Design Kitchen & Home

จิตรกรรมฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (๒)


ความสนพระราชหฤทัยในงานสร้างสรรค์และวิธีการของศิลปินปรากฏให้เห็นเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๗ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมนายออสการ์ โคคอซกา (Oskar Kokoschka) ศิลปินชาวออสเตรียที่ห้องทำงานของเขาที่เมืองวิลเนิฟ (Villeneuve) ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแนวทางในการสร้างสรรค์กับศิลปินผู้นี้ งานสร้างสรรค์ของโคคอซกามีลักษณะของการแสดงออกทางอารมณ์ด้วยฝีแปรงที่มีความเคลื่อนไหวรุนแรง ในช่วงนั้นศิลปินท่านนี้อยู่ในกลุ่มศิลปินที่ถูกจัดอยู่ในลัทธิเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ซึ่งสอดคล้องกับแนวสร้างสรรค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงใช้ฝีแปรงอย่างอิสระ เคลื่อนไหวประสานสัมพันธ์กัน

ˆ 2- 05_re

ในระหว่างที่ทรงร่วมวาดภาพและร่วมสังสรรค์กับศิลปินไทย พระองค์มีพระราชปฏิสันถาร ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทอดพระเนตรวิธีการทำงานของศิลปินแต่ละคน แต่เมื่อจะทรงงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้วิธีการทำงานของพระองค์เอง อันแสดงถึงพระปัจเจกภาพ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านศิลปะอย่างสูง หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ศิลปินสมัครเล่นผู้นิยมวาดภาพสีนํ้ามัน ที่ทรงใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการวาดภาพและภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ไว้ ดังนี้

2- 08_re

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเริ่มเขียนภาพเหมือน ซึ่งเหมือนจริงและละเอียดมาก แต่ต่อมาได้ทรงวิวัฒน์เข้ากับภาพของจิตรกรสมัยใหม่ และทรงค้นคว้าแนวทางใหม่ๆ แปลกๆ ที่จะแสดงออกซึ่งความรู้สึกของพระองค์ โดยไม่ต้องกังวลกับความเหมือน อันจะมีอิทธิพลบีบบังคับไม่ให้ปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างอิสระ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานของศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะทรงค้นคว้าหาวิธีใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ก็ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ ขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็น และจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่นภาพที่พระราชทานชื่อว่า “วัฏฏะ” “โลภะ” “โทสะ” “ยุแหย่” “อ่อนโยน” “บุคลิกซ้อน” ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มได้ดีอีกด้วย ทั้งที่ ไม่สู้ตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก ในฐานะจิตรกร ขณะทรงงาน ทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย”

ˆ 2- 03_re

หากพิจารณาจากเนื้อหาและแรงบันดาลพระทัยในการทรงเขียนภาพจิตรกรรม จะเห็นได้ว่าผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์มีแนวทางกว้าง ๆ ดังนี้คือ

ภาพเหมือนจากพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ และผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ผลงานเหล่านี้ในระยะเริ่มต้นของการสร้างสรรค์จะทรงมีความระมัดระวัง ทรงควบคุมโครงสร้างของภาพ ทรงระบายสีแสงเงา ตามข้อเท็จจริงที่ทอดพระเนตร เช่น ภาพสมเด็จพระราชบิดา ภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หม่อมหลวงบัว กิติยากร เป็นต้น ต่อมาในระยะหลัง ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเพิ่มความเคลื่อนไหวของฝีแปรง การจัดองค์ประกอบภาพค่อย ๆ เคลื่อนไหวไปตามจังหวะที่ทรงปรารถนาและทรงใช้สีสันที่มีความสดใส สนุกสนาน ดุจดังทรงประพันธ์โทนสีด้วยดนตรีแจ๊ส เช่น ภาพเหมือนของพระองค์ เป็นต้น

ˆ 2- 07 ดิน น้ำ ลม ไฟ_re

ภาพทิวทัศน์ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับในที่ต่าง ๆ จะทรงใช้เวลาสั้น ๆ บันทึกภาพ โดยทรงใช้การขึ้นรูปแบบรวม ๆ ไม่ทรงแสดงส่วนรายละเอียดของภาพ ทรงแสดงความสดใสของบรรยากาศและทรงใช้ฝีแปรงปาดป้ายให้เคลื่อนไหวอย่างมีชีวิต

ภาพหุ่นนิ่ง (Still life) เป็นภาพที่ทรงสร้างสรรค์ขึ้นในห้องทำงานส่วนพระองค์ ผลงานชุดนี้ จะมีไม่มาก ทรงวาดขึ้นในช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ เช่น ภาพดอกไม้ในแจกันเหลือง

ˆ 2- 04_re

ภาพจินตนาการเชิงความคิด (Imagination) เป็นภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับ ความบันดาลพระทัยจากเรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาต่าง ๆ พระองค์ทรงนำข้อมูลและ เรื่องราวดังกล่าวมาทรงสร้างรูป (Image) โดยทรงจัดองค์ประกอบของรูปทรง สี บรรยากาศ และ แง่มุมต่าง ๆ ขึ้นตามจินตนาการส่วนพระองค์ อาทิเช่น ภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ภาพที่มีที่มาจากภาพคนเปลือย ครอบครัว เช่น ภาพชื่อ บุคลิกซ้อน และทะเลาะ

2- 06_re

ภาพแสดงออกของอารมณ์และความรู้สึกภายในอย่างอิสระ (Expression) เป็นภาพที่พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงหลัง ๆ ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์เหล่านี้จะมีรูปแบบ ทั้งที่มีข้อมูลจากความเป็นจริง กึ่งเหมือนจริงกึ่งนามธรรม และรูปแบบนามธรรม เนื้อหาจากความคิด และแนวทางดังกล่าวแสดงออกด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของพระองค์ อาทิเช่น ภาพชื่อ มือแดง วัฏฏะ ไฟป่า และดินนํ้าลมไฟ

บทความจากคอลัมน์ ” Artroom ” โดย ศาสตราจารย์ วิโชค มุกดามณี นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 127 ประจำเดือนมีนาคม 2560


You Might Also Like...