Design Kitchen & Home

ศิลปะการออกแบบฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช


งานออกแบบ (Design Art) เป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะงานออกแบบนิเทศศิลป์ (Visual Communication Art) ด้านภาพกราฟฟิก ภาพสัญลักษณ์ ละสิ่งพิมพ์ พระองค์พระรราชทานพระราชดำริและบางครั้งทรงสร้างสรรค์ผลงานออกแบบเพื่อสื่อความหมายถึงเนื้อหาที่ทรงจินตนาการประสานไปกับภาพและตัวอักษร จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์และสื่อสารกับประชาชนและสังคม พระอัจฉริยภาพทางศิลปะงานออกแบบมีหลายลักษณะดังนี้

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระราชดำริและทรงกำหนดตราสัญลักษณ์ให้แก่โครงการหลายโครงการในการก่อตั้งโครงการต่างๆจำนวนมากมาย พระองค์ทรงมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนของพระองค์เป็นสำคัญ พระราชดำริของพระองค์ปรากฏเป็นปรัชญาของโครงการหลวงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ดังในปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานชื่อ สถาบันราชประชาสมาสัย ซึ่งมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์และประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน ต่อมาพระราชทานแนวพระราชดำริว่า ตราประจำมูลนิธิราชประชาสมาสัยควรเป็นรูปดอกบัวกับน้ำ ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์กับประชาชน นายเหม เวชกร ได้รับสนองพระราชดำริ วาดภาพขึ้นและใช้ดอกบัวสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของวันจันทร์อันเป็นวันพระบรมราชสมภพ

4
พระราชดำริเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนทำให้เกิดโครงการอีกหลายโครงการเช่น ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ มีการตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์ภัยต่างๆ ซึ่งชื่อของมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์นี้มีความหมายว่า พระราชาและประชาชนต่างอนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน หม่อมราชวงศ์คึกฤท์ ปราโมช กรรมการบริหารชุดแรกของมูลนิธิอธิบายว่า ประโยชน์สุขของประชาชนที่ได้รับจากมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นที่ทราบกันอยู่โดยแพร่หลายแล้ว ส่วนประโยชน์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงได้รับคือ ความสุขอันเกิดจากความผาสุกของประชาชนของพระองค์

3
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ากำหนดแบบตราสัญลักษณ์พร้อมทั้งความหมายของของมูลนิธิชัยพัฒนา และได้พระราชทานเป็นเครื่องหมายประจำมูลนิธิชัยพัฒนาซึ่งประกอบด้วย

5★ พระแสงขรรค์ชัยศรี มีความหมายถึง พระราชอำนาจ พระบารมีและกำลังแผ่นดินที่จะฟันฝ่าให้เกิดการดำเนินการต่างๆอันเป็นผลไปสู่ความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักร

8★ ธงกระบี่ธุช เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู้ เพื่อป้องกันอาณาประชาราษฎร์และพระราชอาณาจักรให้พ้นภยันตรายทั้งปวงและประสบความสำเร็จในการต่อสู้นั้น

7★ ดอกบัว มีความหมายถึง ศักดิ์ศรี ความสงบร่มเย็น ความเจริญงอกงามและความบริสุทธิ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารและบรรดาทรัพยากรทั้งปวง อันจะนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีและความสงบสันติของประชาชนโดยทั่วหน้ากัน

6★ สังข์ มีความหมายถึง น้ำที่จะสร้างความชุ่มชื้น ชโลมแผ่นดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุข

โครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงใช้แนวเทียบความคิดแบบโบราณคือ โครงการพระดาบส ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมบุคคลที่ขาดโอกาสเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาให้มีวิชาชีพพระองค์มีแนวพระราชดำริว่าในนิทานไทยเรื่องต่างๆ พระดาบสเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา และจำศีลภาวนาอยู่ในป่า ผู้ที่ต้องการได้รับความรู้ต้องดั้นด้นไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ปรนนิบัติรับใช้พระดาบสโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ดังนั้นพระดาบสจึงเป็นสัญลักษณ์ของการศึกษารูปแบบหนึ่ง จากแนวพระราชดำริดังกล่าว โครงการพระดาบสเพื่ออบรมช่างไฟฟ้า วิทยุ จึงเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ ต่อมาเปิดหลักสูตรช่างยนตร์ ช่างเครื่อง และคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์ให้จัดโครงการพระดาบสเป็นรูปแบบของการศึกษานอกระบบและเป็นงานสาธารณกุศลอย่างแท้จริง เพื่อถ่ายทอดความรู้วิชาชีพแก่ผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่ใช่รูปแบบของงานธุรกิจ โครงการพระดาบสเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงพระอัจฉริยภาพในการออกแบบดำเนินงานของโครงการที่สร้างอาชีพแก่ประชาชนผู้ด้วยโอกาส

ในวันที่ ๑มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๒ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนเป็น โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส สังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิพระดาบส ซึ่งได้จดทะเบียนตามกฎหมายเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิกิติมศักดิ์ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิกิตติมศักดิ์ ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ โครงารพระดาบสซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างสูงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขยายงานออกไปเป็น โครงการลูกพระดาบส และ โครงการพระดาบสสัญจรด้วย

2

แนวพระราชดำริที่มีต่อการออกแบบตราสัญลักษณ์ของสมาคมราชประชาสมาสัย มูลนิธิชัยพัฒนา แสดงถึงพระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในเรื่องศิลปะงานออกแบบพระองค์ทรงสื่อความหมายของเรื่องราวและเนื้อหาอันเป็นแก่นที่แท้จริงขององค์กร สร้างเป็นภาพสัญลักษณ์ทีมีคุณค่าทางความงาม ด้วยเทคนิควิธีการทางศิลปะที่สัมพันธ์กัน


บทความจากคอลัมน์ “Artroom ” เขียนโดย ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 125 ประจำเดือนมกราคม 2560


You Might Also Like...