เมื่อบ้านของคุณกิฟต์-รักกิจ ควรหาเวช และคุณเบียร์-พิชญา ศรีระพงษ์ ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เพื่ออยู่อาศัยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนโฮมสตูดิโอไว้สำหรับทำงาน (ศิลปะ) ของทั้งคู่อีกด้วย พื้นที่ในบ้านจึงถูกจัดสรรไว้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะทำงานหรือพักผ่อนทุกอย่างก็ดูเข้าที เป็นการออกแบบและตกแต่งที่ไม่ว่าดูยังไงก็มีความสุขซ่อนตัวอยู่ในทุกพื้นที่ของบ้านเลยจริงๆ รวมถึงห้องครัวมินิมอลและมุมทานอาหารที่ทั้งเรียบง่ายและดูอบอุ่นไว้รองรับการใช้งานอีกด้วย
ออกแบบพื้นที่ให้ต่อเนื่องกัน โดยเลือกใช้กระจกเป็นส่วนใหญ่ ทำให้บ้านดูโปร่ง โล่ง
ก่อนที่คุณเบียร์จะออกมาเปิดประตูบ้านและกล่าวทักทาย เราสังเกตเห็นความแตกต่างของบ้านหลังนี้กับทาวน์โฮมที่เคยพบเห็นทั่วไปตามหมู่บ้านจัดสรร ด้วยดีไซน์ที่เน้นความโปร่ง โล่ง จึงเลือกใช้กระจกเป็นส่วนใหญ่ เมื่อมองเข้าไปภาพที่เห็นคือคุณกิฟต์กำลังนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะตัวยาวกลางบ้าน พร้อมกับอุปกรณ์ศิลปะมากมาย เราเดินตามคุณเบียร์เข้ามาด้านใน ผ่านชั้น 1 และชั้นลอย พื้นที่ที่ทั้งคู่ใช้สำหรับทำงานศิลปะ ก่อนจะขึ้นมาชั้น 2 ที่เป็นส่วนของการพักผ่อน
“เดิมบ้านแม่ของผมอยู่บางนา เลยพยายามมองหาบ้านที่อยู่ใกล้กับละแวกบ้านเดิม ส่วนใหญ่ที่ไปดูบ้านทาวน์โฮมเขาจะแบ่งห้องมาให้เรียบร้อยแล้ว เรารู้สึกว่ามันมีความเป็นบ้านมากเกินไป แต่โจทย์ที่ต้องการคือผมอยากได้โฮมสตูดิโอ ไม่ใช่ไว้เพื่ออยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว เพราะผมทำงานศิลปะเกี่ยวกับสตรีทอาร์ต ส่วนเบียร์เป็นจิวเวลรีดีไซเนอร์ เลยคิดว่าถ้ามีบ้านที่มีพื้นที่สำหรับให้เราทำงานได้ด้วยก็คงจะดี” คุณกิฟต์บอกกับเราถึงโจทย์ที่ตั้งไว้สำหรับบ้านหลังใหม่
คุณเบียร์-คุณกิฟต์
พื้นที่เอาต์ดอร์กลางบ้านเป็นมุมนั่งเล่น และสามารถเปิดรับลมให้อากาศถ่ายเทสะดวก
หลังจากที่ไปดูบ้านตามโครงการต่างๆ แต่ยังไม่มีที่ไหนถูกใจ จนกระทั่งมาเจอกับบ้านหลังนี้ “บังเอิญตอนนั้นผมเข้าไปดูเว็บไซต์ Think of Living แล้วเขารีวิวบ้านหลังนี้พอดี ผมเห็นดีไซน์การออกแบบแล้วชอบ อีกทั้งยังอยู่ใกล้กับบ้านแม่ด้วย เลยลองขับรถมาดูที่โครงการซึ่งมีทั้งหมดแค่ 4 หลัง บ้านหลังมุมซ้าย-ขวา มีคนจองไปแล้ว เหลือแค่ 2 หลังตรงกลาง เลยตัดสินใจจองตอนนั้นเลย เพราะมีคนที่เขามาดูเหมือนกัน แต่ว่าเขากำลังตัดสินใจอยู่ ถ้าเราจองก่อนก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะเอาบ้านหลังไหน ลองเดินๆ ดู คิดว่าหลังนี้น่าจะโอเคกว่า หลังบ้านเป็นต้นไม้ หน้าบ้านเป็นโรงงานดีไซน์เรียบๆ ไม่ได้เป็นบ้านคนด้วย
