ภาพอาคารทรงกล่อง ดีไซน์เฉียบคม เส้นสายชัดเจนและตรงไปตรงมา แต่ทว่าภายในกลับซ่อนลูกเล่นและดีเทลที่น่าค้นหา จะว่าไปแล้วผลงานเหล่านั้นก็ไม่แตกต่างกับตัวตน ของคุณเป้-จีรเวช หงสกุล ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ IDIN Architects งานสถาปัตยกรรมที่ล้วนสะท้อนแนวความคิดของผู้ชายคนนี้ได้เป็นอย่างดี
สถาปัตยกรรมภาพแรกที่รู้จัก
สมัยเด็กผมไม่ทราบว่าอาชีพสถาปนิกทำอะไร เพราะรู้จักแต่พี่ๆ ซูโม่สำอาง จนเมื่ออยู่ ม.2 ผมไปอ่านหนังสือในห้องสมุด จำได้ว่าเป็นหนังสือต่วยตูน เปิดไปเจอภาพบ้านหลังใหญ่สร้างอยู่บนธารน้ำตก (Falling Water House) เป็นผลงานของ Frank Lloyd Wright ในนั้นเขียนไว้ว่าเป็นบ้านแปลก ภาพนั้นทำผมอึ้งและแปลกใจมากว่ามันมีบ้านแบบนี้ด้วยเหรอ คือแบบมันเท่มากจนติดตรึงใจเรามาตลอด ไปถามครูแนะแนวว่าถ้าอยากสร้างบ้านแบบนี้ต้องเรียนอะไร ครูก็บอกว่าต้องเรียนสถาปนิก เราก็มุ่งมั่นตั้งแต่นั้นมาว่าเราจะเบนมาสายนี้โดยเฉพาะ จนสอบเข้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ได้สำเร็จ
ผลรวมของรูปแบบและแนวความคิดที่หลากหลาย
สมัยที่เรียนอยู่ปี 2 ชีวิตตอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ช่วงเวลาตอนนั้นอินเทอร์เน็ตยังไม่ค่อยมีบทบาทในการค้นหาข้อมูล ส่วนใหญ่จะมาจากในหนังสือซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมยุคที่อยู่ในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงรุนแรงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งส่งผลต่องานสถาปัตยกรรมที่เรียกว่ายุค Modern Architecture เป็นยุคที่เริ่มใช้ระบบอุตสาหกรรม เริ่มมีการใช้เหล็กกล้าและกระจกในสิ่งก่อสร้าง ยุคนั้นทำให้เกิดสถาปนิกหัวก้าวหน้าหลายคน ซึ่งค่อนข้างมีอิทธิพลทั้งในตำราเรียน รวมถึงตัวอาจารย์ที่สอนผมก็ได้รับอิทธิพลแนวคิดในช่วงนั้นมา เราเติบโตมากับวิธีคิดแบบ International Style ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลสูงกับงานของเรา ทั้งการวางสเปซ ความซื่อตรง และการคิดงานอย่างมีเหตุมีผล หลังจากเรียนจบก็ได้อิทธิพลบางส่วนมาจากโซนยุโรปและญี่ปุ่นผสมผสานจนกลายเป็นแนวทางในการออกแบบของไอดิน
คาแรกเตอร์ชัด แต่ไม่จำกัดสไตล์
IDIN ย่อมาจาก Intregrandient design Into Nature หมายถึงกลิ่นไอดินหอมๆ ในช่วงหลังฝนตก สะท้อนความเป็นงานสถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น คำนึงถึงความสัมพันธ์ของผู้ใช้งาน บริบทและสภาพภูมิอากาศของเมืองไทยเป็นปัจจัยหลัก แต่ชื่อมันก็เป็นแค่กรอบงานของเรา ถ้าใครมาถามว่าสไตล์งานของไอดินเป็นแบบไหน เราก็ไม่เคยนิยามตัวเอง เหมือนเราเป็นพ่อครัวที่ทำอาหารได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่เราใช้ปรุง แต่มันก็จะมีกลิ่นของความเป็นไอดินอยู่ เหมือนมีลายมือบางอย่างติดไปในงานทุกงาน ที่เราออกแบบ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความพยายามแต่มาจากความความชอบเล็กๆ เช่น การวางคอมโพสิชั่น สเปซ สีที่เลือกใช้ เพราะงานที่นี่คิดใหม่ทำใหม่ทุกงาน
