พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรับสั่งเกี่ยวกับการเขียนภาพของพระองค์ว่าทรงวาดเอง มิได้ทรงปล่อยให้แบบหรือแนวทางของผู้ใดเข้ามามีอิทธิพลกับงานเขียนภาพ ในการวาดภาพนั้นก็ทรงวาดอย่างนักวาดภาพสมัครเล่น คือวาดตามพระราชหฤทัยนึกจะวาด มิได้คำนึงถึงทฤษฎีหรือกฎเกณฑ์อันใด ผลงานของพระองค์จึงออกมาจากจินตนาการของพระองค์เอง ฉะนั้นเมื่อได้เห็นภาพเขียนฝีพระหัตถ์ก็จะเห็นชัดแจ้งถึงลักษณะที่เป็นอิสระเฉพาะตัว
ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในระยะแรก ๆ ช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระราชบิดา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ และภาพเหมือนบุคคลต่าง ๆ พระองค์ทรงศึกษาความถูกต้องจากต้นแบบ และใช้ฝีแปรงระบายแสงเงาอย่างนุ่มนวล ท่าทางของแบบที่จัดวางจะเป็นภาพเหมือนด้านหน้า รูปแบบมีลักษณะเหมือนจริง (Realistic) นั้นคือมีเนื้อหาและข้อมูลที่มี ความเป็นจริง ความถูกต้องของการวาดจากสิ่งที่เป็นจริงตามธรรมชาติ รวมทั้งการเขียนทัศนียวิทยา (Perspective) และการใช้แสงเงาตามหลักการที่ถูกต้อง ลักษณะของผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ภาพ เหมือนจริงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะไม่ทรงคำนึงถึงการเก็บส่วนละเอียด แต่จะทรงพิจารณา ถึงโครงสร้างที่ดูใกล้เคียงกับธรรมชาติ
ผลงานช่วงต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงผสมผสานข้อมูลที่ทรงเห็นจากภาพเหมือนและรูปทรงต่าง ๆ จากธรรมชาติกับพระราชดำริส่วนพระองค์ ภาพจิตรกรรมจะมีลักษณะของรูปทรงที่ทรงเห็น แต่มีการตัดทอนเพิ่มเติมจนเกิดเป็นรูปทรงใหม่ เมื่อได้เห็นผลงานก็นึกถึงที่มาและเรื่องราวได้อันเป็นลักษณะของผลงานศิลปะกึ่งเหมือนจริงกึ่งนามธรรม (Sii Abstract) ที่มีรูปแบบของการ ตัดทอน ปรับปรุง พัฒนา คลี่คลายจากความจริงไปสู่ลักษณะแบบนามธรรม มีทั้งที่ค่อนมาทางความเป็นจริง เห็นที่มาของความเป็นจริง เห็นที่มาของความคิด แต่หากค่อนไปทางนามธรรมมากก็จะรู้เรื่องที่มาของรูปภาพได้น้อยลง
ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเริ่มเขียนภาพที่เป็นแบบนามธรรม(Abstract) มากขึ้น โดยทรงสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระ ทั้งการแสดงออก การถ่ายทอดประสบการณ์และการสร้างจินตนาการตามที่พระองค์ทรงเห็นว่าเหมาะสม ผลงานแบบนามธรรมนั้น ไม่แสดงรูปภาพของความเป็นจริง หรือเรื่องราวให้ผู้ชมเห็นมากนัก แต่จะเสนอด้วยรูปแบบ เนื้อหา ทัศนะ และอุดมคติของศิลปิน ซึ่งใช้อารมณ์และความรู้สึกในการแสดงออกเทคนิคในการเขียนภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นมีความหลากหลายในการสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งออกตามช่วงระยะเวลาและวิธีการดังนี้คือ
ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน พระองค์ทรงวาดโดยการตีสเกลจากภาพถ่ายของสมเด็จพระราชบิดา แล้วขยายลงสู่ผ้าใบ จากนั้นจึงทรงระบายสีในลักษณะเหมือนจริงตามภาพต้นแบบ ฝีแปรงในช่วงนี้จะมีความนุ่มนวลไล่โทนสีกลมกลืน ทรงใช้สีบางและทรงพัฒนาต่อมา โดยการสร้างผลงานจากต้นแบบจริง ดังจะเห็นได้จากภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ และผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จะมีบางภาพที่ทรงสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคสีเดียวแบบเอกรงค์ ซึ่งเป็นวิธีการสร้างงานจิตรกรรมของจิตรกรที่ต้องการค้นหาความสัมพันธ์ของค่านํ้าหนักก่อนการทำงานด้วยสีต่อไป
การพัฒนาและการทดลองเทคนิคอื่นปรากฏในผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ในระยะต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้วิธีการระบายภาพด้วยฝีแปรงที่เคลื่อนไหวฉับพลันมากขึ้น ทรงใช้สีสดใส และทรงระบายสีหนา-บางไปตามจังหวะอารมณ์ส่วนพระองค์ โดยเฉพาะส่วนพื้นหลัง (background) ทรงจัดองค์ประกอบและเพิ่มเรื่องราวที่ทรงจินตนาการลงไป ทำให้ภาพบุคคลมีเนื้อหาจากส่วนพื้นหลังประกอบ แลเห็นความคิดส่วนพระองค์ที่นำเสนอในภาพจิตรกรรม วัสดุที่ทรงใช้กับสีนํ้ามันคือผ้าใบ และผ้าใบหุ้มบนไม้อัด
การสร้างสรรค์จิตรกรรมช่วงหลังแสดงแนวคิดส่วนพระองค์มากขึ้น ทำให้พระองค์ทรงจัดภาพตามจินตนาการที่ได้รับความบันดาลพระทัย จะทรงใช้วิธีการร่างภาพด้วยดินสอถ่านชาโคล ก่อนการวาดภาพระบายสี และเมื่อทรงเขียนภาพกึ่งเหมือนจริงกึ่งนามธรรมและภาพนามธรรมในระยะ ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้สีค่อนข้างหนาทับซ้อนกันหลายชั้น องค์ประกอบของเส้นรูปทรง และสีจะสัมพันธ์กันไปตามแนวคิดของภาพแต่ละภาพ อารมณ์ที่เกิดจากภาพเหมือนกับได้เห็นการประสานของสีขณะฟังดนตรีไปพร้อมกัน ความอิสระในการแสดงออกของเทคนิคในงานจิตรกรรม
ยังเห็นได้จากภาพมือแดง ที่พระองค์ทรงทดลองใช้พระหัตถ์ในการประทับระบายสีลงบนผ้าใบ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานจิตรกรรมตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงพุทธศักราช ๒๕๑๐ จากนั้นก็มิได้ทรงเขียนภาพอีกเลย เพราะมีพระราชภารกิจด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศชาติและประชาชน พระองค์ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการจัดทำโครงการพัฒนาต่าง ๆ ทั้งด้านการเกษตร การชลประทาน ฯลฯ เพื่อให้พสกนิกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้ไม่ทรงมีเวลาสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมเพิ่มขึ้นอีก ส่วนผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จำนวนมากที่ทรงสร้างสรรค์ไว้นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านจิตรกรรมอยู่เสมอ
ปัจจุบันหออัครศิลปินจัดแสดงภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ต้นฉบับ ๔ ภาพ และสำเนาภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานอีก ๑๓ ภาพ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมได้ทุกวันทำการ
บทความจากคอลัมน์ “Art Room” โดย ศาสตราจารย์ วิโชค มุกดามณี นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 128 ประจำเดือนเมษายน 2560