ส่วนของห้องนั่งเล่นด้านหลัง มองออกไปเห็นต้นไม้สีเขียวสบายตา
“ตอนแรกเขาโทร.มาบอกว่ามีโครงการบ้านอยู่ใกล้กับบ้านที่เขาอยู่ เดี๋ยวขับรถไปดูก่อนแล้วเราค่อยมาดูพร้อมกันอีกที หลังจากวางสายไปประมาณครึ่งชั่วโมงพี่กิฟต์โทร.กลับมาบอกว่า จองไปแล้วนะ(หัวเราะ) พอพี่เขาจองอีกวันเราก็เข้ามาดู รู้สึกชอบเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะเบียร์ชอบบ้านสไตล์นี้อยู่แล้ว ดูโล่ง โปร่ง และไม่อึดอัด อีกอย่างคือไม่ได้เป็นบ้านที่ทำสำเร็จมาแล้ว ทำให้เราสามารถคิดต่อเองได้ว่าตรงนี้เป็นห้องครัวนะ ส่วนนี้ไว้นั่งทำงาน ข้างบนเป็นห้องนอน ตรงนั้นเป็นห้องนั่งเล่นหรือมุมทานข้าว” คุณเบียร์เล่าให้ฟังเพิ่มเติม
ด้วยความตั้งใจของคนออกแบบ ที่อยากให้ผู้อยู่อาศัยสามารถจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านได้เองตามความเหมาะในแบบที่ตัวเองต้องการได้เต็มที่ เป็นบ้านทาวน์โฮม 3 ชั้นครึ่ง ดีไซน์แบบเปิดโล่งแต่เชื่อมโยงถึงกัน เน้นพื้นที่ใช้สอย ไม่ปิดทึบหรือแบ่งเป็นห้องให้รู้สึกอึดอัด ด้านหน้าและด้านหลังของตัวบ้านเลือกใช้เป็นกระจก สามารถเปิดรับลมได้ ทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
มุมนั่งเล่นเอาต์ดอร์ เป็นผลงานการออกแบบของคุณกิฟต์
ผลงานศิลปะ Eden Deer ที่ผลิตจากไฟนีออนหลากสี ช่วยเพิ่มสีสันให้กับมุมทานข้าว
“เราตกแต่งไปอยู่ไป บ้านทั้งหมด 3 ชั้นครึ่ง มีชั้นใต้ดินสำหรับจอดรถ พื้นที่สำหรับทำงานเยอะมาก เพราะบ้านเก่าเวลาทำงานที่ไม่พอ บางครั้งต้องออกไปทำตรงถนนหน้าบ้าน เราแบ่งบ้านออกเป็น 2 ฟังก์ชันหลักๆ ชั้น 1 เหมือนเป็นออฟฟิศไว้คุยงานหรือให้ลูกค้าเข้ามาเลือกงาน ออกแบบเป็นกึ่งสตูดิโอกับแกลเลอรี ชั้นลอยไว้นั่งทำงานเพนต์ งานที่ไม่ต้องใช้สเปรย์พ่นหนักๆ”
คุณเบียร์ช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า “พี่กิฟต์จะมีงานศิลปะค่อนข้างเยอะ ทั้งของตัวเองและของสะสม เดิมทีชั้นลอยจะมีส่วนของแพนทรีไว้เตรียมอาหาร แต่เราเปลี่ยนแล้วดีไซน์เป็นที่เก็บงาน ทำรางให้สามารถดึงออกมาได้ ก่อนหน้านี้ทุกชั้นจะมีห้องน้ำ แต่ว่าเราอยู่กันแค่ 2 คน รู้สึกว่าเยอะไปเลยทุบห้องน้ำชั้นลอยทิ้ง ทำเป็นห้องซักผ้าแทน เหมือนเราปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับที่เราต้องการใช้งาน
“จริงๆ เราแอบแบ่งโทนสีเอาไว้ด้วย อย่างส่วนที่ทำงานจะเลือกเฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้ม ใช้โทนสีอย่างดำกับเทาเป็นหลัก มีสีขาวสลับบ้างเล็กน้อย ให้ความรู้สึกดูขรึมๆ เวลานั่งทำงาน แต่พอขึ้นมาด้านบนในส่วนลิฟวิง เราจะใช้โทนสีขาวเป็นหลัก เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นไม้สีอ่อน สบายตาดูอบอุ่นๆ”