เราค่อนข้างจะสนุกกับวิธีคิดในการวางโปรแกรม ตีความ คอนเทกซ์ ลูกเล่นต่างๆ ตัวผมเองเป็นคนที่มีคอนทราสต์ในตัวเองสูงมาก เช่นเดียวกับการทำงานในออฟฟิศ ภายนอกอาจมองเข้ามาว่าที่นี่ทำงานกันจริงจัง ดุๆ หน่อย แต่จริงๆ แล้วเราทำงานกันด้วยความสนุกเหมือนมาคาเฟ่ นั่งปล่อยมุกใส่กัน แต่งานของเราไม่ใช่ว่าจะออกแบบอะไรก็ได้ ทุกอย่างอยู่บนลอจิกที่ถูกต้อง เพราะวิชาชีพสถาปนิกเป็นวิชาชีพที่อธิบายความงามได้ด้วยตรรกะ เหมือนเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างความเป็นอาร์ตและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน ทุกอย่างที่เราดีไซน์ต้องอธิบายได้ เพราะทุกๆ องค์ประกอบต้องมีเหตุผลในการมีอยู่ ทำให้ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้เติบโตมากับการเป็นสถาปนิก
Chui Fong Tea -Cafe ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชชูปถัมถ์ ประจำปี 2559
ผลงานที่ทำให้คนรู้จักไอดินมากขึ้น
ตอนที่ใกล้เรียนจบช่วงนั้นเป็นช่วงต้มยำกุ้ง รุ่นพี่สถาปนิกตกงานเกือบทั้งประเทศ เรียนจบก็เลยออกไปทำเว็บไซต์อยู่ได้หนึ่งปีและไปอยู่อเมริกาอีกหนึ่งปี พอกลับมาก็ลองส่งผลงานไปประกวดกับเพื่อน สรุปว่าได้รางวัลชนะเลิศประกวดแบบของสมาคมสถาปนิก เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราได้เข้าไปทำงานเป็นสถาปนิกเต็มตัวที่ Plan Associates ทำอยู่ได้ 3 ปีกว่าๆ ก็เริ่มอิ่มตัว ออกมาเปิดสตูดิโอกับเพื่อนๆ แล้วก็แยกย้ายกันไปค้นหาแนวทางของตัวเอง แต่ตอนนั้นผมมีงานลูกค้าที่ต้องทำอยู่ในมือ ก็เลยตัดสินใจจดทะเบียนเป็นบริษัท ต้องบอกว่าตอนนั้นไม่ได้วางแผนอะไรกับชีวิต เพราะว่าสกิลการแมนเนจเราค่อนข้างน้อย เป็นคนที่ไม่ชอบวางแผน ใช้ชีวิตเหมือนขนนก ลมเพลมพัดไปตกทางไหนก็อยู่ตรงนั้น รู้สึกว่าเมื่อโอกาสพัดพาเราไปทางไหนก็ทำมันให้ได้ดีที่สุด
Chui Fong Tea -Cafe ได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชชูปถัมถ์ ประจำปี 2559
เมื่อเปิดบริษัทมาได้เป็นเวลากว่า 10 ปี ไอดินเริ่มเป็นที่รู้จักของคนนอกมากขึ้น และยังมีเครื่องการันตีความสำเร็จด้วยรางวัลทั้งในและต่างประเทศอีกนับไม่ถ้วน “คนในวงการน่าจะรู้จักเราในปี 53 ที่งาน Phuket Gateway ได้รางวัลจากสมาคมฯ แต่กว่าผลงานเราจะปล่อยออกมาสู่สายตาคนนอกก็เข้าปีที่ 10 นับตั้งแต่เปิดบริษัท ปีนั้นเป็นช่วงบูมเพราะงานเสร็จพร้อมกัน 4 งาน และได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2559 และทั้ง 4 งานนี้ยังทยอยได้อีกหลายรางวัลในระดับนานาชาติตามมา” หนึ่งในนั้นเป็นโปรเจ็กต์ไร่ชาฉุยฟง Chui Fong Tea-Café ที่จังหวัดเชียงราย
