รู้สึกตื่นเต้นและดีใจอย่างยิ่ง ที่รู้ว่าจะได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมบ้านของกราฟิกดีไซเนอร์สาว คุณ แปม เทิดวงส์ เพราะเราติดตามผลงานของเธอมานาน ผ่านศิลปะภาพถ่ายของสะสมสุดแนวใน Instagram เรียกได้ว่าเธอเป็นนักสะสมของวินเทจตัวยง ด้วยความที่ทำงานและคลุกคลีอยู่กับวงการออกแบบมานาน ทำให้ไม่ว่าจะหยิบจับอะไรมาถ่ายทอดผ่านสายตาให้เราได้ชมนั้น ก็ทำให้ของชิ้นนั้นดูน่าสนใจไปหมด
คุณแปม-เทิดวงส์
คุณแปม เปิดประตูต้อนรับเราเข้าบ้านอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง พร้อมกับเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมา
“โจทย์หลักที่แปมสร้างบ้านหลังนี้ขึ้นมาก็เพื่อเอาไว้เก็บของ เพราะแปมมีของสะสมเยอะมาก ทั้งที่ซื้อมาใหม่และมีบางอย่างที่ขนมาจากบ้านหลังเก่าด้วย อีกอย่างตั้งใจให้ที่นี่เป็นพื้นที่สำหรับทำงาน และคือบ้านที่เป็นสไตล์เรามากที่สุด ถ้าให้เปรียบเทียบ บ้านก็เหมือนโชว์รูมของเราเอง เวลาอยู่บ้านแล้วมีความสุข แทบจะไม่ได้ออกไปไหนเลย”
บริเวณชั้นล่างของบ้าน ตกแต่งสไตล์อินดัสเตรียลลอฟต์ และติดกระจกใสรอบด้าน
มุมห้องครัวเลือกใช้เคาน์เตอร์และผนังครัวสีดำ เพื่อให้เข้ากับมู้ดแอนด์โทนของบ้าน
บ้านเดี่ยวหลังนี้แบ่งเป็นสองชั้น
ชั้นล่าง มีกลิ่นอายสไตล์อินดัสเตรียลผสมความคลาสสิก ปูพื้นด้วยหินอ่อนลายขาวสลับดำ ให้มูดแอนด์โทนแบบเข้มๆ ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แนววินเทจร่วมสมัย ผนังห้องเลือกใช้เป็นกระจกใสรอบด้าน ตัดกับกรอบประตูเหล็กสีดำ ภายนอกบ้านปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่สีเขียวคอยบดบังสายตาและแสงแดดไม่ให้ส่องเข้ามาในบ้านมากไป ด้านหน้าเป็นพื้นที่ส่วนครัวสำหรับเตรียมอาหาร ซึ่งเชื่อมต่อกับโต๊ะทานอาหารได้อย่างลงตัว
สร้างความเพลินตาเพลินใจให้ห้องด้วยมุมต้นไม้สีเขียวในกระถางใบเล็ก
ตู้เย็นสมัยโบราณสีขาวที่เอาไว้ใช้เก็บน้ำแข็ง คุณแปมนำมาใช้สำหรับเก็บภาชนะจำพวกแก้วน้ำต่างๆ
บรรยากาศในบ้านถูกแต่งเติมด้วยมุมต้นไม้เล็กๆ และของสะสมโบราณมากมาย คุณแปมเล่าให้เราฟังว่า
จุดเริ่มต้นของการชอบสะสมเริ่มจากสิบปีที่แล้วได้สะสมแสตมป์วินเทจซึ่งเป็นแสตมป์ของเชกกับรัสเซียที่เป็นแรงบันดาลใจ ทำให้คุณแปมตั้งใจออกเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ในหลายประเทศ บวกกับสายงานด้านดีไซน์ ทำให้มีโอกาสได้ซื้อและสะสมของเพิ่มขึ้น ทั้งแก้วน้ำ จานเซรามิก และภาชนะอินาเมล
