Idea Kitchen & Home

รวมเทคนิคเล็กๆ สำหรับมือใหม่ที่อยากทำครัว


รวมเทคนิคเล็กๆ สำหรับมือใหม่ที่อยากทำครัว

การจะออกแบบครัวที่ดีต้องตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างครบถ้วน นอกจากดีไซน์สวยแล้วเรื่องของฟังก์ชันใช้งานก็ต้องอำนวยความสะดวกและมีความคล่องตัว รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ก็ควรถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ หากใครวางแผนต่อเติมห้องครัวแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร เรารวบรวมเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเป็นตัวช่วยให้คุณได้ห้องครัวที่สวยงามและใช้งานได้อย่างคุ้มค่า

ดูจากไลฟ์สไตล์ตัวเองและสมาชิกในบ้าน ว่าอยากได้ครัวแบบไหน

เริ่มจากการถามตัวเองก่อนว่าชอบทำอาหารหรือไม่ หรือคนในครอบครัวมีใครชอบทำอาหาร ถ้าชอบการทำอาหารและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องครัว น่าจะตอบคำถามได้แล้วว่าควรเลือกเป็นครัวไทย โครงสร้างแข็งแรง สามารถทำอาหารหนักได้ แต่ถ้าทำอาหารน้อยก็เน้นเป็นครัวโชว์เพื่อความสวยงาม จากนั้นให้เริ่มหารูปแบบการตกแต่งครัวโดยหาจากนิตยสาร เว็บไซต์ หรือศึกษาจากยูทูบเพื่อดูสไตล์ครัวที่ชอบ

หาสไตล์ครัวที่ถูกใจ

ลองถามความคิดเห็นจากสมาชิกในครอบครัวว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในการทำครัวใหม่ และอยากได้ชุดครัวแบบไหน เพื่อให้ได้ข้อมูลหลากหลายมากยิ่งขึ้น แล้วช่วยกันหารูปแบบครัวที่ชอบ อาจจะบันทึกภาพเก็บไว้หลายๆ แบบ แล้วตัดสินใจเลือกสไตล์ที่ชอบมากที่สุด

เลือกรูปแบบชุดครัว

ชุดครัวมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบตั้งแต่ครัวบิลต์อิน ครัวสำเร็จรูป ครัวปูน ตลอดจนครัวแบรนด์ยี่ห้อดังๆ เมื่อเรากำหนดหรือได้สไตล์ครัวที่ชอบแล้ว จากนั้นต้องตัดสินใจว่าจะใช้ชุดครัวแบบไหน ซึ่งรูปแบบของชุดครัวแต่ละแบบก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ส่วนดีไซน์หรือสไตล์ก็สามารถออกแบบได้ตามที่เราต้องการ

ครัวปูน ทำโดยวิธีหล่อปูนตามแบบโครงสร้างที่ออกแบบไว้ ทนทาน เหมาะสำหรับครัวที่ทำอาหารหนัก

ครัวบิลต์อิน ครัวที่จัดวางให้เข้ากับพื้นที่ได้อย่างสวยงามและลงตัว ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ สามารถออกแบบพื้นที่ใช้สอยได้ตามต้องการ

ครัวสำเร็จรูป เป็นครัวที่สามารถเลือกต่อเป็นชุดครัวได้ครบ มีฟังก์ชันให้ใช้พร้อม ทั้งตู้เคาน์เตอร์ อ่างล้างจาน เตา ฯลฯ ซึ่งจะออกแบบมาให้พอดีกับพื้นที่ครัว

วัดความสูงของคนในบ้าน

ระยะต่างๆ ในครัวที่ใช้เป็นระยะมาตรฐานเกิดจากการสำรวจพฤติกรรมการใช้งานที่สอดคล้องกับขนาดสัดส่วนร่างกายของคนเรา อาจจะวัดส่วนสูงของคนในบ้านก่อนที่จะก่อเคาน์เตอร์ หรือตู้แขวนควรสูงจากเคาน์เตอร์เท่าไร โดยหาระยะที่พอดีกับร่างกายและการใช้งานต่างๆ ของคุณเอง สังเกตว่ารู้สึกสบายกับระยะเหล่านั้นหรือไม่ แล้ววัดระยะและจดบันทึกเป็นมาตรฐานส่วนตัวได้เลย

วางแปลนคร่าวๆ เพื่อกำหนดพื้นที่ใช้สอย

ดูจากเนื้อที่และขนาดที่ต้องการทำครัวแล้วกำหนดแปลนคร่าวๆ โดยยึดหลักในการใช้งานแบบสามเหลี่ยม ซึ่งต้องเชื่อมโยงการใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากส่วนเตรียม ส่วนปรุง และส่วนล้าง และต้องคำนึงเรื่องพื้นที่สัญจรภายในครัวให้เหมาะสมด้วย

           สำรวจจำนวนข้าวของเครื่องใช้ในครัว

ครัวเป็นห้องที่เต็มไปด้วยภาชนะและของใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาชนะบนโต๊ะอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำอาหาร เครื่องปรุง วัตถุดิบ และอื่นๆ อีกมากมาย ดังนั้นเพื่อให้การจัดเก็บเป็นระเบียบ ควรเช็กจำนวนของใช้ว่ามีมากน้อยขนาดไหน เพื่อออกแบบพื้นที่เก็บของให้เพียงพอกับภาชนะเหล่านั้น


You Might Also Like...