ในส่วนของชั้น 2 เป็นพื้นที่ส่วนตัวสำหรับพักผ่อน มีห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อกับห้องครัว และมุมทานข้าว มีส่วนของพื้นที่เอาต์ดอร์อยู่บริเวณกลางห้อง “สำหรับห้องครัวถือเป็นหัวใจของบ้านเหมือนกัน เพราะว่าเบียร์เป็นคนชอบทำอาหาร พื้นที่เดิมเป็นผนังสีขาวเรียบๆ ไม่มีอะไรนอกจากระบบท่อน้ำ โจทย์ที่ตั้งไว้ตอนแรกคืออยากบิลต์อินเครื่องซักผ้าเข้าไปในชุดครัวด้วย แต่ทำไม่ได้เพราะพื้นที่มีจำกัด ถ้าจะลดขนาดของเตาคงไม่ได้ เบียร์จะทำอาหารไม่ถนัด ซึ่งก่อนจะทำชุดครัว เราซื้ออุปกรณ์อย่างเตาแก๊ส เครื่องดูดควัน ตู้เย็น เตาอบ มาก่อนแล้ว ทำให้สามารถคำนวณขนาดพื้นที่ได้ แต่ปัญหาคือเราต้องออกแบบชุดครัวให้พอดีกับอุปกรณ์เหล่านี้ หลังจากทุกอย่างลงตัวก็เหลือในส่วนของผม คือโซนล้างจาน (หัวเราะ) เราก็เลือกขนาดของซิงก์ให้ใหญ่พอดีกับพื้นที่ที่เหลือแค่นั้นเองครับ”
มุมนั่งทานข้าวเชื่อมต่อส่วนของห้องครัว และห้องนั่งเล่นที่อยู่อีกด้านของตัวบ้าน
ชุดครัวเน้นความเรียบง่ายแต่ฟังก์ชันครบ เลือกใช้โทนสีขาวกับงานไม้ดูอบอุ่น
สำหรับการออกแบบห้องครัวนั้น คุณกิฟต์บอกกับเราว่า นำแนวคิดเหมือนเรากำลังเล่นโมดูลาร์ สลับฟังก์ชันต่างๆ ไปมา เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่ที่มีอยู่ได้อย่างคุ้มค่าและใช้งานได้สะดวกคล่องตัว เพิ่มการจัดเก็บด้วยการออกแบบตู้เก็บของด้านบนเหนือเคาน์เตอร์ และลิ้นชักสำหรับจดเก็บของให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงแม้ว่าชุดครัวจะมีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ฟังก์ชันการใช้งานครบครัน
ที่วาง iPad เหนือซิงก์ จะเปิดเพลงหรือดูหนังระหว่างเข้าครัวก็เพลินดีนะ
เลือกทอปเคาน์เตอร์เป็นหินสังเคราะห์สีขาวกับหน้าบานไม้ดูอบอุ่น
มาถึงตรงนี้คนที่จะบอกเล่าถึงส่วนห้องครัวได้ดีคงจะไม่ใช่คุณกิฟต์อย่างแน่นอน “เบียร์กับพี่กิฟต์ช่วยกันออกแบบห้องครัวคร่าวๆ ว่าอยากได้ประมาณไหน สไตล์ที่เราชอบคือให้ดูมินิมอล สะอาดตา เน้นฟังก์ชันใช้งานเป็นหลัก ซ่อนเตาแก๊สกับถังขยะให้ดูเรียบร้อย โทนสีที่เลือกใช้คือสีขาวสลับกับงานไม้ เป็นชุดครัวของทาง SB แต่เราออกแบบและเลือกวัสดุเองว่าอยากได้แบบไหน หลังจากติดตั้งครัวเสร็จ เราก็ไปซื้ออุปกรณ์สำเร็จมาติดเพิ่มเติม อย่างที่ราวแขวนอุปกรณ์ ที่แขวนผ้า หรือที่วาง iPad ไปซื้อรถเข็นสำหรับใส่ของมาเพิ่ม เพราะพื้นที่ตรงเคาน์เตอร์ไม่พอ ดูน่ารักดี และยังหยิบของใช้ได้สะดวก”
พื้นที่วางของไม่เพียงพอ มีรถเข็นไว้สักคันสำหรับใส่ของที่ใช้เป็นประจำ
ติดที่แขวนอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้หยิบจับง่ายใช้งานสะดวก