“เราเป็นคนชอบอะไรที่เป็นวินเทจมากๆ ปกติผู้หญิงจะตื่นเต้นเวลาเจอกระเป๋าหรือของสวยงาม แต่เราจะตื่นเต้นเวลาเห็นของวินเทจ คือเห็นแล้วมีความสุข อยากได้มาเก็บไว้ ส่วนมากจะได้มาตอนไปเที่ยว เช่น อเมริกาอย่างเมืองซานฟรานซิสโกบ้าง บางทีก็ให้เพื่อนส่งมาให้ทางเรือจากต่างประเทศบ้าง เวลาไปไหนแล้วเจออะไรที่ชอบก็ซื้อมาไว้เยอะมาก หลายครั้งก็คิดว่าตู้เก็บของจะเต็มแล้วนะ (หัวเราะ) อย่างชุดแก้วโบราณชุดนี้ชอบมาก ได้มาจากร้านแถวจตุจักร อายุกว่าร้อยกว่าปี แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีที่เก็บอยู่ดี”
ชุดแก้วน้ำโบราณอายุร่วมร้อยปี
ชั้นสอง เป็นพื้นที่ห้องทำงานของคุณแปม ออกแบบให้ดูโปร่ง สบาย ผนังห้องเป็นสีเทาแบบทำมือ ซึ่งเป็นสีที่คุณแปมชื่นชอบ รอบห้องติดหน้าต่างกระจกซึ่งสามารถมองออกไปชมวิวด้านนอกได้ ผนังด้านหลังโต๊ะทำงานบิลต์อินด้วยตู้หนังสือขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยหนังสือการ์ตูน สมุดบันทึกความทรงจำเมื่อครั้งเยาว์วัย รวมถึงกล้องโพลารอยด์ และตุ๊กตาเซลลูลอยด์ตัวโปรด ด้านล่างตู้หนังสือมีลิ้นชักสำหรับเก็บของเป็นฟังก์ชันรอง เรียกได้ว่าห้องนี้เหมือนเป็นห้องที่เชื่อมโยงอดีตกับปัจจุบันไว้ด้วยกัน
“เราชอบห้องนี้ที่สุดเพราะใช้งานบ่อย และเงียบเหมาะสำหรับนั่งทำงาน ของหลายอย่างในห้องก็มีเรื่องราวในตัวเอง อย่างจักรยานคันนี้ คือตอนนั้นเราอยากได้จักรยานวินเทจสีดำ แต่ล้อเป็นสีน้ำตาล ก็ค่อยๆ ให้เพื่อนหาอะไหล่มาให้ กว่าจะครบก็ใช้เวลาประมาณสองปี ถึงจะออกมาเป็นคันที่สมบูรณ์”
มุมโซฟาสีขาวสำหรับนั่งเล่น
ถัดมาจากห้องทำงานเป็นห้องนั่งเล่น มีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง บริเวณกลางห้องมีโซฟาสีขาวสำหรับเอาไว้นั่งเล่น บรรยากาศในห้องคุมโทนให้ดูวินเทจสไตล์ยุโรป อบอุ่นด้วยผนังสีครีมอ่อนแต่ไม่ดูหวานจนเกินไป เบรกให้ห้องดูมีมิติด้วยตู้บิลต์อินสีดำขนาดใหญ่สำหรับโชว์ของสะสม ซึ่งภายในเต็มไปด้วยกล้องฟิล์มโบราณหลายสิบตัว แต่ละตัวยังคงสภาพเหมือนใหม่ เพิ่งผ่านการใช้งานมาแค่ไม่กี่ครั้ง และยังใช้งานได้ปกติ รวมถึงของสะสมหายาก เช่น พิมพ์ดีดเก่าแก่ที่อายุยาวนานหลายร้อยปี และกระเป๋าเดินทางรูปทรงคลาสสิกหลายสิบใบที่ถูกนำมาโชว์ภายในตู้นี้
ตุ๊กตาเซลลูลอยด์ของเล่นสมัยวัยเด็ก เป็นอีกหนึ่งคอลเล็กชันที่คุณแปมโปรดปราน
กล้องฟิล์มโบราณหลายสิบตัวที่ถูกจับวางไว้ในตู้เหล็กสีดำ
เรียกได้ว่าบ้านหลังนี้สมกับเป็นบ้านของนักออกแบบจริงๆ เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็จะเจอแต่ของเก๋ๆ ซึ่งทุกชิ้นล้วนสะท้อนตัวตน และความหลงใหลสไตล์วินเทจของคุณแปมได้เป็นอย่างดี เสมือนที่นี่เป็นโชว์รูมของวินเทจอย่างที่ใจต้องการ และยังทำให้เราได้รู้ว่าบางครั้งความสุขก็แอบซ่อนตัวอยู่ในบ้านของเรานี่เอง
บทความจากคอลัมน์ “Decollector” นิตยสาร @Kitchen ฉบับที่ 132 ประจำเดือนสิงหาคม 2560