคือบ้านญาติๆ ของพ่อทั้งหมด ทำให้รู้สึกว่าบ้านโครงการยังไม่ค่อยลงตัวกับเราเท่าไร” คุณแจงเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง
ระหว่างที่ทั้งคู่กำลังมองหาบ้านอยู่นั้นเป็นจังหวะพอดีกับที่บ้านหลังนี้ซึ่งเดิมเป็นของน้องชายพ่อคุณแจง ทว่าขายให้คนอื่นไปแล้วเขาต้องการจะขายต่ออีกทีหนึ่ง “บังเอิญเจ้าของเขาเข้ามาที่บ้านพอดี เลยมาถามว่ามีใครสนใจบ้านหลังนี้บ้างไหม จากที่จะไปหาซื้อบ้านโครงการก็ลองพูดคุยกับเจ้าของบ้านดู ซึ่งเขายอมขายให้เราในราคาที่ถูกมาก ด้วยข้อจำกัดเรื่องซอยแคบซึ่งถ้าเป็นคนอื่นมาซื้อก็ไม่น่าจะรับได้เรื่องการเข้าออกที่ค่อนข้างลำบาก”
เมื่อบ้านเลือกเจ้าของแล้ว คุณแจงและคุณโอมเองก็คิดตรงกันว่าบ้านหลังนี้ตอบโจทย์ลงตัวทั้งความคุ้นเคย ขนาดพื้นที่ และยังได้อยู่ใกล้กับพ่อแม่ด้วย “เรารอเพื่อที่จะได้อยู่ข้างๆ บ้านพ่อแม่ ใช้เวลาทำเรื่องโอนบ้านประมาณ 3 ปี กว่าจะได้เริ่มปรับพื้นที่และเริ่มรีโนเวตบ้าน ระหว่างนั้นแจงกับโอมก็ทำการบ้าน หา Reference กันเยอะมาก หาอินทีเรีย ผู้รับเหมา ตอนยังเข้าบ้านไม่ได้เราพอรู้คร่าวๆ ว่าแปลนคล้ายกันกับบ้านพ่อก็โทรไปขอพิมพ์เขียวกับเจ้าของบ้าน แล้ววาดแบบสเก็ตซ์มือเอง จะทำส่วนไหน อะไรบ้าง”
ด้วยตัวบ้านยังแข็งแรงและงบประมาณที่มี จึงคงโครงสร้างเดิมเอาไว้แล้วทุบบางส่วน ต่อเติมบางอย่างเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งาน ลงตัวกับไลฟ์สไตล์ของทั้ง 2 คนมากที่สุด “เราทุบห้องข้างบ้านกับด้านหลังที่เจ้าของเดิมต่อเติมไว้ออก เลย์เอาต์บ้านตอนแรกด้านหน้าจะมีเทอร์เรซเหมือนระเบียงไว้นั่งเล่น ประตูทางเข้าบ้านก็จะอยู่ตรงนั้น เราทุบออกทำเป็นโถงทางเดินแล้วย้ายตำแหน่งประตูไปไว้ข้างบ้าน” คุณโอมช่วยคุณแจงเล่าเพิ่มเติม
“เราไม่อยากให้ใครรู้ว่าตรงไหนคือหน้าบ้าน ไม่อยากให้เห็นการเดินเข้าออกบ้านของเรา ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน (หัวเราะ) เราออกแบบให้มี Foyer เป็นความฝันของแจงว่าถ้ามีบ้านของตัวเอง อยากให้มีทางเดินเข้ามาเหมือนบ้านญี่ปุ่นไว้ถอดรองเท้า ถ้าสกปรกจะได้สกปรกแค่ส่วนนั้น แล้วมีสเตปบันไดให้เดินขึ้นเข้าสู่ตัวบ้านอีกที” คุณแจงพูดเสริม