โจทย์ที่เจ้าของอยากได้คือคาเฟ่ในไร่ชาทรงกล่องตั้งอยู่บนเนินเขา สามารถสร้างอิมแพ็คและดึงดูดให้คนมาเที่ยว คอนเซ็ปต์ของการออกแบบเป็นการสร้างอาคารคอนกรีตทรงกล่องฝังเข้าไปในเนินดินที่มีความสวยงามโดดเด่นโดยไม่รบกวนบริบทของไร่ชา คนที่อยู่ด้านในสามารถมองเห็นวิวทัศนียภาพของไร่ชาที่สลับซับซ้อนได้สุดลูกหูลูกตาแบบ 360 องศา ส่วนรูฟท็อปด้านบนจรดไปกับเนินเขา เมื่ออยู่ด้านบนของคาเฟ่ หากมองในระดับสายตาจะเห็นว่าอาคารถูกกลืนหายไปกับเนินขา ในส่วนของการตกแต่งเลือกใช้แมตทีเรียลหลักๆ คือเหล็ก กระจก ไม้เพื่อโชว์ผิวและล้อไปกับความเป็นธรรมชาติ
KA House
การออกแบบ Residence ก็เป็นอีกหลายๆ ผลงานที่สะท้อนลายมือของ IDIN ได้อย่างชัดเจน “บ้านไม่ได้สร้างกันบ่อยๆ บางคนเก็บเงินมาทั้งชีวิตเพื่อหวังว่าบ้านหลังนี้จะเป็นมาสเตอร์พีซของเขา ทุกคนอยากได้ความพิเศษ เราเปรียบตัวเองเหมือนเป็นห้องเสื้อตัดชุดหนึ่งชุดให้ลูกค้า ดึงคาแรกเตอร์ความเป็นตัวเขาออกมา ต้องวัดตัว ขนาดแขน ขาต้องเป๊ะ ดูว่าถนัดซ้ายหรือขวา เพื่อให้เขาสวมใส่แล้วสบายที่สุด เพราะเรามีความเชื่อว่าคาแรกเตอร์มันสำคัญกว่าความงามนะ ในส่วนของงานโรงแรมเหมือนเสื้อยี่ห้อตามห้าง พยายามออกแบบให้กลางๆ ไว้ แต่สิ่งสำคัญก็คือการสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับคนที่ได้ใช้งาน
SIRI House ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ AMERICAN ARCHITECTURE PRIZE 2017 in Architectural Design
สำหรับผลงานที่น่าสนใจอีกหนึ่งโครงการ คือ ผลงาน Residential Building ที่ชื่อว่า SIRI HOUSE เป็นการรีโนเวตอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ให้เป็นบ้านพักและโชว์รูมกิจการของครอบครัวจิวเวลรี ซึ่งได้รางวัลชนะเลิศ AMERICAN ARCHITECTURE PRIZE 2017 in Architectural Design และรางวัลสถาปัตยกรรมที่สมควรเผยแพร่ของสมาคมสถาปนิกสยามฯ ประเภทโครงการปรับปรุงอาคารเดิม หัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้คือการสร้างปฏิสัมพันธ์ของทุกคนในครอบครัว เปิดรับธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในบ้านด้วยการจัดสรรพื้นที่กลางอาคารเพื่อเจาะช่องสำหรับทำเป็นคอร์ทต้นไม้ สิ่งที่ได้มาคือคุณภาพของแสง และแก้ปัญหาความอุดอู้ของตึกแถวได้อย่างสมบูรณ์
สถาปัตยกรรม บทสรุปของ Culture
สิ่งที่เรารู้สึกและสัมผัสได้จากผลงานของไอดิน คือการใส่ใจ ลงลึกในทุกรายละเอียดเพื่อสร้างสเปซที่พอดี คำนึงถึงธรรมชาติทั้งของผู้ใช้งานและธรรมชาติโดยรอบตัว สะท้อนออกมาในรูปแบบที่เรียบง่าย แต่สามารถใช้งานได้อย่างตอบโจทย์และมีความสุข
“สถาปัตยกรรมที่ดีในมุมของผม คือการสร้างสเปซที่ทำให้คนใช้งานแล้วรู้สึกมีความสุข สถาปัตยกรรมที่ดีจะสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนๆ หนึ่งได้เลยนะ แล้วก็ไม่ได้มีผลแค่สเกลบ้าน แต่ยังสามารถขยายไปสู่สเกลเมือง พอมันเปลี่ยนหนึ่งคนได้แล้ว มันเปลี่ยนคนอีกหลายๆ คนได้ และใหญ่ขึ้นจนสามารถเปลี่ยนเป็นระดับมหภาคนั่นก็คือเมืองและคุณภาพชีวิตที่ดี ผมคิดว่างานสถาปัตยกรรมคือบทสรุปของ Culture ครับ ”
Text : Butsakon Numcharoen
Photo : Watjanon Paka / IDIN Architects