ไม่เพียงแต่ชอบทำอาหารเพียงอย่างเดียว แต่คุณเบียร์ยังชอบสะสมอุปกรณ์ต่างๆ อีกด้วย ห้องเก็บของใต้บันไดที่จะเดินขึ้นสู่ชั้น 3 ในส่วนของห้องนอน จึงถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดเก็บเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ทำครัว รวมไปถึงสต็อกวัตถุดิบต่างๆ จัดวางไว้บนชั้นอย่างเป็นระเบียบ “เราชอบซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆ อย่าให้มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ เลยนะ เห็นแล้วเป็นต้องซื้อ อย่างบางทีเครื่องปั่นอันเล็กไว้ทำซุปนะ เครื่องปั่นตัวใหญ่ไว้ทำสมูทตี เพราะปั่นละเอียดกว่า เวลาไปทำงานต่างประเทศจะชอบไปเดินตามห้างสรรพสินค้า ซื้ออุปกรณ์เครื่องครัว บางทีเห็นเครื่องแยกไข่ เครื่องทำเกี๊ยวซ่า เครื่องเปิดนั่นนี่ อยากได้ไปหมด บางอย่างซื้อมาใช้ไปครั้งเดียวก็มี”
ซ่อนถังแก๊สไว้ใต้เคาน์เตอร์ ทำให้ห้องครัวไม่รกดูสบายตา
เมื่อคุณเบียร์ชอบทำอาหาร คนช่วยชิมจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคุณกิฟต์นั่นเอง “ก่อนหน้านี้เบียร์ทำน้ำหนักผมขึ้นมาเป็นสิบโล คือเขาชอบลองทำอาหารใหม่ๆ ทั้งอาหารไทย จีน ฝรั่ง ทำทุกอย่างที่อยากจะทำ แล้วเราอยู่กัน 2 คน หลังๆ คือต้องตั้งโจทย์ของการทำอาหารว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นผัก ผลไม้ให้มากขึ้น (หัวเราะ) ส่วนใหญ่เราไม่ค่อยออกไปไหนกันเท่าไร รู้สึกมีความสุขแล้วที่ได้อยู่ในบ้าน ตื่นมาลงไปทำงาน เหนื่อยก็พัก ชอบความรู้สึกตรงที่เวลาเรานั่งดูทีวีอยู่ตรงนี้ มองเห็นเบียร์ทำกับข้าวอยู่ตรงนั้น ด้วยการออกแบบบ้านที่เน้นกระจกเป็นหลัก ทำให้เรามองเห็นกันตลอดเวลา ถ้าเบียร์อยากให้ช่วยอะไร แค่ชูไม้ชูมือผมก็เดินไปช่วยแล้วครับ
ลิ้นชักใต้เคาน์เตอร์ ช่วยเพิ่มฟังก์ชันการจัดเก็บให้กับชุดครัว
“เบียร์มองว่าห้องครัวเป็นส่วนสำคัญของบ้านนะ เพราะเราทั้งสองคนทำงานอยู่กับบ้านตลอดเวลา ทำอาหารเองเป็นหลัก สะอาด ปลอดภัย แถมยังควบคุมปริมาณและคุณภาพได้ด้วย อย่างก่อนหน้านี้เบียร์ทำพี่กิฟต์น้ำหนักขึ้น ตอนนี้เลยต้องทำอาหารที่ควบคุมน้ำหนักให้พี่เขาแทน มันเป็นความสุขที่เรียบง่าย ไม่ยุ่งยากในบ้านของเราเอง ตื่นมาทำงาน เหนื่อยก็ขึ้นมาพัก ทำกับข้าวกินกัน ถึงเวลาก็เข้านอน”
บอกแล้วว่าบ้านหลังนี้ถูกออกแบบมาให้มีความสุขซ่อนตัวอยู่ในทุกพื้นที่ของบ้านเลยจริงๆ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะการจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านได้อย่างลงตัว เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของทั้งคู่ หรือเป็นเพราะว่าแค่ได้อยู่ด้วยกันอะไรๆ ก็ดูพอดีลงตัวไปเสียทุกอย่างเลย
เจ้าของบ้าน : คุณกิฟต์-รักกิจ ควรหาเวช และคุณเบียร์-พิชญา ศรีระพงษ์
พื้นที่ใช้งานครัว : 6 ตารางเมตร