พื้นที่ภายในบ้านเน้นความโปร่งโล่งแบบโอเพนสเปซ ใช้งานทุกส่วนได้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันตั้งแต่มุมนั่งเล่น โต๊ะทำงาน มุมรับประทานอาหาร ไปจนถึงห้องครัวที่อยู่ด้านหลังของบ้าน ตกแต่งด้วยมู้ดแอนด์โทนเรียบง่าย สบายๆ แต่สะท้อนให้เห็นถึงสไตล์และความชอบของทั้งคู่ได้อย่างชัดเจน ทั้งยังมีดีเทล กิมมิกเล็กๆ ที่บอกให้รู้ว่าเจ้าของบ้านใส่ใจในทุกรายละเอียดของบ้าน โดยคุณโอมเล่าถึงไอเดียออกแบบพื้นที่ในแต่โซนให้ฟังว่า “ทางเข้าบ้านมู้ดจะดูมืดๆ อึมครึมๆ หน่อย เพราะเราอยากปรับโหมดหลังจากกลับจากทำงาน ไปข้างนอกมา ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินเข้าถ้ำของเราแล้วนะ พอเข้ามาแล้วจะสว่างขึ้น ดูอบอุ่น โฮมมี่ๆ
“ผมชอบบ้านโล่งๆ มองเห็นกันได้ ตรงห้องครัวเดิมมีผนังปิดทึบไว้ เราทุบออกแล้วทำครัวบิลต์อินใหม่ เปิดสเปซให้ต่อเนื่องกัน แล้วบ้านสมัยก่อนมีหน้าต่างมาก เราทุบบางมุมออกแล้วก่อเป็นผนังทึบเพื่อจะได้ใช้พื้นที่ทำอย่างอื่นได้ มุมนั่งเล่นเปลี่ยนเป็นหน้าต่างกระจกบานใหญ่แทน เลื่อนเปิด-ปิดได้ คิดเผื่ออนาคตไว้ว่าอยากมีสวนข้างบ้านด้วย ส่วนผนังอีกฝั่งแรกเริ่มตั้งใจจะบิลต์อินตู้เก็บของ คิดไปคิดมากลัวว่านานไปจะเบื่อเลยปล่อยเป็นสเปซโล่งๆ ไว้ก่อน”
ใกล้กันกับมุมนั่งเล่นจะเป็นโต๊ะทำงานของคุณโอม โต๊ะกินข้าว และห้องครัว “แจงกับโอมเห็นตรงกันว่าเราใส่ใจกับครัวมากที่สุดในบ้าน เพราะเรา 2 คนชอบดื่มกาแฟเหมือนกัน โอมเขาจะเป็นคนทำกาแฟ แจงทำกับข้าว เลยอยากให้มุมนี้ทำออกมาแล้วเรารู้สึกแฮปปี้กับมัน จำได้ว่าไปเลือกซิงก์ก่อนเริ่มทำบ้านอีก ไปดูอุปกรณ์ของใช้ในครัว เตา ฮูดดีไซน์แบบนี้ จะออกแบบครัวประมาณไหน สีทอปเคาน์เตอร์ คือคุมธีมทุกอย่างเพื่อให้ได้ครัวในฝันอย่างที่คิดไว้”
ด้วยข้อจำกัดเรื่องเสาบ้านที่ยื่นออกมาคุณแจงบอกว่าหาข้อมูลและไปดูชุดครัวมาหลายแบรนด์ก่อนจะตัดสินใจเลือกใช้ครัวบิลต์อิน ดีไซน์เคาน์เตอร์บาร์ด้านหน้าไว้ชงกาแฟให้ความรู้สึกเหมือนมีคาเฟ่ในบ้าน ส่วนดีไซน์คุณโอมบอกว่าไม่ได้มีอะไรพิเศษมาก เรียบง่าย เพียงแต่เลือกใช้หน้าบานให้ใกล้เคียงกับโทนกระเบื้องพื้น มีเชลฟ์วางของอย่างแก้วกาแฟ อุปกรณ์แคมปิง กับตู้เย็น 4 ประตูที่ปักหมุดไว้แล้วว่าอยากจัดวางไว้มุมนี้ของห้องครัว
“ดีไซน์เราหารูปตัวอย่างไปให้อินทีเรียดูว่าอยากได้ครัวหน้าตาแบบนี้นะ ส่วนฟังก์ชันก็ช่วยกันคิดว่าตรงไหนจะใช้งานอะไรบ้าง ช่องนี้ใส่อะไรเก็บอะไร วัดขนาดพื้นที่กันเอง เอาแปลนไปให้แต่ละร้านดูว่าทำได้ไหม กว่าจะได้ที่ลงตัวทั้งเรื่องดีไซน์ คุณภาพวัสดุ และราคาก็ใช้เวลาอยู่เหมือนกัน ตอนแรกด้านข้างครัวเก่าจะมีประตูอยู่ เราทุบออก ก่อผนังแล้วทำเป็นช่องหน้าต่างแทน บอกกับช่างเลยว่าอยากได้ขนาดเท่าไร ฟังก์ชันครัวสามารถทำอาหารหนักได้ประมาณหนึ่ง แต่ถ้าหนักมากๆ เราก็ทำที่ครัวบ้านแม่แทน ส่วนที่ต้องมีเลยคือเครื่องล้างจานจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องเกี่ยงกันล้างจาน” คุณแจงหัวเราะ ก่อนจะเล่าถึงส่วนที่เป็นไฮไลต์ของบ้าน
“อีกอย่างที่เราค่อนข้างหนักใจคือบันได ของเดิมมันชันมาก ขั้นบันไดสูงมาก ลูกนอนก็แคบ เราเลยต้องรื้อแล้วทำใหม่ทั้งหมด โชคดีที่ตอนนั้นโอมเขาไปเจอแบบบันไดของบ้านเวียดนาม เลยส่งให้อินทีเรียดู ให้เขาช่วยคำนวณความเป็นไปได้ของการหักมุม ส่วนตัวแจงเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยนิดหนึ่ง อยากให้เดินแล้วเต็มเท้า ขั้นแรกเลยจะใหญ่สุดเหมือนรับทรัพย์ก่อน แต่ถ้านับตามจำนวนขั้นอาจจะไม่ได้อย่างที่คิดไว้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ พอทำออกมาแล้วสวยเลยโอเคไม่เป็นไร บันไดจึงเป็นไฮไลต์ที่ทำให้บ้านดูน่าสนใจขึ้น”
นอกจากนี้พื้นที่ชั้น 2 ก็ยังมีส่วนที่ต้องปรับและต่อเติมเพิ่มอีกด้วย “แปลนบ้านเดิมชั้นบนไม่มีห้องน้ำ มีแค่ห้องนอนเล็กกับห้องนอนใหญ่ เราเลยแบ่งพื้นที่ของห้องนอนใหญ่ด้านข้างทำเป็นห้องน้ำโดยทำคานด้านล่างเพื่อรองรับน้ำหนัก ออกแบบให้มี 2 ประตู เข้าได้ทั้งจากห้องนอนและด้านนอก ส่วนระเบียงหน้าบ้านเราตีทึบแล้วทำเป็น Walk-in Closet จะได้แบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนและใช้งานง่ายขึ้น คือก่อนนี้ห้องนอนเรามีทุกอย่างทั้งเตียง โต๊ะทำงาน ตู้เสื้อผ้า ดูรกและมีฝุ่นเยอะ ตอนนี้เลยจะมีแค่เตียงกับทีวี”
ถามถึงโจทย์ที่ให้กับอินทีเรียรวมถึงมู้ดแอนด์โทนภาพรวมของบ้าน คุณโอมบอกทิ้งท้ายว่า “ผมค่อนข้างชัดเจน ไม่ได้บอกว่าชอบบ้านสไตล์ไหน แต่หา Reference ไปให้อินทีเรียเลยว่าแต่ละมุมของบ้านอยากให้ออกมาเป็นยังไง โซฟา โต๊ะ กระเบื้อง ต้องดีไซน์แบบนี้โทนสีนี้นะ ข้อดีคือพอเราชัดเจน อินทีเรียก็ทำงานง่าย พอบ้านเสร็จเรียบร้อยก็เหมือนแบบที่หามาเกือบทั้งหมด มีความลอฟต์เท่ๆ แต่ดูอบอุ่น โฮมมี่ๆ”
“แจงกับโอมทำการบ้านกันเยอะมากจริงๆ เพราะนี่คือบ้านหลังแรกของเรา อย่างโอมเขาทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮม (WFH) ได้อยู่บ้านทุกวัน แต่แจงออกไปทำงานข้างนอกจะมีความรู้สึกแบบเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน จากที่ออกไปคาเฟ่กันบ่อยมาก ตอนนี้วันเสาร์-อาทิตย์ก็ไม่ค่อยไปไหน อยู่บ้าน ซื้อเมล็ดกาแฟมาทำดื่มกันเอง แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว” คุณแจงพูดทิ้งท้าย